แนวคิดเกี่ยวกับการทำความเข้าใจรักร่วมเพศ และหญิงรักหญิง กลุ่มคนชายขอบ

ในยุคโลกาภิวัฒน์มนุษย์คงเจอกับปัญหาหลาย ๆ อย่างที่มารุมเร้าทั้งปัญหาของตัวเอง ปัญหาของสังคม ปัญหาของประเทศและปัญหาของโลก ภายใต้กระแสของทุนนิยม ทำให้คนหลายคนถูกเบียดขับให้เป็น “กลุ่มคนชายขอบ” หรือ “ผู้ด้อยโอกาสในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากร และการเมือง” ด้วยความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมความคิดของพวกเขา แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งพวกเขาและเธอถูกผลักไสให้เป็นคนชายขอบซ้ำซ้อนลงไปอีกในแทบทุกสังคมชายขอบ ด้วยตัวตน รสนิยมหรือพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างบุคคลกลุ่มนี้ คือ “กลุ่มรักเพศเดียวกัน” (Homosexual) ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มย่อย ๆ ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (sexual or gender identity) แตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชายรักชาย (gay or male homosexual) และกลุ่มหญิงรักหญิง (lesbian or female homosexual) รวมทั้งผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเป็นชายแต่ชอบผู้ชาย และผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเป็นหญิงแต่ชอบผู้หญิง (transgender, transsexual) หรือแม้แต่ผู้ที่ชอบแต่งตัวสลับเพศ (transvestite) หรือผู้ที่รักได้ทั้งสองเพศ (bisexual) ดังนั้น ก่อนที่จะตอบคำถามว่าใครบ้างเป็น หญิงรักหญิง ควรทำความเข้าใจคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาในเรื่องเพศของมนุษย์ (human sexuality) กันเสียก่อนว่ามีอะไรกันบ้าง ซึ่งบีดเวลล์และไดเซอร์ กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องเพศในตัวมนุษย์ต้องอาศัยองค์ประกอบในการพิจารณาหลายอย่างด้วยกัน อันได้แก่

องค์ประกอบที่หนึ่ง คือ ยีนส์ (genetic sex)

องค์ประกอบที่สอง คือ ลักษณะทางกายภาพ หรือสรีระ (anatomic sex)

จากองค์ประกอบที่หนึ่งและสอง ทำให้เราสามารถบอกได้เลยว่า ใครเป็นหญิงหรือชายนับตั้งแต่เกิด ถือเป็นสิ่งบ่งบอกเพศที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด

องค์ประกอบที่สาม คือ ความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นเพศใด หรือเพศทางความรู้สึกว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย

ปรากฏการณ์การผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิงผ่าตัดแปลงเพศเป็นชายหรือชายผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง ต่างล้วนเป็นความพยายามของบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพศทางกายภาพให้สอดคล้องกับเพศทางความรู้สึกที่ตนเองมีอยู่ โดยที่เขาและเธอเห็นว่า ตนเองเกิดมาผิดร่างจึงต้องการเปลี่ยนร่างเพื่อให้เหมาะสมกับเพศที่เขาและเธอรู้สึกหรือต้องการ

องค์ประกอบที่สี่ คือ บทบาททางเพศ เป็นเพศที่สังคมกำหนดหรือมีความคาดหวังในตัวตน ๆ หนึ่งเมื่อเกิดมา เมื่อเป็นชายพ่อแม่และสังคมก็จะคาดหวังให้เขามีลักษณะของ “ความเป็นชาย” ถ้าเป็นหญิงก็จะถูกคาดหวังให้มี “ความเป็นหญิง” โดยทั่วไปเด็กหญิงจะได้รับการสนับสนุนให้เลียนแบบ “ความเป็นหญิง” จากแม่ ส่วนเด็กชายก็จะเลียนแบบ “ความเป็นชาย” จากพ่อ มาตรฐานความประพฤติตามบทบาทชายหญิงนี้มีความแตกต่างไปตามเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและกาลเวลา สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม ที่น่าสังเกตก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะยอมรับเอาบทบาททางเพศในวัฒนธรรมของตนมาปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัว ทั้งที่มีลักษณะของการแบ่งแยกและกีดกันทางเพศ

ปรากฏการณ์ลักเพศ (transvestism) อันหมายถึง ผู้ที่ชอบแต่งตัวตรงข้ามกับเพศทางสรีระของตนเอง เช่น ผู้ชายที่แต่งตัวและสวมเสื้อผ้าเป็นหญิง เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีบทบาททางเพศ เป็นชายแต่เลียนแบบการแต่งตัวแบบหญิง ขัดแย้งกับเพศทางสรีระของตน

องค์ประกอบสุดท้าย คือ แนวโน้มทางเพศ ซึ่งในคน ๆ หนึ่งอาจมีแนวโน้มทางเพศสู่การเป็นรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน หรือรักทั้งสองเพศอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง อาจมีแนวโน้มทางเพศได้ทั้งสามแบบ

คำตอบต่อคำถามว่า ใครบ้างที่เป็นหญิงรักหญิง ในตอนนี้อาจจะตอบได้ว่า คือ ผู้ที่มีแนวโน้มชอบหรือรักเพศเดียวกัน แต่มีข้อสงสัยอีกว่าการเป็น “หญิงรักหญิง” นั้นเป็นสิ่งถาวรหรือเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้กันแน่

แนวคิดสองแนวคิดที่พยายามอธิบายรักร่วมเพศ หรือหญิงรักหญิง คือ essentialism และ constructionism ต่างก็มีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ แนวคิดแรกเห็นว่า รักร่วมเพศเป็นลักษณะทางกายภาพที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สัญชาตญาณการเป็นรักร่วมเพศซึ่งเป็นสิ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด สภาพการเป็นคนรักร่วมเพศของเขาจึงเป็นไปตามธรรมชาติอันถาวร หรือเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมา แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 80 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันมีการวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ที่ไม่สู้จะเป็นหลักฐานที่บ่งว่ารักร่วมเพศเกิดขึ้นจากตัวการที่ถาวรทางพันธุกรรม ผู้ที่อ้างแนวคิดนี้จะต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมคนบางคนจึงสามารถเปลี่ยนแบบฉบับจากรักร่วมเพศมาเป็นแบบอื่นในชีวิตของเขาได้

แนวคิดที่สอง constructionism เห็นว่า รักร่วมเพศเป็นเพียงสภาวะที่ไม่คงที่ สามารถไหลเลื่อนหรือแปรเปลี่ยนไปตลอดวเลา หญิงรักหญิง ในแนวคิดนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดโดยกายภาพซึ่งมีลักษณะที่ตายตัวเฉกเช่นแนวคิดแรก หากแต่เกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลซึ่งการที่บุคคลหนึ่งจะมองตัวเองว่ารักร่วมเพศ หรือรักต่างเพศ หรือรักทั้งสองเพศขึ้นอยู่กับความหมายหรือความสัมพันธ์ที่สังคมมีต่อสภาวะนั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของกาลเวลา ค่านิยม และวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง

การอธิบายปรากฏการณ์ “หญิงรักหญิง” แนวที่สองนี้ สอดคล้องกับการงานสำรวจพฤติกรรมทางเพศของคินเชย์ และคณะที่ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมทางเพศของมนุษย์มีความหลากหลายและมีลักษณะที่ไม่คงที่เหมือนของเหลวที่สามารถไหลไปไหลมาได้ จึงอาจพิจารณารักร่วมเพศหรือ “หญิงรักหญิง” ว่าเป็นสภาวะที่บุคคลเรียนรู้ที่จะเป็นหรือไม่เป็น ซึ่งงานศึกษาของสตีเวนส์ และฮอลล์ แสดงให้เห็นว่า “เลสเบี้ยน” เป็นคำที่ถูกกำหนดโดยค่านิยมหรือความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบุคคลว่าปกติหรือไม่ปกติในด้านจิตใจจึงเชื่อมโยงกับการตระหนักและการยอมรับว่าเป็นหรือไม่เป็น “หญิงรักหญิง” ของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะคิดว่า “หญิงรักหญิง” คือ ผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงเท่านั้น นอกจากจะเป็นการตัดสิน “หญิงรักหญิง” จากพฤติกรรมทางเพศเพียงด้านเดียวเท่านั้น ยังมองว่า “หญิงรักหญิง” ทุกคนมีความสัมพันธ์ทางเพศเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด อันที่จริงแล้ว “หญิงรักหญิง” บางคนอาจมีความสัมพันธ์เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ก็มีบางคนที่มีความสัมพันธ์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และในบางกรณีเลสเบี้ยนบางคนอาจมีความสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยเหตุผลบางประการ อาทิ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือแรงกดดันทางวัฒนธรรม เช่น ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน หรือเพราะความพึงพอใจของเลสเบี้ยนเป็นต้น

นอกจากนั้น ความเข้าใจของคนทั่วไปยังไม่ได้รวมไปถึงความรู้สึกต่อตนเอง ที่บุคคลมีหรือรู้สึกว่า ตนเองเป็น “หญิงรักหญิง” ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสดงออกทางพฤติกรรม หรือมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิง หากแต่เป็นความรู้สึกเสน่หาอยากใกล้ชิดเพศเดียวกัน

เลวินได้ให้คำจำกัดความ “เลสเบี้ยน” ไว้ว่า คือ ผู้หญิงที่มีแนวโน้มทางเพศและเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันกับตน อาจเป็นการตอบสนองทางเพศ การเพ้อฝันถึง “หญิงรักหญิง” ในนัยนี้จึงไม่จำกัดเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงความรู้สึกที่หญิงคนหนึ่งมีต่อหญิงอีกคนหนึ่ง

ดังนั้น “หญิงรักหญิง” หรือ “เลสเบี้ยน” ในความหมายที่กว้างขึ้นมาอีก คือ ผู้หญิงที่มีแนวโน้มชอบเพศเดียวกัน โดยอาจมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม แรนโกว์ได้ตั้งข้อสงสัยอีกว่า ผู้หญิงบางคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงด้วยกัน อาจไม่ยอมรับหรือไม่คิดว่า ตนเองเป็นเลสเบี้ยนเสมอไปทุกคน ซึ่งตรงกับปรากฏการณ์หญิงรักหญิง ในเมืองไทยที่ไม่นิยมเรียกและให้ใครมาเรียกว่า “เลสเบี้ยน” เพราะเป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบ

ความหมายของ “รักร่วมเพศ” หรือ “หญิงรักหญิง” อาจเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้หรือเป็นสิ่งที่ถาวรก็ได้ โดยรักร่วมเพศเป็นลักษณะทางกายภาพที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด จึงเป็นไปตามธรรมชาติอันถาวร หรือเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาแต่บางลักษณะเห็นว่า รักร่วมเพศเป็นเพียงสภาวะที่ไม่คงที่ สามารถแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลตามเงื่อนไขของกาลเวลา ค่านิยม และวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง “หญิงรักหญิง” คือ ผู้หญิงที่มีแนวโน้มชอบเพศเดียวกัน โดยหญิงรักหญิงบางคนอาจมีความสัมพันธ์เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ก็มีบางคนที่มีความสัมพันธ์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และในบางกรณีเลสเบี้ยนบางคนอาจมีความสัมพันธ์กับผู้ชายด้วย เพราะเหตุผลบางประการหรือเพราะความพึงพอใจของเลสเบี้ยนเอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเจตคติและพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นกลุ่มนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *