สาเหตุให้คนเมิน “กลิ่นปาก” ใครว่าไม่สำคัญ การทดสอบกลิ่นปากด้วยตนเอง

“กลิ่นปาก” เป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการติดต่อสื่อสารและพูดคุยหลายรายที่คนรู้ใจต้องร้องเพลง ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า…ก็มีไม่ใช่น้อย แต่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นที่เสียดายที่ต้องกินน้ำใบบัวบกไปตามระเบียบ กลิ่นปากที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้เกิดการเน่า มีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้น เราสามารถแยกกลิ่นเหม็นออกได้ หลายลักษณะแตกต่างกัน คือ กลิ่นที่มาจากด้านหลังของลิ้น กลิ่นที่เกิดจากโรคฟันผุ กลิ่นของโรคปริทันต์ กลิ่นที่มาจากฟันปลอม กลิ่นจากการสูบบุหรี่ กลิ่นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกลิ่นของอาหารที่รับประทาน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 สาเหตุ คือ

1. สาเหตุจากในช่องปากที่เกิดจากปากสกปรก

สาเหตุจากในช่องปากก็เกิดจากปากสกปรก มีเศษอาหารตกค้าง ขาดความเอาใจใส่ของเจ้าของปาก ทำให้อาหารที่ตกค้างบูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งแม้ว่า จะใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือยาอมชนิดใดก็ช่วยเหลือไม่ได้ เพราะสาเหตุของกลิ่นยังคงอยู่การที่มีโรคในช่องปากนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคฟันผุ หรือโรคปริทันต์ ถ้าไม่ได้รักษาให้ถูกต้องจะเกิดกลิ่นปากได้ เช่น คนที่มีโรคฟันผุ จะมีฟันที่เป็นรู หรือเป็นโพรงเมื่อไม่ไปรักษา รูหรือโพรงเหล่านี้จะเป็นที่กักเก็บเศษอาหาร แม้จะแปรงฟันแล้วก็ตาม การแปรงฟันจะทำความสะอาดลงไปในส่วนที่ผุไม่ได้ ยิ่งถ้าฟันผุมากจนมีแผลฝีที่รากฟัน ก็จะมีกลิ่นที่น่ารังเกียจมากขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคปริทันต์ มีหินน้ำลาย เหงือกอักเสบ เหงือกร่น มีหนอง เกิดจากไม่ค่อยทำความสะอาดฟัน หรือทำแต่ไม่ถูกวิธี พอมีเหงือกร่น เศษอาหารจะติดมีการหมักหมมเกิดกลิ่นปากได้ ยิ่งเพิ่มกลิ่นเลือดและหนอง ก็จะเป็นการเพิ่มทวีความรุนแรงของกลิ่นให้มากขึ้น บางครั้งการแปรงฟันอย่างเดียวอาจจะช่วยได้ไม่เต็มที่ อาจจำเป็นต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาอมบ้วนปากฆ่าเชื้อโรคด้วย หรือบางครั้งเกิดเจ็บป่วยเรื้อรังก็จะมีอาการขาดน้ำ น้ำลายน้อยข้นเหนียว ลิ้นเป็นฝ้า ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้ บางคนใส่ฟันปลอมที่ผิด ดูแลฟันปลอมไม่ถูกต้องทำให้เกิดมีเศษอาหารเข้าไปติด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นได้ สำหรับคนที่ชอบสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั่วไปแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นโรคปริทันต์รุนแรงมากขึ้นด้วย กลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากผสมกับกลิ่นอื่น ๆ จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะขึ้นได้ การมีแผลในปาก แผลการถอนฟัน แผลผ่าตัด ที่ดูแลไม่ถูกต้องอาจทำให้มีเลือดซึมปนกับอาหาร ประกอบกับฟันข้างเคียงใกล้กับแผลเคี้ยวอาหารไม่ได้ และยังทำความสะอาดลำบากอีก ก็จะทำให้มีเชื้อโรคเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ นอกจากนี้ แผลเรื้อรังในช่องปาก เช่น แผลมะเร็ง แผลวัณโรค แผลจากโรคซิฟิลิสเป็นตัวการของกลิ่นที่รุนแรงได้เหมือนกัน

2. สาเหตุจากภายนอกช่องปาก

ส่วนสาเหตุจากภายนอกช่องปาก ได้แก่ การรับประทานอาหารบางประเภทที่มีกลิ่นรุนแรง อาหารเหล่านี้ได้แก่ อาหารพวกหอม กระเทียม ชะอม ปลาร้า ปูดอง แอลกอฮอล์ ทุเรียน กลิ่นจะตกค้างอยู่ในช่องปาก และทางเดินอาหารส่วนอื่น ๆ เมื่อเรอออกมาก็จะมีกลิ่นเฉพาะของอาหารพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อร่างกายดูดซึมสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหล่านี้ เข้าไปในทางเดินกระแสเลือด และขับออกมาทางลมหายใจ จึงทำให้มีกลิ่นปนออกมากับลมหายใจด้วย แม้ในช่องปากจะทำความสะอาดอย่างดีแล้วก็ตาม หรือคนที่เป็นไซนัสอักเสบ ทอลซิลอักเสบเรื้อรัง วัณโรคปอด โรคกระเพาะอาหาร โรคเหล่านี้ ก็ทำให้กลิ่นปากเกิดขึ้นได้ เมื่อรู้สาเหตุของกลิ่นปากแล้วก็อย่าลืมสำรวจตัวเองด้วยนะจ๊ะ

“กลิ่นปาก” สาเหตุให้คนเมิน

นิสัยคนไทยมักเป็นคนขี้เกรงใจ พูดคุยกับใครแม้คนที่พูดคุยด้วยมีกลิ่นปากที่เราไม่ปรารถนาจะบอกก็ไม่กล้าบอกกลัวเขาจะเสียใจ ไม่รู้ว่า คุณเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่อยากให้ใครรังเกียจ หรือผะอืดผะอมที่ต้องมาพูดคุยกับเรา ลองมาทดสอบกลิ่นปากของตัวเองกันซะวันนี้จะดีมั๊ย

การทดสอบกลิ่นปากด้วยตนเอง

เราสามารถป้องกันกลิ่นปากโดยการทดสอบอย่างง่าย ๆ โดยใช้วิธีการเอามือปิดปากและจมูก เป่าลมแรง ๆ ออกจากปาก และดมดู ซึ่งบางคนก็สามารถบอกได้ว่า มีกลิ่นปากหรือไม่ หรือจะใช้วิธีเลียที่ข้อมือ และดมดู ในบางคนอาจจะใช้นิ้วมือถูที่บริเวณเหงือก แล้วนำมาดมกลิ่นว่า เหม็นหรือเปล่าและอีกวิธีคือ ขอร้องให้คนใกล้ชิดสนิทกันจริง ๆ ช่วยบอกก็ได้ เมื่อทดสอบดูแล้ว พบว่า ตัวเองมีกลิ่นปากก็สามารถที่จะป้องกันได้ตามสาเหตุที่เป็น เช่น ในกรณีมีฟันผุเป็นรูหรือเป็นโพรงก็ไปรับการรักษาโดยการอุดฟัน ดูแลความสะอาดในช่องปากด้วยวิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธี ในกรณีที่มีฟันแก มีซอกเหงือก หรือร่องเหงือกที่ทำให้มีเศษอาหารตกค้างควรใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดที่บริเวณนี้เพิ่มขึ้น ลิ้นก็ควรเปรงให้สะอาดและแปรงให้ถึงโคนลิ้น และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันอาการปากแห้ง

แต่ถ้ารักษาทุกอย่างจนเรียบร้อยแล้วปรากฏว่า ยังมีกลิ่นปากเกิดขึ้นอยู่ คราวนี้ คุณต้องไปหาหมอรักษาโรคเพื่อตรวจช่วงคอแล้วว่า มีการอักเสบหรือไม่ รวมทั้งตรวจระบบทั้งทางเดินอาหารและทางเดินหายใจด้วยก็จะดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *