ปัจจัยของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน สิ่งแวดล้อมและพาหะของปัญหา

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนขององค์การอนามัยโลก มีแนวคิดรากฐาน พัฒนาการของโรคอ้วนมาจากการควบคุมพลังงานในร่างกาย (energy regulation) ที่ขาดความสมดุลระหว่างการรับและใช้พลังงานในร่างกาย (energy intake และ energy expenditure) ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน สามารถแบ่งได้เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ 1) พฤติกรรมการบริโภค 2) พฤติกรรมการใช้พลังงาน 3) ปัจจัยส่วนบุคคลเชิงชีวภาพ (individual/biological  susceptibility) และ 4) ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสี่กลุ่มปัจจัยนี้ มีองค์ประกอบที่ทั้งสามารถปรับเปลี่ยนได้ ปรับเปลี่ยนได้ยาก และไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น ในกลุ่มปัจจัยส่วนบุคคลเชิงชีวภาพที่ประกบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม และอัตราเมตาบอลิสมพื้นฐาน (basal metabolic rate) หรือที่เรียกว่า ความแตกต่างในการตอบสนองต่อสารอาหาร

พฤติกรรมการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน มิใช่เพียงการบริโคในปริมาณมากเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ชนิดและที่มาของอาหาร สัดส่วนของสารอาหารจำนวนมื้ออาหาร การงดอาหาร เวลาที่ทานอาหาร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เวลาที่ใช้ในการทานอาหารขนาดของคำ ไปจนถึงลักษณะการบดเคี้ยว ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของปริมาณ และรูปแบบการบริโภคของประชากรไทยที่มีผลสำคัญต่อการเติบโตของวิกฤตภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านแหล่งพลังงานที่ประชากรไทยบริโภค การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง และการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารประเภทเส้นใย (fiber) ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมการใช้พลังงานของประชากรไทย

Swinburn และ Egger ได้เสนอแนวคิดที่อธิบายปัจจัยส่วนบุคคลของบุคคลที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนที่มีส่วนทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น ในลักษณะของวงจรแห่งความเลวร้าย (vicious cycle) ได้แก่ ความยากลำบากในการเคลื่อนไหว (movement inertia and mechanical dysfunction) เงื่อนไขสภาพจิตใจ กลไกการบริโภค (diet cycle) และเศรษฐานะทางสังคม ในขณะที่ปัจจัยที่ช่วยยับยั้งภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนมักมีความเข้มแข็งไม่เพียงพอทั้งปัจจัยด้านจิตใจ และแรงสนับสนุนทางสังคม

พฤติกรรมการบริโภคและพฤติกรรมการใช้พลังงาน ล้วนมีความสัมพันธ์กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งมีตั้งแต่ปัจจัยในระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับประเทศและระดับโลก มีทั้งปัจจัยทางกายภาพไปจนถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคม เช่น วิถีชีวิต การรับรู้และมุมมองของสังคม ในการมองปัญหาโรคอ้วนและคนอ้วน ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังซื้อและราคาของอาหารมีความสำคัญกับพฤติกรรมการบริโภค รวมไปถึงผลของภาวะวิกฤตทางอาหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา นโยบายการเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะที่ นโยบายเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง และผังเมืองก็มีความสำคัญต่อแบบแผนการมีกิจกรรมทางกาย กระแสโลกาภิวัฒน์มีอิทธิพลต่อการระบาดของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ผ่านหลายกลไก เช่น การลงทุนข้ามชาติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การปรับเปลี่ยนค่านิยมในการบริโภคอาหาร และลักษณะการเข้าถึงอาหาร แนวทางการมีกิจกรรมทางกาย และการโฆษณา

สิ่งแวดล้อมรอบตัวในปัจจุบันมีลักษณะที่ส่งเสริมสนับสนุนภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนิยมเรียกว่า obesogenic environment ซึ่งหมายถึง ลักษณะสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้การบริโภคอาหารพลังงานสูงทำได้ง่ายขึ้น เช่น ความสะดวกในการซื้อ ราคาที่ถูกลงเมื่อซื้อในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และการโฆษณา ในขณะที่การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และการมีกิจกรรมทางกายทำได้ยากขึ้น เช่น ราคาของผักผลไม้ และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การออกแบบเมือง ระบบคมนาคม ที่ไม่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย

อุตสาหกรรมอาหารมีบทบาทสำคัญต่อวิกฤตภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะบทบาทต่อการขายและการทำการตลาดของสินค้าที่ส่งเสริมภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน (obesogenic product) เช่น อาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูง สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย และยานพาหนะ ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่สร้างผลกำไรต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น การเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ จึงมีผลต่อวิกฤตภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน จึงถูกเรียกว่า เป็นปัญหาที่มีผลจากผู้ประกอบการ (industrial epidemic) ซึ่งหมายถึง ปัญหาด้านสุขภาพที่มีผลจากสินค้าในท้องตลาด เช่นเดียวกับ ปัญหาสุราและยาสูบ ในแนวคิดดังกล่าว อุตสาหกรรมอาหารเปรียบได้กับพาหะ (vector) ของปัญหา โดยมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมแบบ obesogenic เช่น การออกผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาดอาหารที่มีพลังงานสูง หรือมีปริมาณมาก นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางส่วนยังมีบทบาทที่ยับยั้ง หักเห และลดทอน โอกาสในการพัฒนาและความเข้มแข็งของมาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการปัญหา

การเติบโตของอุตสาหกรรมระดับนานาชาติในประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนจากต่างชาติ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนในสังคมประเทศรายได้น้อย และปานกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะผลที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมของการบริโภคอาหารในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งมีอัตราการเติบโตของอาหารพลังงานสูง และน้ำอัดลมสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ทิศทางแนวโน้มของปัญหาที่น่าจะรุนแรงขึ้นในประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง วิกฤตปัญหาโรคอ้วน : ภัยเศรษฐกิจ พิษสังคม โดยนายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี กลุ่มศึกษานโยบายสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *