หนังสือนิทาน หนังสือเล่มแรก…สื่อความรัก ความรักอบอุ่น

หนังสือเล่มแรก เป็นกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ด้วยการใช้หนังสือเป็นสื่อสร้างความรัก ความอบอุ่น เป้าหมายสำคัญ คือ พ่อแม่ลูก มีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ สานสัมพันธ์ในครอบครัว เสริมสร้างพื้นฐานด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม คุณธรรม และสติปัญญาให้กับเด็ก โดยใช้หนังสือนิทานเป็นสื่อ

การเตรียมตัวของพ่อแม่ในการอ่านหนังสือกับลูก

  • เตรียมภาวะอารมณ์
    • การใช้เวลากับลูกไม่ว่าจะอ่านหนังสือ หรือทำอะไรกับลูกก็ตาม พ่อแม่ต้องผ่อนคลาย พ่อแม่จะได้เล่น อ่านหนังสือ หรือทำอะไร ๆ กับลูกอย่างปลอดโปร่ง
  • เตรียมเวลา
    • พ่อแม่ต้องจัดสรรเวลาและตารางชีวิตของตัวเองให้ลงตัว เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกได้อย่างมีคุณภาพ ต้องตกลงกันให้ลงตัวว่า เวลาใดเป็นเวลาระหว่างพ่อกับลูก เวลาใดเป็นเวลาระหว่างแม่กับลูก และเวลาใดเป็นเวลาของพ่อแม่ลูก
  • เตรียมความรู้
    • การเลี้ยงลูกในปัจจุบันนี้ มีความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอ พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงดูลูกด้วย พ่อแม่ต้องรู้บ้างว่า นิทานเรื่องใดที่สนุก เพลงใดที่จะทำให้ลูกสนใจ และเคลื่อนไหวตามอย่างมีความสุขจะได้นำมาใช้กับลูก
  • เตรียมเสี่ยง
    • เมื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อแม่ต้องอ่านออกเสียงให้ชัดเจน ไปพร้อม ๆ กับทำสุ้มเสียงที่มีลีลาเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อย ให้ลูกสนุกสนานและคล้อยอารมณ์ตาม
  • เตรียมท่าทาง
    • พ่อแม่ต้องเตรียมท่าทางที่เหมาะสมตามบุคลิกตัวละครในเนื้อเรื่องจากหนังสือ ดังนั้น ในการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อแม่อาจใช้มือไม้ แข้งขาหูตา หน้าหัว ประกอบการเล่าให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง
  • เตรียมสายตา
    • ในระหว่างการอ่านหนังสือกับลูก พ่อแม่ต้องประสานสายตากับลูก เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กับความสนุกสนาน การเรียนรู้ และการเกิดความรู้สึกร่วมกับพ่อแม่ที่กำลังอ่านหนังสือให้ฟัง

วิธีการให้พ่อแม่ลูกสนุกกับโลกหนังสือ

  • พูดคุยกับลูกถึงรายละเอียดของภาพในหน้าปกหนังสือ อธิบายส่วนประกอบของภาพ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในภาพ
  • อ่านแบบมีอารมณ์ร่วม ด้วยการทำน้ำเสียงให้เหมาะสมกับอารมณ์ของคำในเนื้อเรื่อง
  • คำนึงถึงในช่วงระยะเวลาในการอ่าน เพราะลูกอาจจะเกิดความเบื่อกับการใช้เวลาในการอ่านนานเกินไป
  • ไม่ควรมีการแบ่งอ่าน เช่น วันนี้อ่านให้ฟังเพียงครึ่งเรื่องที่เหลือคอยติดตามในวันรุ่งขึ้น
  • ต้องสดชื่นกระตือรือร้น เพื่อกระตุ้นเร้าให้ลูกมีความรู้สึกร่วม
  • หลังจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อแม่ควรหากิจกรรมมาทำกับลูกอย่างหลากหลายลูกจะได้ไม่เบื่อกับการฟัง

เทคนิคการอ่านหนังสือของพ่อแม่กับลูก

  1. อ่านตามต้นฉบับ
    • การเล่านิทานตามต้นฉบับ เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด แต่สิ่งที่ควรให้ความสนใจ คือ เล่าอย่างไรให้กระทบความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่งของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงใจ ความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ ความรัก ความโศกเศร้า ความสุขใจ ความเสียใจ รวมถึงการปลุกความคิด จิตสำนึกให้เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิต อาจมีการสร้างอรรถรสในการเล่ามากขึ้น ด้วยการเพิ่มคำสนุก ๆ เข้าไป จะทำให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น
  2. อ่านโดยใช้อุปกรณ์ประกอบ
    • ในขณะที่เล่านิทานให้เด็กฟัง อาจใช้วิธีการนำตุ๊กตาช้างผ้าหรือตุ๊กตาอื่น ๆ รวมทั้งถุงมือ หุ่นมือ หุ่นกระดาษ และการพับ การวาด การระบายสี มาเป็นองค์ประกอบในการเล่าเพื่อเร้าความสนใจ และต่อยอดความคิดของเด็ก คือ การเล่านิทานโดยการใช้ร่างกายเป็นส่วนประกอบการเล่า เช่น ทำมือเป็นหมา ไก่ เป็ด งู และอื่น ๆ อีกมากมาย
  3. อ่านไปคุยไป
    • พ่อแม่ คุณครู หรือครูพี่เลี้ยงหลาย ๆ คนจะใช้หนังสือ หรือนิทานเป็นช่องทางในการที่จะพูดคุยเพื่อต่อยอดทางความคิด และจะสอนสิ่งที่ดีงามให้แก่ลูก นอกเหนือจากเนื้อหาที่ได้ปรากฏอยู่ในนิทานแล้ว โดยจะอยู่ในระหว่างการเล่านิทานนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนได้โยงเรื่องราวในนิทานเข้าสู่การพูดคุยกับลูก โดยจะโยงพฤติกรรมของตัวละครเข้าสู่พฤติกรรมของลูก แล้วก็ใช้เรื่องราวของตัวละครที่มีสีสันและยังช่วยปลูกฝังสิ่งที่ดีงาม และพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมให้แก่ลูก
  4. อ่านไปเล่นไป
    • พ่อแม่ คุณครู หรือครูพี่เลี้ยง อาจจะใช้นิทานเพื่อเป็นการนำเข้าสู่การเล่นกับเด็ก จะทำให้การเล่านิทานนั้นมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น เพราะการฟังเรื่องราวจากนิทานแล้วสลับกับการเล่นตามตัวละครจะทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ เช่น เมื่อเล่านิทานเรื่อง “พ่อหมีเล่นโยกเยกกับลูกหมี” ก็ชวนน้อง ๆ เด็กเล่นโยกเยกแบบในนิทานด้วยกัน
      • “…โยกเยกเอย
      • น้ำท่วมเมฆ
      • กระต่ายลอยคอ
      • หมาหางงอ
      • กอดคอโยกเยก…”
  5. อ่านไปร้องไป
    • การเตรียมความพร้อมของเด็กเล็กเพื่อให้เกิดความสนใจ และเพื่อให้เด็กมีสมาธิในการฟังนิทาน วิธีหนึ่งที่จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ และเกิดผลเป็นอย่างดี คือ “การร้องเพลง” เช่น เมื่อจะเล่านิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับช้างก็ชวนน้อง ๆ  เด็ก ๆ ร้องเพลง “ช้าง” “…ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ยาว เรียกว่า งวง สองเขี้ยวใต้งวง เรียกว่า งา มีหูมีตาหางยาว…”
  6. อ่านไปพับไป
    • ผู้ที่มีความสามารถในด้านการพับกระดาษ คุณพ่อคุณแม่ คุณครู ครูพี่เลี้ยงสามารถใช้ทักษะการพับกระดาษนี้ มาสร้างความน่าสนใจในการเล่านิทานให้เด็กฟังมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเล่านิทานจบแล้วก็นำเด็ก ๆ ช่วยกันพับกระดาษเป็นตัวละครในเรื่องนิทานที่เล่า เช่น เรื่อง “เจ้าชายกบ” ก็สอนเด็ก ๆ พับกระดาษเป็นตัวกบ หรือจะพับเป็นมงกุฎเจ้าหญิง ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถที่จะนำมาเป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่านิทานในครั้งต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย
  7. อ่านไปวาดไป
    • ผู้ที่มีความสามารถในด้านการวาดภาพ สามารถที่จะใช้ทักษะในการวาดภาพนี้มาช่วยสร้างความน่าสนใจในการเล่านิทานให้น้อง ๆ เด็ก ๆ ฟังได้มากยิ่งขึ้นได้เช่นกัน โดยในขณะที่กำลังเล่านิทานก็วาดภาพตัวละคร และองค์ประกอบอื่น ๆ ตามเนื้อเรื่องในนิทานไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งยังจะสามารถชวนน้อง ๆ เด็ก ๆ ให้ช่วยกันวาดภาพ หรือระบายสีไปด้วยกันได้อีกด้วย

กระบวนการในการใช้หนังสือกับเด็ก

  1. จัดมุมหนึ่งในบ้านที่เป็นมุมสบาย ๆ ให้เป็นมุมหนังสือ เพื่อวางหรือแขวนถุง หนังสือให้เป็นที่เป็นทาง ลูกจะได้เรียนรู้ว่า เมื่อใดที่ต้องการ หนังสือจะมาหยิบจากมุมนี้
  2. จัดบรรยากาศในบ้านให้เอื้อต่อการอ่านหนังสือร่วมกันของ พ่อ แม่ ลูก เช่น ปิดโทรทัศน์แล้วเป็นหนังสือทุกวันหลังอาหาร 3 มื้อ
  3. สร้างช่วงเวลาที่ชื่นชอบของครอบครัวให้เป็นเวลาที่พ่อแม่ได้อุ้มลูกนั่งตัก แล้วสื่อรักด้วยหนังสือและทำอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วยการเปิดหนังสือ ลูกจะได้สังเกตและจำว่าการเปิดหนังสือจะพลิกจากขวาไปซ้าย
  4. อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ อ่านเมื่อไรก็ได้ อ่านที่ไหนก็ได้ อ่านได้ทุกเวลาในทุกสถานที่อย่างไม่จำกัด โดยใช้นิ้วชี้ตามคำที่อ่านให้ลูก สังเกตเห็นว่า การอ่านนั้นเริ่มต้นจากซ้ายไปจบที่ด้านขวา
  5. อ่านนิทานออกเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อยตามเนื้อเรื่องในนิทาน เพื่อกระตุ้นให้ลูก เด็ก ๆ เกิดความสนใจ พร้อมกับชี้ชวนให้เด็ก ๆ ดูภาพ กอด สัมผัส หยอกเย้ากัน และก็เคลื่อนไหวร่างกายไปด้วยกัน
  6. ในกรณีที่อ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านหนังสือไม่ตกลง ให้ใช้ภาพในหนังสือ เป็นประเด็กในการพูดคุย ชี้ชวน และสอนลูก
  7. พ่อแม่ต้องใส่ใจและแสดงการตอบรับทุกครั้งที่ลูกแสดงความต้องการหนังสือ
  8. อ่านทุกวัน วันละ 5 – 15 นาที

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *