ปัญหาพฤติกรรมในเด็กปฐมวัยและการจัดการ

ด้วยความเยาว์วัยของเด็กทำให้เด็กมีกลไกและกระบวนการทางจิตใจที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อเกิดความคับข้องใจ ทำให้เด็กมีปฏิกิริยาต่อความคับข้องใจนั้น ในรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ หากผู้เลี้ยงดูไม่เข้าใจ และตอบสนองต่อพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ถูกต้อง จะทำให้พฤติกรรมดังกล่าวเป็นปัญหารุนแรงขึ้น จนกลายเป็นพยาธิสภาพทางอารมณ์และพฤติกรรม ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย ได้แก่

การดูดนิ้ว (Thumb – sucking)

เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี การดูดนิ้วถือว่า เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ หลังอายุ 2 ปี เด็กจะค่อย ๆ เลิกดูดนิ้วไปเอง บางคนอาจจะดูดนิ้วต่อไป โดยเฉพาะเวลาก่อนนอนจนถึงอายุ 5 – 6 ปี ได้ แต่ถ้าเด็กดูดนิ้วอย่างมาก มักจะเกิดจากเด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่ มีอารมณ์ตึงเครียด หวาดกลัว หรือเด็กขาดรัก ควรได้รับการแก้ไข นอกจากนั้น การดูดนิ้วอย่างมากจะมีผลต่อฟัน เช่น การสบฟันผิดปกติ เพดานปากผิดรูป กระดูกหน้าผิดรูป เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น

วิธีแก้ไขการดูดนิ้ว

ทำความเข้าใจผู้เลี้ยงดูเด็กกว่าในระยะ 2 ปีแรกเป็นพฤติกรรมปกติได้ ไม่มีอันตรายใด ๆ ไม่ควรกังวล หรือลงโทษ เปลี่ยนเป็นให้ความรัก ความเอาใจใส่ ดูแลตามปกติ เด็กจะค่อยเลิกพฤติกรรมไปเอง อาจหากิจกรรมอื่น ๆ ทำร่วมกัน เพื่อเบี่ยงเบน ความสนใจให้เด็กเอามือออกจากปาก จะทำให้เด็กค่อย ๆ เลิกพฤติกรรมนี้ได้ด้วยดี

การร้องงอหงาย (Breath holding spells)

อาการร้องงอหาย คือ การร้องอย่างมาก แล้วกลั้นหายใจ นิ่งเงียบไป เด็กจะมีอาการเขียวรอบริมฝีปาก แขนขาอ่อนแรง เป็นเวลาประมาณ 20 วินาที แล้วเด็กจะหายใจเข้าแรงพร้อมร้องเสียงดัง แล้วเริ่มต้นหายใจใหม่อาการเขียวบนใบหน้า และริมฝีปากจะหายเป็นปกติ อาการนี้พบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และมักจะหายไปเมื่ออายุ 3 – 4 ปี เป็นปฏิกิริยาที่แสดงอารมณ์โกรธจนเกินควร หรือตกใจ หรือเจ็บปวด

วิธีการแก้ไขการร้องงอหงาย

อธิบายให้ผู้ดูแลเข้าใจถึงกลไกของการเกิดอาการร้องงอหาย เมื่อเด็กมีอาการ ควรจัดให้เด็กอยู่ในท่าปลอดภัยหรืออุ้มไว้ไม่ตื่นตระหนก อย่าให้เด็กล้มหัวฟากพื้น สิ่งที่ควรคำนึงประการหนึ่ง คือ ต้องแยกจากอาการชัก

พฤติกรรมอาละวาด หรือการโกรธ ฟาดมือ ฟาดเท้า (Temper Tantrums)

เป็นอาการแสดงอารมณ์โกรธของเด็กอายุ 2 ปี จนถึงอายุ 4 – 5 ปี มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กถูกขัดใจ ถูกบังคับ ถูกห้าม ไม่สมหวัง เด็กจะกรีดร้องเสียงดังทิ้งตัวนอนดิ้นกับพื้น เหวี่ยงแขนขา ถีบเตะ ทุบตี กัด ขว้างปากข้าวของ อาการอาจเกิด 2 – 3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงได้ มักเกิดในเด็กที่ถูกเลี้ยงดู ด้วยการตามใจมากเกินไป จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ในการระงับ หรือควบคุมอารมณ์ หรือการรอคอย เด็กมักใช้อาการนี้เรียกร้องความสนใจ และทำให้ผู้ใหญ่ยินยอมพฤติกรรมนี้ควรหมดไป เมื่อเด็กเข้าสู่วัยประถมศึกษา

วิธีแก้ไขพฤติกรรมอาละวาด หรือการโกรธ ฟาดมือ ฟาดเท้า (Temper Tantrums)

ผู้ดูแลเด็กต้องไม่แสดงอาการตื่นตกใจ และรีบให้ของที่เด็กต้องการ หรือโอ๋เอาใจเกินควร ให้แสดงอาการเฉยต่อเด็ก พูดคุยกับเด็กอย่างสงบ เพียงแต่ระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บ ไม่ดุเอ็ดตะโร หรือทุบตี เมื่อเด็กมีอาการ เมื่อเด็กสงบลงพูดคุยอธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจตามวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ว่า การแสดงอาการดังกล่าวไม่มีประโยชน์ หากเด็กทำร้ายคนอื่น หรือขว้างปาข้าวของต้องจับเด็กให้หยุดพฤติกรรมนั้นทันที อาการจะค่อย ๆ หายไป และต้องเลิกตามใจเด็กอย่างไม่มีเหตุอันควร เช่น การพูดคุย สอบถามบอกถึงความรู้สึก ให้แรงเสริมทางบวก ชื่นชมพฤติกรรมที่ดีของเด็ก ผู้ใหญ่ทุกคนรอบตัวเด็กต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบุคมอารมณ์เช่นกัน และปฏิบัติต่อเด็กในแนวทางเดียวกัน

การเล่นอวัยวะเพศ (Playing with genitalia)

การเล่นอวัยวะเพศอาจพบได้ตั้งแต่ปลายขวบปีแรก เกิดจากเด็กบังเอิญใช้มือถูกไถบริเวณอวัยวะเพศแล้วรู้สึกพอใจ จึงเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกทางเพศ จะพบบ่อยในเด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เด็กเกา แล้วกระตุ้นความรู้สึกพอใจ หรืออาจเกิดจากผู้ดูแลเด็กทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกพอใจ และทำต่อเนื่อง หรืออาจเกิดจากการเลียนแบบอาการที่เห็นผู้ใหญ่ทำ ซึ่งต้องจัดการอย่างเหมาะสม

วิธีแก้ไขการเล่นอวัยวะเพศ (Playing with genitalia)

ถ้าเด็กเล่นอวัยวะเพศจากความบังเอิญ หรือทำเป็นครั้งคราว เด็กจะเลิกไปเอง เมื่อเห็นเด็กเล่นอวัยวะเพศ ไม่ควรดุด่า หรือทำโทษทางกายต่อเด็ก ให้ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปยังเรื่องอื่น เช่น ชวนเด็กเล่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่านิทาน เป็นต้น และสืบสาวสาเหตุว่า เด็กมีพฤติกรรมนี้ เพราะเหตุใด และปรับแก้สาเหตุดังกล่าว

พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

ความก้าวร้าว คือ การที่คน ๆ หนึ่งมีความตั้งใจที่จะทำร้ายคนอีกคนหนึ่ง หรือทำลายสิ่งของ พบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบ มักแสดงความก้าวร้าว โดยการทำร้ายเด็กอื่นเพื่อแย่งของเล่น เมื่อเด็กโตขึ้น ได้รับการอบรมสั่งสอนให้ควบคุมอารมณ์ได้ พฤติกรรมนี้ก็จะลดลง สาเหตุพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากการได้รับแรงเสริม เช่น เด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว แทนที่ผู้ดูแลจะอบรมสั่งสอนแนะนำให้เลิกพฤติกรรมกลับแสดงความพึงพอใจ ทำให้เด็กคิดว่า เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม หรืออาจจะเกิดจากการเลียนแบบจากผู้ใหญ่ที่แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว

วิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้าวของ ให้เด็กหยุด พฤติกรรมนั้นทันที ด้วยท่าทีสงบและหนักแน่น ไม่ดุด่าหรือลงโทษทางกายต่อเด็ก หรือบังคับเด็ก หากเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายคนอื่น ให้แสดงความสนใจผู้ที่ถูกกระทำ แต่ไม่ใช่อารมณ์หรือดุด่าเปรียบเทียบเด็ก เมื่อเด็กหยุดพฤติกรรม แสดงความชื่นชมให้ความสนใจหลังจากเด็กสงบจึงตัดเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้ของผลเสียจากการกระทำดังกล่าว เช่น ถ้าแย่งของเพื่อนกัดเพื่อน จะไม่มีใครเล่นด้วย สอนให้รู้ว่า เด็กคนอื่นก็มีความรู้สึก และต้องการเช่นกัน ฝึกวินัยง่าย ๆ เริ่มที่บ้าน เช่น การแบ่งปัน การรอคอย

เด็กซนและดื้อ

เด็กซนและดื้อเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลเด็กมักจะบ่นกับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขบ่อย ๆ คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเด็กช่วงปฐมวัย เป็นวัยที่มีพัฒนาการก้าวหน้าโดยลำดับ ทั้งการเจริญเติบโตของสมองอวัยวะ และกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำให้เด็กสนใจที่จะค้นคว้าและสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา จึงดูเหมือนไม่อยู่นิ่ง ซน และเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจหรือมีความคิดเชิงเหตุเชิงผลที่สลับซับซ้อน จึงดูเหมือนไม่สนใจคำสั่งห้ามต่าง ๆ ของผู้ดูแล คือ ดื้อในสายตาผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการตีความหมายของผู้ใหญ่ที่เด็กไม่มีพฤติกรรมตามที่ตนเองต้องการว่า เป็นเด็กซนและดื้อ หรืออาจเกิดจากสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ และการเอาชนิดซึ่งกันและกัน

วิธีแก้ไขเด็กซนและดื้อ

ผู้ดูแลเด็กต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่ต้องการสำรวจศึกษาสิ่งรอบตัว เพื่อการเรียนรู้ต่อยอดในอาการที่เติบโตขึ้น ผู้ดูแลเด็กจึงต้องตอบสนองความต้องการของเด็กตามวัย ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระและสร้างสรรค์ ไม่บังคับเด็กจนเกินไป และเล่นกับเด็กด้วยของเล่นที่ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมทั้งป้องกันและระวังการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา อย่าทิ้งเด็กไว้โดยลำพังเด็ดขาด ที่สำคัญต้องไม่ตามใจเด็กจนเคยตัว นึกอยากอะไรต้องได้ทุกอย่าง ทำให้ขาดวินัย และมีพฤติกรรมก้าวร้าวในที่สุด

หากเด็กมีลักษณะซนมาก ไม่อยู่นิ่งเลย อาจต้องตรวจเพิ่มเติมว่า เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิสั้นหรือไม่ โดยปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งอาการที่สำคัญของเด็กสมาธิจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • อาการซนมากกว่าปกติ ซนแบบไม่อยู่นิ่ง ลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา
  • อาการสมาธิสั้น เด็กจะวอกแวกง่าย ไวต่อสิ่งเร้าภายนอกทำให้เด็กเสียสมาธิ และอาจจะเกิดจากสิ่งเร้าภายในทำให้เด็กมีอาการเหม่อลอยนั่งเฉย ๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เด็กทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ หรือต้องใช้เวลานาน ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชจึงจะสำเร็จลุล่วงได้
  • อาการหุนหันพลันแล่น แสดงออกในลักษณะรอคอยไม่เป็นรีบเร่ง จนเกิดอุบัติเหตุต่อตัวเด็กได้ง่าย

เด็กหยิบของเพื่อนมาเป็นของตนเอง

เด็กช่วงปฐมวัยยังไม่เข้าใจความเป็นเจ้าของของสิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อเด็กเห็นอะไรที่พึงพอใจก็อาจจะหยิบมาเป็นของตนเองหรือมาเล่น จนดูเหมือนมีพฤติกรรมขโมยของเพื่อนหรือแย่งของเพื่อน ถึงแม้เด็กจะยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ผู้ดูแลเด็กต้องยุติพฤติกรรมนี้ทันที เพราะจะมีผลเสียต่อพฤติกรรมทางอารมณ์ สังคม และจริยธรรมของเด็กในอนาคต

วิธีแก้ไขเด็กหยิบของเพื่อนมาเป็นของตนเอง

ผู้ดูแลเด็กหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ด้วยความสงบ นุ่มนวล ไม่ลงโทษทางกายหรือวาจาที่รุนแรงต่อเด็ก อธิบายให้เด็กเข้าใจอย่างง่ายว่า การแบ่งปันทำให้เรามีเพื่อนเล่นด้วย การเอาของเพื่อนมาทำให้เพื่อนเสียใจ หากใครเอาของเราไปบ้าง เราก็เสียใจเช่นกัน และให้เด็กนำสิ่งของเหล่านั้นคืนเพื่อนโดยเร็ว และขอโทษเพื่อน ผู้ดูแลเด็กแสดงความพึงพอใจ หรือชื่นชมเมื่อเด็กได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญผู้ดูแลเด็ก และผู้ใหญ่ทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็ก ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็นอย่างสม่ำเสมอ

เด็กพูดคำหยาบ

เด็กปฐมวัยเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งทางกาย และวาจาจากผู้เลี้ยงดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะโทรทัศน์ ด้วยความเยาว์วัย เด็กไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเด็กเห็นหรือได้ยินก็จะซึมซับได้ หากเห็นต่อเนื่องประจำ ก็จะสร้างเป็นบุคลิกภาพของตนเอง ดังนั้น การที่เด็กพูดคำหยาบเวลาไม่พอใจ หรือเวลาเล่นกับเพื่อนล้วนเกิดจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ที่ทำให้เห็นเป็นประจำ ทั้งในชีวิตประจำวัน และสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ซึ่งเห็นทั้งภาพได้ยินทั้งเสียง

วิธีแก้ไขเด็กพูดคำหยาบ

ผู้ดูแลเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้คำพูดที่เหมาะสม เด็กต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ เพราะไม่ได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก กลับมีผลเสียต่อสมาธิเด็กและพัฒนาการด้านภาษา เด็กอายุมากกว่า 2 ปี หากดูโทรทัศน์ผู้ดูแลเด็กควรเลือกรายการที่เหมาะสำหรับเด็ก ดูไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และผู้ใหญ่ต้องนั่งดูกับเด็กเพื่อช่วยอธิบายต่อยอดความคิดสร้างสรรค์แก่เด็ก หากเด็กพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะพูดกับใครก็ตาม ต้องทักท้วงและตักเตือนทันที และสอนว่า ไม่ควรเอาแบบอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น

พฤติกรรมอิจฉา

อารมณ์อิจฉาเป็นอารมณ์พื้นฐาน เด็กแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่เด็กแสดงท่าทางไม่พอใจ เมื่อผู้ดูแลให้ความสนใจเด็กอื่นหรือน้อง หรือรู้สึกว่า ตัวเองขาดความสำคัญ โดยแสดงกิริยาท่าทาง วาจาออกมา เช่น เอาตัวเข้ามาแทรก ดึงลากผู้ใหญ่ออกมา ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ และบางครั้งอาจกระทำรุนแรงทางกายต่อเด็กอื่นหรือน้องได้ หรือมีพฤติกรรมถดถอยจากการเห็นผู้ดูแลเอาใจใส่น้องที่เล็กกว่า เช่น ทำเสียงพูดไม่ชัด อ้อแอ้แบบน้อง หรือทำท่าทางเป็นเด็กทารก เป็นต้น มักพบในช่วงอายุ 2 – 4 ปี

วิธีแก้ไขพฤติกรรมอิจฉา

ผู้ดูแลเด็กต้องไม่แสดงความลำเอียง ปฏิบัติต่อเด็กทุกคนด้วยความรักและเอาใจใส่ หากเด็กทะเลาะกัน ต้องไม่เลือกเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า การทะเลาะกันไม่มีประโยชน์ ทำให้เราไม่มีเพื่อนเล่น หากเกรงว่า เด็กจะอิจฉาน้อง ควรเตรียมตัวเด็กแต่เนิ่น ๆ ว่าจะมีน้องใหม่ และเด็กเป็นพี่ซึ่งมีความสามารถในการดูแลน้องด้วย ไม่ล้อเลียนว่าเด็กจะตกอันดับ เปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญแก่เด็ก เพราะเป็นที่พี่ที่จะทำอะไรหลายอย่างให้น้องได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *