สีกับการแต่งกายไว้ทุกข์

คนไทยในสมัยโบราณมีการแต่งกายไว้ทุกข์โดยใช้เสื้อผ้าที่มีสีต่างกัน ตามลำดับของวัยของเครือญาติ และความเคารพนับถือ สีที่ใช้มีอยู่หลายสี คือ สีดำ สีขาว และสีม่วงแก่ หรือน้ำเงินแก่ ตามธรรมเนียมถือว่า ผู้ที่จะแต่งกายสีดำ จะต้องเป็นผู้ที่อายุมากกว่าผู้ตาย ส่วนสีม่วงแก่หรือสีน้ำเงินแก่นั้น เป็นสีที่ใช้ได้ทั่ว ๆ ไป สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ญาติของผู้ตาย

การแต่งสีขาวในบางกรณี มีข้อยกเว้น เช่น เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2351 พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนศรีสุนทรเทพ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงภูษาลายพื้นขาวทุกวัน ดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมาก ต้องนุ่งขาวให้” ต่อมาในรัชกาลที่ 3 เมื่องานพระเมรุพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พ.ศ. 2388 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาขาวอีกเหมือนกัน เพราะพระราชธิดา พระองค์นี้เป็นที่ทรงพระเสน่หาของพระราชบิดา ฉะนั้น สีขาวที่ใช้ในการไว้ทุกข์จึงเป็นสีที่แสดงความรัก ความอาลัย

ตามประเพณีไทยโบราณผู้ที่จะไปเฝ้าพระบรมศพที่พระมหาปราสาท ทุกคนจะต้องนุ่งขาว ไม่มีใครแต่งดำ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรื่องกล่าวว่า เมื่อครั้งพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑล (18 กุมภาพันธ์ 2406) โปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทนุ่งผ้าดำเป็นการไว้ทุกข์ ภายหลังมีผู้เห็นชอบได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาและถือต่อกันมาอีกว่า ถ้าเป็นแต่ทุกข์โศกเล็กน้อยหรือผู้น้อยล่วงลับไป ผู้ที่มีอายุมากกว่า ก็ไว้ทุกข์เป็นการสังเขปใช้ผ้าดำกว้างประมาณ 6 – 7 นิ้ว พันแขนซ้าย ในปัจจุบันได้ถือว่า การแต่งกายสีดำ เป็นสีไว้ทุกข์โดยทั่ว ๆ ไป

ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่แม้วิถีการดำรงชีวิตจะเปลี่ยนไปสุดแต่ความแตกต่างกันในเรื่องของความเชื่อ แต่การสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ยังคงมีให้เห็นตามบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเชื่อถือเรื่องโฉลกสี เป็นเพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาการเชื่อถือเรื่องโชคลางจึงมีการควบคู่กันมาซึ่งจะพบเห็นทั่ว ๆ ไปได้ง่าย

นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อของกลุ่มคนในสังคมได้นำสีมาเกี่ยวข้องเป็นสัญลักษณ์ทางการแสดงออกความเชื่อถือศรัทธาด้วยเสื้อสีต่าง ๆ ที่พบเห็นทั่วไปกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายอย่างมากเกี่ยวข้องกับสังคมปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทย ช่วงปี 2549 คือ เสื้อยืดสีเหลืองที่นิยมใส่กันซึ่งผู้สวมใส่ยอมอุทิศให้กับคุณค่าเหล่านั้นจริง ๆ เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากภาวะทางความรู้สึกที่แท้จริง (ประชา สุวีรานนท์) คุณค่านั้นแสดงถึงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยอันเป็นศูนย์รวมจิตใจร่วมใจกันแสดงออกอย่างพร้อมเพรียงหรือการรวมกลุ่มบุคคลสีต่าง ๆ ในสังคมที่มีวัตถุประสงค์ทางใดทางหนึ่ง เป็นความเชื่อตามแนวทางอุดมการณ์นั้น ๆ โดยการใช้สีแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความหมายของสีทางด้านความรู้สึกเลยก็เป็นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *