ปัจจัยส่งเสริม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเบี่ยงเบน

ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน

นอกจาก องค์ประกอบของสาเหตุการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนแล้ว ยังพบว่า มีปัจจัยบางประการที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้บุคคลมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ดังนี้

  1. ผู้ควบคุมบรรทัดฐานของสังคมไม่สามารถควบคุมผู้คนให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานได้ ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
  2. บุคคลและกลุ่มคนบางคน บางกลุ่มมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย ละเมิดกฎหมายโดยไม่ถูกลงโทษ เพราะอยู่เหนือการควบคุม ผู้คนจึงหันไปพึ่งตนเองหรือใช้วิธีการของตนเองตัดสิน เช่น กรณีของมือปืนเป็นรับจ้าง เป็นต้น
  3. ความไม่เข้มงวดกวดขันในการควบคุมรักษาบรรทัดฐานทางสังคม ทำให้ผู้คนไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ พฤติกรรมเบี่ยงเบนจึงเกิดขึ้น
  4. ความวุ่นวาย และวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ทำให้ผู้คนถือโอกาสประพฤติผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคม
  5. ความล้าสมัยของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของบรรทัดฐานทางสังคม ทำให้ผู้คนเลิกเชื่อถือ และปฏิบัติหันไปยึดถือและปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่า ถูกต้องเหมาะสมกว่า เช่น การปฏิบัติตามวัฒนธรรมตะวันตก เป็นต้น ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้นได้
  6. ความล้าหลังทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัฒนธรรมทางวัตถุ เช่น รถยนต์ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้คนถูกนำมาใช้ในสังคมอย่างแพร่หลาย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องสร้างความเห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่น ทำลายคุณธรรมในจิตใจ ซึ่งนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้นได้

สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนมีปัจจัยบางประการที่สนับสนุนส่งเสริม ให้บุคคลมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากตัวบุคคลที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย ละเมิดกฎหมายเมื่อกระทำผิดจะไม่ถูกลงโทษ ผู้ควบคุมทางสังคมก็ไม่สามารถบังคับ ควบคุมให้บุคคลกลุ่มคนเหล่านั้นปฏิบัติตามบรรทัดฐานได้ การควบคุมไม่มีความเข้มงวดผู้คนจึงไม่เห็นความสำคัญไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองวุ่นวายเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ผู้คนจึงถือโอกาสประพฤติผิดไปจากบรรทัดฐาน จึงหันไปยึดถือในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า อาจปฏิบัติตามชาติตะวันตกไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ซึ่งทำลายคุณธรรมนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเบี่ยงเบน

จากความหมาย ลักษณะ สาเหตุการเกิด องค์ประกอบของสาเหตุการเกิด และปัจจัยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน สรุปได้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมเบี่ยงเบนมี 6 ประการ คือ

  1. ผู้ละเมิดบรรทัดฐาน ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลหรือบุคคลที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น แก๊งอาชญากร กลุ่มวัยรุ่น ฆาตกรโรคจิต นักการเมือง เป็นต้น
  2. บรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กฎหมาย ศาสนา จารีต ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติร่วมกันของผู้คนในสังคมที่จะล่วงละเมิดไม่ได้ การไม่ปฏิบัติหรือล่วงละเมิดสิ่งเหล่านี้ ถือว่า เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน
  3. สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ภาวะไร้บรรทัดฐานทางสังคม การเกิดวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ขึ้นในสังคม ทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมบรรทัดฐานและเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้น
  4. พฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นแบบสันติวิธีหรือก้าวร้าวรุนแรง สร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้
  5. การตัดสินใจว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือไม่ โดยปกติการถือว่า พฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือไม่ จะใช้เปรียบเทียบกับบรรทัดฐานที่มีอยู่ ผู้ตัดสินคือ คนส่วนใหญ่ หรือผู้ที่มีอำนาจในสังคมนั้นๆ
  6. ผลที่เกิดขึ้น พฤติกรรมเบี่ยงเบนเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบต่อมนุษย์และสังคมทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายหรือสร้างปัญหาให้กับมนุษย์และสังคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้น

ผู้ที่ละเมิดบรรทัดฐานอาจจะเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน โดยสถานการณ์ที่เอื้อำนวยต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน ทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมบรรทัดฐาน การตัดสินใจว่า เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือไม่จะใช้เปรียบเทียบกับบรรทัดฐานที่มีอยู่ ผลที่เกิดขึ้นจะทำลายหรือสร้างปัญหาให้กับมนุษย์และสังคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *