ผลกระทบของโรคอ้วนต่อสุขภาพ

โรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

  1. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนจะร่วมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน เป็นต้น
    • ความดันโลหิตสูง
      • จากการศึกษาของแฟรมมิงแฮม (Framingham Study) ปี ค.ศ. 1967 และ 1993 พบว่า ความดันโลหิตสูงทั้งในผู้ชายและผู้หญิง จะสูงมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และสัมพันธ์อย่างมากกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยพบว่า คนอ้วน 100 คน มีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 50 คน และในจำนวนผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงนี้มีถึง ร้อยละ 70 เป็นผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่า มีความดันโลหิตสูงเป็นครั้งแรก ขณะมาพบแพทย์ด้วยโรคอ้วน
      • จากการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา (US Nurses Health Study: 1998) โดยติดตามพยาบาล จำนวน 80,000 คน ในเวลามากกว่า 16 ปี ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2 จะมีความเสี่ยงที่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติ 2.5 เท่า แต่ถ้าค่าดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2  จะมีความเสี่ยงที่จะมีความดันโลหิตสูงมากขึ้น 6 เท่า จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตสูงจะแปรผันโดยตรงกับดัชนีมวลกาย (BMI)
  2. โรคมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน ได้แก่
    • โรคมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งมดลูก ปากมดลูก รังไข่ เต้านม และต่อมลูกหมาก เป็นต้น
    • โรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
    • โรคถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี สูงกว่าคนไม่อ้วน 3 – 4 เท่า

ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

  1. ภาวะดื้ออินซูลิน
  2. ฮอร์โมนที่มีผลกระทบต่อหน้าที่สืบพันธ์ ทำให้มีลูกยาก แอนโดรเจนมาก (Hyperand – rogenism) มีผลก่อให้เกิดมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมน
  3. หน้าที่ต่อมหมวกไต คนอ้วนลงพุง มีการหลั่งคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น และไขมันบริเวณหน้าท้องมีตัวรับกลูโคคอร์ติคอยด์หนาแน่น กลไกนี้มีส่วนต่อการแสดงออกของภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้เกิดโรคเบาหวานแทรกซ้อน
  4. ฮอร์โมนเล็ปติน (leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากเซลล์ไขมัน เมื่อมีเซลล์ไขมันเพิ่มมากขึ้นก็จะมีระดับฮอร์โมนเล็ปตินมากขึ้น ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติคทำงานมากขึ้นอันเป็นผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ความผิดปกติของเมแทบอลิซึมที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

  1. ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ คนอ้วนมักมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง HDL-C ในเลือดต่ำ และอะโปโปรตีนในไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำในเลือดสูง ความผิดปกติของระดับไขมันมักพบในคนอ้วนที่มีการสะสมไขมันในช่องท้องมาก และสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจขาดเลือด
  2. กลุ่มอาการเมแทบอลิซึมกับโรคอ้วน (the metabolic syndrome) การวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ ควรมีความผิดปกติอย่างน้อย 2 อย่าง คือ
    • ภาวะบกพร่องการใช้กลูโคสความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง กับ HDL-C ในเลือดต่ำ
    • ภาวะดื้ออินซูลิน

ปัญหาสุขภาพอ่อนแอที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

  1. โรคข้อเสื่อม จากการกระจายตัวของน้ำหนักเป็นร้อยละ พบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในช่วงสูงกว่าร้อยละ 20 (upper 20%) มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม 7 – 10 เท่าของผู้ที่มีน้ำหนักตัวในช่วงต่ำสุดร้อยละ 20 (lowest 20%) นอกจากนี้ ยังพบว่า คนอ้วนเสี่ยงต่อการเกิดข้อเสื่อมที่สะโพกและมือ
  2. ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์ คนอ้วนจะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าคนปกติ
  3. โรคระบบหายใจหรือทางเดินหายใจ ผลของโรคอ้วนต่อการหายใจมีผลต่อกลศาสตร์ การหายใจ หน้าที่ของกล้ามเนื้อการหายใจ และการแลกเปลี่ยนก๊าซจากปอด การหายใจผิดปกติขณะหลับ (sleep – disordered breathing) ความต้านทานของทางเดินหายใจขณะหลับ (sleep – apnea) จากการอุดกั้นในโรคอ้วนที่มีความรุนแรงปานกลางหรือมากเป็นภาวะที่คุกคามชีวิต

ปัญหาทางสังคมและจิตใจที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นภาวะทางกายที่ก่อให้เกิดภาวะทางสังคมและจิตใจ จากรายงานการประชุมองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับโรคอ้วนปี 1998 (Report of WHO Consultation on Obesity 1998X พบว่า

  1. ความลำเอียงทางสังคม มีรายงานว่า คนอ้วนต้องต่อสู้กับความลำเอียงทางสังคม เช่น หญิงอ้วนอายุน้อยในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามีรายได้ต่ำกว่าหญิงปกติ หรือหญิงที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ
  2. แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีเจตคติเชิงลบกับคนอ้วน เช่น ในประเทศอังกฤษคนอ้วนที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมักจะไม่ได้รับใบสั่งยา ลดระดับไขมันในเลือดจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เพราะถือเป็นนโยบายของแพทย์
  3. ผลทางจิตใจที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนยังหาข้อสรุปไม่ได้
  4. ความไม่พอใจกับรูปร่าง

ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ได้แก่

  1. โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และขาหนีบ
  2. การไหลเวียนของเลือดจากขาสู่หัวใจ ไม่สะดวก เกิดเส้นเลือดขอด
  3. การดมยาสลบ การผ่าตัดช่องท้อง และการคลอดบุตรมีปัญหา แผลผ่าตัดอาจจะหายช้ากว่าปกติ
  4. การขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระไม่ปกติ เช่น มีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระ ในเพศหญิง การกลั้นปัสสาวะไม่ดีเหมือนคนปกติ

ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วน ที่สำคัญมีดังนี้

1.ผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคม

เด็กที่อ้วนมักถูกล้อและอาจไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ทำให้ขาดความมั่นใจความภูมิใจในตนเอง สุดท้าย อาจแยกตัวออกจากกลุ่มจากสังคม ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า บางคนในวัยเด็กรูปร่างโตกว่าอายุผู้ใหญ่ที่พบเห็น มักจะคาดหวังเด็กมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะเครียด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ มักแก้ปัญหาด้วยการกินยิ่งทำให้เด็กอ้วนมากขึ้น

2.ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนทางร่างกาย

2.1. โครงสร้างทางร่างกาย

เด็กและวัยรุ่นที่อ้วน พบว่า มีความผิดปกติของกระดูกและข้อ ได้ร้อยละ 50 – 70 คือ ขาโก่ง การเลื่อนหลุดของหัวกระดูกต้นขา เท้าแบน (ส่วนโค้งของฝ่าเท้าหายไป) ทำให้เดินลำบากมีท่าเดินที่ผิดปกติ ปวดขาปวดสะโพก แก้ไขโดยการลดน้ำหนักและใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน นอกจากนี้ มีการศึกษา พบว่า คนที่อ้วนมากอาจมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูกได้

2.2.การเจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ

ในเด็กที่อ้วนมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมาก มักจะเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กหญิงจะมีประจำเดือนเร็วกว่าวัยเดียวกัน (โดยทั่วไปเด็กหญิงไทยจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุเฉลี่ย 11 – 12 ปี) แต่ในเด็กที่อ้วนมักจะมีเร็วกว่า และบ่อยครั้ง พบว่า เด็กมีหน้าอกก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งภาวะนี้ อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำปรึกษา

2.3. โรคเบาหวานหรือความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล

ความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานเด็กหรือวัยรุ่นที่อ้วนและมีผิวหนังหนาคล้ำบริเวณคอและรักแก้ที่อ้วนและมีผิวหนังหนาคล้ำบริเวณคอและรักแร้ที่เรียกว่า “อแคน โธซิส นิกริแคน” (Acanthosis Nigricans) พบว่า มีภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้โดยเฉพาะถ้ามีญาติพี่น้องเป็นเบาหวานร่วมด้วย มีข้อมูลพบว่า เด็กที่มีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานมีโอกาส ร้อยละ 14 ถ้าพ่อและแม่เป็นมีโอกาสเป็นร้อยละ 40

2.4.ภาวะไขมันในเลือดสูง

เมื่อตรวจเลือดในผู้ป่วยที่อ้วน พบว่า มีระดับไขมันสูง ทั้งโคเลสเตอรอล ไตรีกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี LDL – C ทำให้พบอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราช ศึกษาเด็กวัยรุ่นอ้วนระหว่างมีนาคม 2543 – ธันวาคม 2544 จำนวน 78 ราย พบว่า เป็นเบาหวาน ร้อยละ 3.8 เริ่มมีความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลร้อยละ 34.6 มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง ร้อยละ 41 มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ร้อยละ 47.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

2.5. ความดันโลหิตสูง

เป็นผลที่สืบเนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลินมีผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด นำไปสู่โรคหัวใจต่อไป

2.6 ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ

พบได้ในเด็กที่น้ำหนักเกินร้อยละ 150 ของเด็กวัยและเพศเดียวกัน ระยะแรกจะเหมือนการนอนกรนต้องพลิกตัวไปมา ถ้ายังอ้วนต่อไปก็จะเกิดภาวะคล้ายอาการสำลัก สะดุ้งตื่นเป็นผลจากการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะที่นอนหลับ มีผลทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ง่วงนอนตอนกลางวัน ผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติ ของระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อการควบคุมการหายใจ เกิดภาวะที่เรียกว่า “พิควิคเกียน” (Pick Wickian syndrome) ควรรีบให้การดูแลรักษาเพราะสุดท้ายอาจทำให้เสียชีวิตได้

2.7.ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และภาวะมีบุตรยาก

พบในวัยรุ่นหญิงที่อ้วนเป็นผลจากภาวะดื้ออินซูลิน มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางครั้งอาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นผลให้มีบุตรยาก อาจพบร่วมกับการมีสิวขึ้นมากและมีขนดกขึ้น ภาวะนี้ดีขึ้นได้ ถ้าลดน้ำหนักหรือบางครั้งอาจต้องรักษาด้วยยาฮอร์โมน

2.8.ภาวะตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ

พบได้บ้างไม่มาก มักไม่มีอาการชัดเจน แต่ตรวจเลือดพบเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ถ้าได้รับการดูแลรักษาในระยะนี้ การทำงานของตับอาจกลับมาเป็นปกติได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ต่อมา จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและตับแข็งได้

มีการศึกษาพบว่า ภาวะถุงน้ำดีอักเสบในเด็กและวัยรุ่นจะพบมากขึ้นในเด็กที่อ้วน และพบนิ่วในถุงน้ำดีได้เหมือนผู้ใหญ่ที่อ้วน

2.9. โรคผิวหนัง

พบได้บ่อย คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนัง อักเสบติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้อักเสบรุนแรงลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *