ประเภทและรูปแบบของพฤติกรรมเบี่ยงเบน

พฤติกรรมเบี่ยงเบนอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พฤติกรรมที่เป็นโทษต่อบุคคลและสังคม และพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม

  1. พฤติกรรมที่เป็นโทษต่อสังคม เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นแล้วคุกคามความปกติสุขของผู้คนในสังคม แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
    1. พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่มีผลต่อบุคคลและสังคมมาก ได้แก่ พฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น ขบถ ก่อการจลาจล การฆ่าคนตาย หรือที่รองลงมา คือ การประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน ลักขโมย การกระทำผิดกฎจลาจล เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ละเมิดจะถูกลงโทษรุนแรงต่อที่กำหนดไว้
    2. พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่มีผลต่อบุคคลและสังคมน้อย แต่อาจจะก่อความยุ่งยากบางประการในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและสมาชิก เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ตัดสินโดยมาตรฐานทางศีลธรรมไม่ใช่กฎหมาย เช่น การฆ่าตัวตาย รักร่วมเพศ การมีจิตแปรปรวน การทุพพลภาพทางร่างกายต่าง ๆ เป็นต้น
  2. พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคล และสังคม เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ละเมิดบรรทัดฐานของสังคม แต่ผลของการเบี่ยงเบนมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม พฤติกรรมเบี่ยงเบนแบบนี้มีไม่มากนัก เช่น นวัตกรรมของสมาชิกระดับมันสมองของสังคม ซึ่งเป็นผู้สร้างแนวทางของพฤติกรรมแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความตรึงเครียด อันเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของสังคม อันมีผลกระทบต่อเสถียรภาพหรือความมั่นคงของสังคม นวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนามนุษย์และสังคมนั้น ๆ

บุคคลผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นผู้ละเมิดบรรทัดฐาน ซึ่งไม่ประพฤติปฏิบัติร่วมกับผู้คนในสังคม ไม่คำนึงถึงกฎหมาย ศาสนา จารีต ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมบรรทัดฐาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์และทำลายมนุษย์และสังคม ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้น

รูปแบบของพฤติกรรมเบี่ยงเบน

พฤติกรรมเบี่ยงเบน แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. การกระทำเบี่ยงเบน (deviant acts) มี 3 ประเภท คือ
    1. อาชญากรรม (crimes) คือ การกระทำผิดกฎหมายอาญา เช่น ฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกายข่มขืน ปลอมแปลงหนังสือ หมิ่นประมาท เป็นต้น นอกจากนั้น อาชญากรรมยังหมายถึง การงดเว้นไม่กระทำตามกฎหมายอาญาด้วย เช่น ไม่เสียภาษี หรือไม่ยอมเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน
      • อาชญากรรมยังแบ่งออกเป็นอาชญากรรมเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้กระทำได้ อาชญากรรมเป็นนิสัยซึ่งมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ก่ออาชญากรรมอยู่เป็นประจำติดเป็นนิสัยจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา และอาชญากรรมอาชีพ ได้แก่ พวกที่เชื่อว่า อาชญากรรม คือ อาชีพหนึ่ง รายได้ในการดำรงชีวิตมาจากการประกอบอาชญากรรมทั้งสิ้น
    2. การเบี่ยงเบนทางเพศ (sexual deviance) เป็นพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เช่น รักร่วมเพศ โสเภณี และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้สืบสายโลหิตเดียวกัน กฎหมายที่ควบคุมการเบี่ยงเบนทางเพศในแต่ละสังคมจะแตกต่างกันออกไป เช่น บางสังคมอนุญาตให้มีโสเภณีหรือการแต่งงานระหว่างผู้สืบสายโลหิตเดียวกันได้แต่บางสังคมไม่อนุญาต เป็นต้น
    3. การฆ่าตัวตาย (suicide) บุคคลมีการฆ่าตัวตายหลายรูปแบบ เช่น กินยาตาย ยิงตัวตาย กระโดดน้ำตาย เผาตัวตาย คว้านท้องตัวเองตาย เป็นต้น บุคคลที่ฆ่าตัวตายนี้ส่วนใหญ่มักยังมีอาการจิตไม่ปกติ หรือเป็นโรคประสาท หรืออาจเกิดขึ้นกับคนปกติธรรมดา แต่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจหรือผิดหวังในชีวิตอย่างรุนแรง เช่น ผิดหวังในความรัก สอบตก สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เสียการพนัน ถูกฟ้องล้มละลาย ตกงาน เป็นต้น การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเศร้าสลดใจและเป็นปัญหาสังคม สร้างความเสียหายแก่สังคม ทำให้สังคมขาดความขี้ขลาด ไม่ยอมสู้ปัญหา แต่บางสังคมกลับยกย่องการฆ่าตัวตาย ปัจจุบันการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมปัญหาหนึ่งที่กำลังแพร่หลายอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ๆ ที่มีคนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น และมีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการอยู่รอดสูง มีการเอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ตัวสูง ยิ่งคนมีความสามารถสับสนชีวิตและมีความยุ่งยากในการดำรงชีวิตมากเท่าใดอัตราการฆ่าตัวตายก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
  2. นิสัยเบี่ยงเบน (deviant habits) เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากอุปนิสัยใจคอของบุคคลและความเคยชินที่สามารถขจัดออกไปได้ เช่น การดื่มสุราเป็นประจำ การติดยาเสพติด การพนัน เป็นต้น พฤติกรรมดังกล่าวถ้ากระทำเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อสังคม และกระทำนาน ๆ ครั้ง โดยไม่ติดเป็นนิสัย ก็ไม่จัดว่า เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเลน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทดลองดื่มสุรา ทดลองยาเสพติดหรือเล่นการพนันแล้วเกิดติดใจ กระทำจนเกิดเป็นนิสัยและก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนขึ้น
  3. การเบี่ยงเบนทางจิต (deviant psychology) ในสังคมปัจจุบันมีคนเป็นจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาความพิการทางจิตหรือเป็นโรคประสาทมีความตึงเครียดทางอารมณ์มาก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอย่างหนึ่งทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ใหญ่แล้วแต่วุฒิภาวะทางอารมณ์ยังไม่เจริญเต็มที่ เช่น ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง ต้องคอยแนะนำหรือการตัดสินใจของผู้อื่นอยู่เป็นประจำ บางคนมีความกลัวในบางสิ่งบางอย่างซึ่งคล้ายกับนิสัยของเด็ก เช่น กลัวการข้ามถนน กลัวหลงทาง กลัวหนู กลัวแมลงสาบ กลัวจิ้งจก ตุ๊กตา เป็นต้น ลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตทั้งสิ้น ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในสมัยนี้อาจกล่าวได้ว่า บุคคลทุกคนเป็นโรคจิตโรคประสาทไม่มากก็น้อย
  4. วัฒนธรรมเบี่ยงเบน (deviant cultural) เป็นพฤติกรรมที่กลุ่มคนยึดถือวิถีชีวิตผิดแผกออกไปจากคนทั่วไปในสังคม หรือพวกที่ต่อต้านวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ เช่น พฤติกรรมของกลุ่มฮิปปี้ พวกลุ่มลัทธิศาสนาใหม่ พวกอนาธิปไตย พวกพั้งค์ เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *