วิวัฒนาการทางกฎหมายในเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรส

บทบัญญัติในเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรส หรือทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการใหญ่  ให้เปลี่ยนไปจากกฎหมายครอบครัวที่มีมาแต่เดิมหลายประการด้วยกัน ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเจตนารมณ์ที่จะให้สิทธิเท่าเทียมกัน ระหว่างชายหญิงตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 บทบัญญัติที่เคยให้ชายมีอำนาจเหนือหญิงก็ถูกตัดทิ้ง และเปลี่ยนแปลงเสียใหม่โดยให้หญิงเข้ามามีอำนาจเท่า ๆ กับชาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ก็ให้โอกาสคู่สมรสที่จะตกลงทำสัญญาเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนที่ว่าด้วยทรัพย์สินได้ ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองสัญญาก่อนสมรสที่ได้ทำมาก่อนการประกาศใช้บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ด้วย โดยถือว่า สัญญาก่อสมรสนั้นสมบูรณ์มีผลบังคับใช้ แม้ว่าจะมีข้อตกลงที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายใหม่ก็ตาม เช่น ให้อำนาจแก่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว[1]

เดิมได้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นบังคับใช้หลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นำมารวมไว้ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีลักษณะเป็นการรวมตำรากฎหมายเก่าที่ประกอบหลักการพิจารณาความแต่สมัยโบราณเข้าเป็นประมวล เมื่อ พ.ศ. 2347 กฎหมายดังกล่าวได้จัดระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นระบบสินบริคณห์ โดยการนำเอาทรัพย์สินของสามีภริยามารวมกันในระหว่างสมรส และมีการแบ่งเมื่อสิ้นสุดการสมรส สำหรับการจัดการทรัพย์สินเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ชาย และมีการแบ่งเมื่อสิ้นสุดการสมรส สำหรับการจัดการทรัพย์สินเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ชาย ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ในส่วนการแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายลักษณะผัวเมียนั้น ฝ่ายชายจะได้เปรียบฝ่ายหญิง ดังที่กำหนดไว้ในบทที่ 68 ซึ่งมีเนื้อหาว่า “…ถ้าฝ่ายชายมีสินเดิมแต่ฝ่ายเดียวหญิงไม่มีสินเดิม ชายได้สินสมรสทั้งหมด แต่ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็นสามส่วน ชายได้สองส่วนหญิงได้หนึ่งส่วนหรือเรียกว่า ชายหาบหญิงคอน สำหรับสินเดิมให้คืนแต่ละฝ่าย…”

กฎหมายลักษณะผัวเมียได้ถูกยกเลิกและได้มีประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2478 กฎหมายครอบครัวในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวได้กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามีสามประเภท คือ สินส่วนตัว สินเดิม และสินสมรส ในส่วนสินเดิมและสินสมรสรวมกันเรียกว่า “สินบริคณห์” การจัดการสินบริคณห์เป็นอำนาจหน้าที่ของสามี ส่วนสินเดิมสามีหรือภริยามีอำนาจจัดการทรัพย์สินด้วยตนเอง ถึงแม้ว่า จะมีการบังคับใช้บรรพ 5 กฎหมายครอบครัว พ.ศ. 2478 ออกใช้บังคับแล้ว แต่บทบังคับในเรื่องอำนาจจัดการทรัพย์สินและการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ฝ่ายหญิงก็ยังด้อยกว่าฝ่ายชาย เพราะในข้อบังคับส่วนที่เป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ยังคงไว้ซึ่งบทบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย

จากการใช้กฎหมายครอบครัว บรรพ 5 พ.ศ. 2478 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 ได้รับอิทธิพลจากการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติถึงสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในทางกฎหมาย ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายครอบครัว บรรพ 5 ใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งได้บทบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาให้มีความเท่าเทียมกันในการจัดการสินสมรส และมีการยกเลิกสินเดิมและสินบริคณห์ โดยให้สินเดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัว และกำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามีสองประเภท คือ สินส่วนตัวและสินสมรส สำหรับการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา สินเดิมของใครก็เป็นของฝ่ายนั้น ส่วนสินสมรสให้มีสิทธิกันคนละครึ่ง

การแก้ไขกฎหมายครอบครัว บรรพ 5 พ.ศ. 2519 ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจในการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่แล้ว ถึงแม้บทบัญญัติใหม่จะกำหนดให้คู่สมรสถทั้งสองฝ่ายมีอำนาจจัดการสินสมรสร่วมกัน นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2533 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัว บรรพ 5 การแก้ไขครั้งนี้ยังคงรักษาไว้เรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้มีสินส่วนตัวและสินสมรส และยังคงหลักการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาไว้คือ สินส่วนตัวของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของ ส่วนสินสมรสให้แบ่งกันคนละครึ่ง สำหรับในส่วนที่มีการแก้ไขนั้นเป็นเรื่องของการหมั้นให้มีของหมั้น ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นจะตกเป็นของหญิงคู่หมั้นทันทีเมื่อมีการหมั้น ส่วนเรื่องของการจัดการสินสมรสได้มีการแก้ไขโดยสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสตามลำพัง เว้นเสียแต่การจัดการทรัพย์สินที่สำคัญบางประเภทที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน[2]


[1] วิระดา สมสวัสดิ์. (2546). กฎหมายครอบครัว. กรุงเทพฯ: คบไฟ. หน้า 71 – 72.

[2] วิชัย ศรีหาปัญญา, 2547. การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาในกรณีการหย่าโดยคำพิพากษาของ.. หน้า 5 – 6 .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *