องค์ประกอบของสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน

องค์ประกอบทางชีววิทยา (biological factor) ได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารและภาวะโภชนาการ การผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ถ้าต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนเกี่ยวกับความเจริญเติบโตมากเกินไป จะทำให้ร่างกายใหญ่โตมากกว่าปกติ ถ้าผลิตน้อยเกินไปจะทำให้ร่างกายแคระแกร็น ถ้าต่อมไธรอยด์ผลิตฮอร์โมนไธรอกซินมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคคอหอยพอก อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย ถ้าผลิตน้อยเกินไปจะทำให้เกิดเด็กแคระแกร็น ปัญญาอ่อนไม่พัฒนาการเข้าสู่วัยรุ่นถ้าขาดไธรอกซินตอนเป็นผู้ใหญ่จะทำให้มีอาการเหมือนคนทุกข์หนักเฉื่อยชา อ่อนเพลีย ชอบหลับ เป็นต้น

องค์ประกอบทางจิต (mental factor) ในสภาพจิตใจที่เป็นปกติบุคคลจะไม่กระทำผิดหรือละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม แต่ถ้าหากจิตใจถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกจะทำให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความคับข้องใจ ความต้องการอย่างรุนแรง ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่สามารถใช้วิธีการอื่นเพื่อสนองความต้องการนี้ได้ หรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ของตนเองไม่ทำตามบรรทัดฐานก็อาจสร้างพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้นได้ สภาพความสมบูรณ์และความบกพร่องทางจิตจะขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ สถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว แม้ว่า สถานภาพทางสังคมที่มองดูว่าเป็นปกติ มีการปกครองที่เป็นระเบียบแบบแผนอาจจะมีความคับข้องใจที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานและอาจนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้

องค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม (environmental factor) สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทั้งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น อากาศร้อนทำให้คนหงุดหงิด โมโหง่าย ทำให้มีโอกาสทำร้ายผู้อื่นได้ง่าย หรือในยามค่ำคืนเป็นโอกาสให้เกิดการลักขโมยและก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ได้ง่าย เป็นต้น ส่วนสิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นปัจจัยที่เผยแพร่ตัวอย่างที่เลวหรือค่านิยมที่ไม่ดี การคบหาสมาคมกับผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนความเสื่อมโทรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น

องค์ประกอบทางค่านิยมในสังคม (social value factor) ค่านิยมในสังคม เช่น วัตถุหลักการหรือความคิดเห็นซึ่งเป็นที่พึงปรารถนา ยกย่องและพึงพอใจอยากได้ อยากจะมีหรืออยากจะเป็น ซึ่งถือว่า เป็นความสำเร็จของทุกคน เช่น เสรีภาพ ความร่ำรวย ปริญญาบัตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ รถยนต์ เป็นต้น จะทำให้บุคคลแสวงหาเพื่อให้ได้มาในสิ่งเหล่านี้ ทำให้บางคนเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนเพื่อตอบสนองความต้องการขึ้นได้ คือ

  1. การกำหนดวิถีทางปฏิบัติสู่เป้าหมายขึ้นใหม่ อาจจะเนื่องจาก เห็นว่า แนวปฏิบัติเดิมล้าสมัย ควรยกเลิกใช้ได้แล้วหรือเห็นว่า บรรทัดฐานเดิมขัดขวางการเดินไปสู่เป้าหมายของตน จึงต้องการหาวิธีการใหม่ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้น
  2. การหนีเป้าหมาย อาจจะเนื่องจากเห็นว่า เป้าหมายหรือค่านิยมของสังคมสูงเกินไป ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุหรือประสบความสำเร็จได้ ทำให้บุคคลหมดกำลังใจ และอาจจะถึงกับเจ็บใจ ผิดหวังอย่างมาก จนกระทั่งหลบหนีจากสังคม หลบหน้าผู้คน เป็นโรคจิตประสาท หรือฆ่าตัวตาย
  3. การบ่ายเบี่ยง เป็นการที่บุคคลประเมินค่าของวิถีทางที่จะสู่เป้าหมายว่า แม้จะผิดบรรทัดฐานของสังคมแต่ก็เป็นวิธีการที่ดีไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายแต่ประการใด เช่น การที่บุคคลต้องการเงินจำนวนหนึ่งจึงเพียงพอต่อการครองชีพ แต่เขาไม่สามารถทำงานให้ได้เงินเพียงพอ จึงลักขโมยเงินของคนรวย โดยที่มีความเห็นว่า เป็นการยุติธรรมแล้วคนรวยควรจะแบ่งเงินให้กับคนจนบ้าง เพราะคนรวยนั้นร่ำรวยจากการรีดไถจากคนจน และไม่เดือดร้อนจากการสูญเสียเงินไปเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น หรือการที่นักการเมือง ข้าราชการอ้างว่า ตนเองไม่ได้ ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างเองเงินมาให้เองโดยไม่ได้เรียกร้อง เป็นต้น

องค์ประกอบทางโครงสร้างของสังคม บุคคลเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เพราะโครงสร้างทางสังคมไม่เหมาะสม เช่น ไม่ได้กำหนดสถานภาพและบทบาทของสมาชิกไว้อย่างชัดเจน สถาบันสังคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการจัดระเบียบที่ดี บุคคลที่ลืมสถานภาพ และบทบาทของตน บรรทัดฐานทางสังคมล้าสมัยผู้คนไม่เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับการปฏิบัติตาม บุคคลถูกสังคมประทับตรา การขัดแย้งกันของสถานภาพ และบทบาทของบุคคลภาวการณ์ไร้บรรทัดฐานทางสังคม เป็นต้น

สาเหตุเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนมีองค์ประกอบไปด้วยทางด้านชีววิทยา พันธุกรรม ด้านจิตใจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านค่านิยมในสังคมรวมไปถึงด้านโครงสร้างทางสังคม ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนอาจมีความผิดปกติที่ต่อมไร้ท่อ มีการสร้างที่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งส่วนที่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการของวัยรุ่นทางด้านร่างกาย เมื่อจิตใจมีการกระตุ้นจากภายนอกจะทำให้เกิดอารมณ์และปฏิบัติตน โดยไม่อยู่ในบรรทัดฐานอาจสร้างพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้นไป โดยทางด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเผยแพร่ตัวอย่างที่เลวหรือค่านิยมทางสังคมที่ไม่ดีได้ ทำให้บุคคลแสวงหาในสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนเพื่อตอบสนองความต้องการขึ้นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *