อิทธิพลของสีเสื้อผ้ากับการแต่งกาย

คติความเชื่อเรื่องสีของเสื้อผ้าในสังคมไทยมีความเชื่อถือตามแบบโหราศาสตร์ โบราณเรื่องของโชคชะตามาตั้งแต่ต้น ตามความเชื่อถือในสังคมไทย เช่น ถ้าต้องการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ต้องเลือกให้ถูกโฉลกสีประจำวันต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อจะได้บังเกิดความเป็นมงคลแด่ผู้ที่ได้สวมใส่

ในทางโหราศาสตร์สีเป็นสัญลักษณ์ประจำดวงดาวต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อชะตาชีวิตของบุคคลตาม วัน เดือนปี ที่ตกฝาก ซึ่งตรงกับดวงดาวบนฝากฟ้า เช่น วันอาทิตย์ สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด วันศุกร์สีน้ำเงิน วันเสาร์สีดำ จึงมีการตกแต่งประดับร่างกายด้วยเสื้อผ้า หินสี เพชร พลอยสีต่าง ๆ ตามวันต่าง ๆ เหล่านั้น ตามความเชื่อถือทางโหราศาสตร์ไทย

สีของเสื้อผ้าที่ต้องถูกต้องตามโฉลกในแต่ละวันจะเกิดความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีโชคลาภ และเรื่องมงคลอื่น ๆ กับผู้ที่ได้สวมใส่ ในสมัยโบราณได้กล่าวถึง ความเชื่อเรื่องสีประจำวันเกิดเหล่านี้ไว้ว่า คนที่เกิดวันใดก็ถือเอาสีประจำวัน เป็นสีมงคลประจำตัว เช่น เกิดวันศุกร์ ก็ถือเอาสีฟ้าหรือสีน้ำเงินอ่อนเป็นสีประจำตัว เป็นสีวันเกิด เสื้อผ้าที่ใช้จึงพยายาม หาสีประจำวันเกิดไว้ แต่จะใช้ทุกวัน ในสมัยปัจจุบันนี้ก็น่าเบื่อจึงมีความคิดเกิดขึ้น มีการนำเสื้อมาสวมใส่นิยมให้สลับสีกันบ้าง

ผู้หญิงในสมัยโบราณสวมใส่แตกต่างกัน ผู้หญิงจะนุ่ง สีตามวัน แต่ห่มผ้า อีกสีหนึ่งมีแบบอย่าง คือ

  • วันอาทิตย์ : นุ่งสีแดงหรือสีลิ้นจี่ ห่มสีนวลหรือสีโศกอ่อน
  • วันจันทร์ : นุ่งเหลืองอ่อน ห่มน้ำเงินอ่อน
  • วันอังคาร : นุ่งชมพูหรือสีเมล็ดมะปราง ห่มสีโศก
  • วันพุธ : นุ่งเขียว ห่มชมพูหรือเหลือง
  • วันพฤหัสบดี : นุ่งแสด ห่มเขียวอ่อน
  • วันศุกร์ : นุ่งน้ำเงิน ห่มเหลือง
  • วันเสาร์ : นุ่งม่วงดำ ห่มโศก

การใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวันนั้น ในบางครั้ง ก็ถือผิดกัน อย่างเช่นในบทประพันธ์เรื่อง “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ก็ได้มีการกล่าวถึงสีของบางวัน ที่ต่างออกไป คือ

“อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน

เป็นมงคลติยาไม่ราคี

เครื่องวันพุธสุดดีที่สีแสด

กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี

วันพฤหัสบจัดเครื่องเขียวเหลืองดี”

จะเห็นว่า การใช้สีประจำวัน ต่างกับตำราที่กล่าวมาแล้ว คือ ของสุนทรภู่ สีม่วงคราม ใช้กับวันอังคาร สีแสด ใช้กับวันพุธ สีเขียวปนเหลือง ใช้กับวันพฤหัสบดี สีที่ใช้ ในวันพะ จะไม่เหมือนกับสีของวันอื่น ๆ กล่าวคือ วันพุธแบ่งเป็นพุธกลางวัน กับพุธกลางคืน มีเรื่องเล่า กันว่า ครั้งหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปในงานหนึ่ง ๆ ซึ่งตรงกับวันพุธกลางคืน จึงมีรับสั่งถาม พระญาณเวทเจ้ากรมโหรหลวง ในสมัยนั้นว่า “วันนี้ฉันจะนุ่งผ้า สีอะไร”

คุณพระญาณเวท ก็กราบบังคมทูลว่า “ทรงพระภูษา สีดอกตะแบก ซึ่งตรงกับ สีของราหู พระพุทธเจ้าข้า”

นี่ก็เป็นเรื่อง แสดงว่า เฉพาะกับวันพุธ นั้นใช้สองสี กลางวันใช้สีเขียว เป็นส่วนมากแต่กลางคืน กลับไปใช้สีดอกตะแบกหรือสีม่วงคล้ำ

วันพฤหัสบดี ก็ได้ใช้สีที่ไม่ตรงกันอีก ตามตำราโหรกล่าวไว้ว่า ให้ใช้สีเหลือง และในตำราอื่น ๆ ได้ใช้สีแสดก็มีในส่วนกรมภูษามาลา ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่เกี่ยวกับเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์นั้นให้ใช้สีน้ำเงิน โดยอ้างว่า ได้มีการใช้สีน้ำเงินมาตั้งแต่ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว

สีที่ใช้ต่างกันอีกสีหนึ่ง ก็คือ สีประจำวันศุกร์ ซึ่งตามปกติแล้วใช้สีน้ำเงิน หรือสีฟ้า แต่ที่ทางกรมภูษามาลาให้ใช้สีเหลือง โดยมีการกล่าวว่า เป็นตำราที่ถือกันมา แต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สีประจำวันของบุคคลทั่ว ๆ ไป จะใช้ตามสีประจำวัน ซึ่งในตอนต้น ส่วนสีที่ต่างกันไปของโหร และของกรมภูษามาลานั้น เป็นเรื่องของทางราชการ และความเชื่อเรื่องสีกับการแต่งกายได้มีการแสดงออกตามความรู้สึกที่แตกต่างกันได้อีก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *