สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ภาวะอ้วน

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม มีการนำเทคโนโลยี มาใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการอพยพแรงงานเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้นจากชีวิตครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว มีการรับวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ จากตะวันตกมากขึ้น การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างรีบเร่งและแข่งขันกันเกือบตลอดเวลา จนไม่มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว รูปแบบการรับประทานอาหาร จึงถูกปรับให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านและอาหารที่สะดวกซื้อ เช่น อาหารจานด่วน อาหารขยะต่าง ๆ ประกอบกับสื่อโฆษณาของอาหารเหล่านี้ จะมีการลด แจก แถม ขายเป็นชุด การจูงใจต่าง ๆ เกิดเป็นกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ อาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต และไขมันเป็นหลัก ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารในสัดส่วนที่ไม่สมดุล (ไม่ครบ 5 หมู่) ประกอบกับการดำเนินชีวิตที่รีบเร่ง ทำให้ไม่สนใจออกกำลังกาย ข้อมูลทางด้านกิจวัตรประจำวันจากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2541) พบว่า เยาวชนไทย อายุ 15 – 24 ปี มีกิจกรรมที่ทำยามว่าง ได้แก่ ดูทีวี และวิดีโอ ร้อยละ 30 – 40 ฟังวิทยา ร้อยละ 10 – 12 อ่านการ์ตูน อ่านสิ่งพิมพ์ และนอนเป็นส่วนใหญ่ รวมแล้วมากกว่าร้อยละ 80 มีเยาวชนที่ไม่ออกกำลังกายเลย ภาวะเครียดจากเศรษฐกิจที่แข่งขันกัน ทำให้บางคนแก้ปัญหาความเครียดด้วยการรับประทานมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานควบคู่ไปกับรับประทานขนมขบเคี้ยวและดื่มน้ำอัดลมด้วย การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง กิจวัตรประจำวันแบบนั่งนอนมาก (sedentary activities) เป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน และโรคอ้วนได้

“โรคอ้วน” หมายถึง การที่ร่างกายมีปริมาณไขมัน (body fat) มากกว่าปกติ โดยมีการกระจายตัวของไขมันในร่างกาย (body fat distribution) อันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลร้ายต่อสุขภาพ

การวินิจฉัยโรคอ้วน

น้ำหนักตัวเป็นผลรวมของมวลไขมัน (fat mass) และมวลไร้ไขมัน (fat – free mass) ในเชิงเคมีไขมัน คือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ส่วนมวลไร้ไขมัน ประกอบด้วย โปรตีน น้ำ เกลือแร่ และไกลโคเจน (glycogen)

การวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัวที่แน่นอน คือ การวัดปริมาณไขมันในร่างกายว่า มีมากน้อยเพียงใด ส่วนการวัดปริมาณไขมันในช่องท้องและไขมันใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าท้องจะบ่งบอกว่า เป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่ แต่การวัดปริมาณไขมันในร่างกายหรือการวัดเปอร์เซ็นต์ไขมัน (% Body Fat) ต้องใช้เครื่องมือพิเศษและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ในทางปฏิบัติจึงใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และใช้อัตราส่วน เส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวง สะโพก (waist – over – hip circumference ratio: WHR) เพื่อการวินิจฉัย อ้วนลงพุง

ดัชนีมวลกาย (BMI)

เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับใช้ประเมินภาวะสะสมพลังงานในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง

BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หาร (ส่วนสูง X ส่วนสูง (เมตรยกกำลังสอง)

แสดงการแบ่งระดับความอ้วนตามค่าดัชนีมวลกาย

ค่า BMI (กิโลกรัม / เมตร (ยกกำลังสอง))  
ทั่วโลกเฉพาะทวีปเอเชียภาวะน้ำหนักตัว
18.5 – 24.918.5 – 22.9น้ำหนักตัวปกติ
25.0 – 29.9223.0 – 24.9น้ำหนักเกิน (over weight)
30.0 – 39.9225.0 – 25.9โรคอ้วน (obesity)
มากกว่า 40มากกว่า 30โรคอ้วนอันตราย (morbid obesity)

ที่มา: นพวรรณ กิติวัฒน์, 2545, หน้า 3.

สำหรับคนเอเชีย องค์การอนามัยโลกใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มากกว่า 23 กิโลกรัม/เมตร2 เป็นเกณฑ์เพราะมีการศึกษาพบว่า เมื่อค่า BMI มากกว่า 23 กิโลกรัม/เมตร2 จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และระดับอัลบูมินในปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

อัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพก (waist – over – hip circumference ratio : WHR)

คำนวณได้จากเส้นรอบวงเอวหารด้วยเส้นรอบวงสะโพก โดยวัดเส้นรอบวงเอวระดับสะดือ และเส้นรอบวงสะโพกส่วนที่นูนที่สุดของสะโพก (gluteal protusion)

WHR = เส้นรอยวงเอว / เส้นรอบวงสะโพก

เส้นรอบวงเอวเป็นดัชนีที่คาดคะเนมวลไขมันในช่องท้องและไขมันในร่างกายทั้งหมด ส่วนเส้นรอบวงสะโพกให้ข้อมูลด้านมวลกล้ามเนื้อ และโครงสร้างกระดูกสำหรับค่าอัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพกที่ใช้ตัดสินโรคอ้วนลงพุงในผู้ชายไทยและผู้หญิงไทย คือ มากกว่า 1.0 และมากกว่า 0.8 ตามลำดับ คนอ้วนอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. อ้วนแบบชาย อ้วนแบบแอปเปิลจะมีไขมันมากบริเวณ อก แขน และพุง คือ อ้วนแบบลงพุง
  2. อ้วนแบบหญิง อ้วนแบบลูกแพร์จะมีไขมันมากบริเวณสะโพก และช่วงล่างของท้อง

การวัดเส้นรอบวงเอว (waist circumferrence)

ปัจจุบันจัดว่า วิธีการวัดเส้นรอบวงเอวเป็นการวัดระดับความอ้วนที่ดีในผู้ใหญ่ มีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายใน (visceral fat) ไขมันชนิดนี้จะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคอ้วน

จากการรายงานใหม่ขององค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ค่าเส้นรอบวงเอวที่เหมาะสมของชาวเอเชีย คือ เพศชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตรหรือ 36 นิ้ว และเพศหญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติดเมตร หรือ 32 นิ้ว ถ้าค่าเส้นรอบวงเอวเกินจากค่าที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ดังนี้

  • โรคเบาหวาน 30 เท่า
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 15 เท่า
  • โรคอัมพาต 11 เท่า
  • โรคมะเร็งลำไส้ 2 เท่า

การวัดเส้นรอบวงเอวควรใช้คู่กับการวัด BMI ถ้าคนใดมีค่า BMI และขนาดเส้นรอบวงเอวมากกว่า ปกติก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคอ้วนยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก

เนื่องจาก เด็กมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและความสูงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การที่จะบอกว่า เด็กเริ่มอ้วน จะใช้น้ำหนักเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้น จึงมีเกณฑ์ที่นิยมใช้ ดังนี้

  1. ดูน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง (weight for height) ที่มากกว่า 120% ของเปอร์ซ็นต์ไทล์ที่ 50 ของน้ำหนักเด็กเพศเดียวกันที่มีความสูงเท่ากัน โดยการเปรียบเทียบบนกราฟการเจริญเติบโต (growth chart)
  2. ดัชนีมวลกาย (BMI) ในเด็กจะต้องเปรียบเทียบกับตารางดัชนีมวลกาย (BMI chart) ตามอายุ โดยถือว่า อ้วนเมื่อ BMI ที่มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์ (อาจติดตามเปรียบเทียบการเจริญเติบโตกับกราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต normal growth chart ของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งได้จัดทำเป็นกราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิง น้ำหนัก ส่วนสูง และเครื่องชี้วัดภาวะโภชนาการของประชาชนไทย อายุ 1 วัน – 19 ปี)

สาเหตุของโรคอ้วน

โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุร่วมหลายประการ ที่ทำให้ไขมันสะสมมากเกินไป เกิดจากความไม่สมดุลของพลังงาน คือ ได้รับพลังงานจากสารอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายใช้ไป ซึ่งไม่จำเป็นว่า คนที่อ้วนจะกินมากกว่าคนที่ไม่อ้วน เชื่อว่า ในคนอ้วนคงมีการเพิ่มความสามารถในการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีพลังงานเหลือเก็บไว้มาก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่า อาจเป็นสาเหตุส่งเสริมให้อ้วนได้

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดโรคอ้วน

  1. ลักษณะของรูปร่าง (สรีระ) มีจำนวนไขมันแตกต่างกัน
    • คนที่รูปร่างแบบเอ็นโดมอร์ฟี (endomorphy) จะมีไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ พวกนี้จะอ้วนได้ง่าย
    • คนที่มีรูปร่างแบบมีโซมอร์ฟี (mesomorphy) จะมีกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากที่สุด
    • คนที่มีรูปร่างแบบเอคโตมอร์ฟี (ectomorphy) จะมีกล้ามเนื้อผอมเรียวยาว ไขมันน้อย
  2. ปัจจัยพันธุกรรม อาจมีส่วนส่งเสริมอยู่บ้างในการทำให้อ้วนการถ่ายทอดจากพันธุกรรมโดยยีนส์ (autosomal recessive) หรือโครโมโซม (chromosomal) และมีการศึกษา พบว่า ถ้าพ่อและแม่มีน้ำหนักมาก ลูกมีโอกาสที่อ้วนถึงร้อยละ 40 ถ้าพ่อแม่ผอมลงทั้งคู่ลูกมีโอกาสอ้วนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น
  3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเชื่อว่า โรคอ้วนเป็นผลมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธุกรรม เช่น การเลี้ยงดู อุปนิสัย วัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้สะสมตาม ๆ กันมา ทำให้ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับพลังงานที่ใช้ไป ที่เด่นชัด คือ การรับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ได้แก่ อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟูด (fast food) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวก แป้ง ไขมัน มีเส้นใยจากอาหารน้อยเป็นอาหารที่ให้พลังงานมาก มีการเพิ่มปริมาณการขาย โดยการลด แลก แจก แถม ขายเป็นชุด อีกทั้งเด็ก และวัยรุ่นนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแคลอรีนมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง ผู้ใหญ่นิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้หาซื้อได้ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า โรงภายนตร์ โรงพยาบาล หรือตามตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่กดซื้อได้ตลอดเวลา ในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนในเด็กนักเรียนไทย (จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน, 2545, หน้า 11 – 12) พบว่า กลุ่มเด็กอ้วนจะมีบิดามารดาที่อ้วนมากกว่ากินอาหารที่มีไขมันสูงกว่า ดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่ากินอาหารที่มีโปรตีนน้อยกว่า พฤติกรรมการกิน พบว่า กินอาหารว่างบ่อยกว่า ซึ่งมักเป็นอาหารว่างปรุงรสบรรจุถุงสำเร็จรูป เช่น ช็อกโกแลต ข้าวอบกรอบ ได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่าและพบว่า กลุ่มอ้วนจะมีระดับการศึกษาและเศรษฐานะของบิดามารดาสูงกว่ากลุ่มไม่อ้วน ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงร่วมกับการมีเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเครื่องจักรผ่อนแรง การทำงานที่ใช้พลังงานน้อย เช่น ทำงานนั่งโต๊ะ ทำบัญชี งานคอมพิวเตอร์ การใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม และเล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะออกกำลังกาย การดำเนินชีวิตแบ่งนั่ง ๆ นอน ๆ (sedentary life style) เป็นปัจจัยหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์โรคอ้วนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปีมานี้
  4. ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่
    • โรคของระบบต่อมไร้ท่อบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน โรคคุชชิ่ง
    • การรับประทานยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตอรอยด์ ยาคุมกำเนินบางชนิด ยาเพรดนิโชโลน มีผลให้รับประทานอาหารมากขึ้น อ้วนแบบผิดส่วนมีไขมันพอกที่คอ ยาพวกนี้ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และติดเชื้อโรคได้ง่าย
    • การเลิกสูบบุหรี่ จะทำให้น้ำหนักขึ้นเฉลี่ย 2 – 3 กิโลกรัม การเลิกสูบบุหรี่จะมีการลดการใช้พลังงานของร่างกายถึง 100 กิโลกรัมเคลอรีต่อวันร่วมกับการรับประทานอาหารมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *