นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

ความเหมาะสมของนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ต้องคำนึงถึงความสนใจ การรับรู้และความสามารถตามวัยของเด็กเป็นสำคัญ จึงจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะเริ่มรับรู้นิทานจากภาพที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน โดยไม่รู้ความหมายไปทีละเล็กละน้อยจนสามารถเชื่อมโยงภาพ และคำบอกเล่าที่ได้ยิน ตลอดจนจดจำเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้อย่างมีความหมายต่อไป

ประโยชน์ของการเล่านิทาน

  • เสริมสร้างความรัก ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก
  • เรียนรู้ภาษาได้เร็ว รักการอ่านหนังสือ
  • สร้างสมาธิให้เด็ก
  • สร้างให้เด็กเป็นคนดีมีคุณธรรม
  • สร้างให้เด็กเป็นคนเก่ง

ช่วงความสนใจของเด็ก

เด็กแต่ละช่วงจะมีระยะเวลาความสนใจต่างกัน ดังนั้น เวลาเล่านิทานพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็ก จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วย เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการฟังนิทานครั้งต่อไป

กลุ่มอายุช่วงเวลาที่สนใจ (นาที)
0 – 13
1 – 25
2 – 37
3 – 49
4 – 512
5 – 615

หลักการเลือกนิทาน

  1. เหมาะสมกับวัย เด็กในแต่ละวัยจะมีความสใจฟังเรื่องราวต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ
    1. นิทานเด็กแรกเกิด – 1 ปี ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน เป็นภาพเดียว ๆ ที่ดูมีชีวิตชีวา อาจทำด้วยผ้า หรือพลาสติก หนาหนุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้
    1. นิทานเด็ก 1 – 2 ปี ควรเป็นหนังสือภาพ หรือเรื่องสั้นมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับตัวเด็กเอง เกี่ยวกับครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยง รูปเล่มขนาดพอมือเด็กจับได้
    1. นิทานเด็ก 2 – 4 ปี ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว เป็นเรื่องในชีวิตจริง เด็กจะชอบฟังคำคล้องจองเพลงปริศนาคำทาย ดังนั้น นิทานควรเป็นนิทานบทร้อยกรองสั้น ๆ มีภาพประกอบที่มีรายละเอียดไม่มากนัก มีสันสดใส รูปเล่ม อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นพอมือเด็กจับ
    1. นิทานเด็ก 4 – 6 ปี ควรเป็นเรื่องสั้นเข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการและอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีตัวละครเอกเพียงตัวเดียวและตัวละครร่วมอีก 2 – 3 ตัว มีภาพประกอบที่สีสันสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากจนเกินไป และมีขนาดใหญ่พอควรใช้ภาษาที่ง่าย ๆ
  2. ประโยชน์ที่ได้รับ การเลือกหนังสือต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กด้วย เช่น สอนให้รู้จักคำเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออก พัฒนาความคิดจินตนาการให้ความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก ให้ความสนุกสนาน เป็นต้น การอ่านเรื่องราว หรือเนื้อหาของนิทานทั้งเล่มก่อนตัดสินใจเลือกจึงเป็นสิ่งสำคัญ
  3. เนื้อหาและลักษณะรูปเล่ม นิทานหรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัย ควรเป็นเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆ และไม่ซับซ้อน มีจุดเด่นของเรื่องจุดเดียว เด็กดูภาพหรือฟังเรื่องราวเข้าใจได้และสนุกสนาน มีเนื้อเรื่องที่ชัดเจนชวนติดตาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเด็กและใกล้ชิดเด็กหรือธรรมชาติแวดล้อม ไม่มีการบรรยายเนื้อเรื่อง ควรมีลักษณะเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ใช้ภาษาที่ถูกต้องเข้าใจง่าย ต่อตัวอักษรควรมีขนาดใหญ่ ใช้สีเข้มอ่านได้ชัดเจน มีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เป็นภาพที่มีสีสันสวยงาม มีชีวิตชีวา ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนหรือภาพวาดมากกว่าภาพถ่าย มีรูปเล่มที่แข็งแรง ทนทาน ขนาดพอเหมาะกับมือเด็ก ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเสมอไป และมีจำนวนหน้าประมาณ 10 – 20 หน้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *