ปัญหาการเรียกค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดของผู้ประสบภัยในสัญญาประกันภัยรถยนต์

การประกันภัยรถยนต์แบ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับ และประกันภัยภาคสมัครใจ โดยการประกันภัยภาคบังคับเกิดจากรัฐบาลเห็นความสำคัญต่อความเสียหายในชีวิต ร่างกาย อนามัยของผู้ประสบภัยจากรถจึงได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ขึ้นใช้บังคับโดยรถทุกคันที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนต้องทำประกันภัย หากไม่ทำประกันภัยจะมีโทษปรับตามกฎหมาย อีกทั้งมีการนำหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ไม่ต้องพิสูจน์ความผิดมาใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ส่วนการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเป็นการทำโดยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย โดยมีให้เลือกซื้อทั้งการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ การคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้ และการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เนื่องจาก ธุรกิจประกันภัยรถยนต์เกี่ยวข้องกับผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้เข้ามากำกับดูแล และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งให้แบบเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ภาคบังคับ) และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ต้องเป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งออกคำสั่งให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประสบภัย และผู้เอาประกันภัย และให้เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยของทุกบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

ภายหลังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถ หากผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายก่อความเสียหาย และต้องรับผิดตามกฎหมาย บริษัทรับประกันภัยรถยนต์จะต้องร่วมรับผิดต่อผู้ประสบภัย หรือผู้ที่ได้รับความเสียหายตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ในการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการประกันภัยคุ้มจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือ สัญญาประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

บริษัทรับประกันภัยรถยนต์มักปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย กรณีผู้ประสบภัยใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ หรือสวัสดิการของข้าราชการ และลูกจ้างประจำ หรือสำนักงานประกันสังคม ก่อนที่จะมีการเรียกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัทรับประกันภัยรถยนต์จะอ้างว่า จ่ายตามความเสียหายที่แท้จริง เมื่อผู้ประสบภัยใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางอื่นแล้ว จึงไม่มีความเสียหาย และสวัสดิการ หรือสิทธิที่ผู้ประสบภัยใช้ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลสามารถเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ได้ แต่จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาให้ผู้ประสบภัยมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดได้อีกครั้ง แม้ผู้ประสบภัยจะใช้สิทธิ หรือสวัสดิการในค่ารักษาพยาบาลทางอื่นมาแล้ว เนื่องจาก เป็นสิทธิเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ทำละเมิด แต่ต้องพิจารณาว่า สวัสดิการ หรือสิทธิมีการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดหรือไม่

การปฏิเสธของบริษัทรับประกันภัยเกิดจากปัญหาความไม่ชัดเจนของการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย ปัญหาการนำหลักชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริงมาใช้กับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย และปัญหาปราศจากหลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิด กรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับค่ารักษาพยาบาลทางอื่นมาก่อน และมาเรียกจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์

จากปัญหาความไม่ชัดเจนของการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย โดยกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ภาคบังคับ) และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) จะมีการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งเงื่อนไข และข้อยกเว้นในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องเป็นไปตามที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนดตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และมีการออกคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อป้องกันปัญหาการตีความ และให้ทุกบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน แต่มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า บริษัทรับประกันภัยรถยนต์จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัยหรือไม่ หากผู้ประสบภัยไปเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ หรือจากสวัสดิการของข้าราชการและลูกจ้าประจำ หรือจากสำนักงานประกันสังคม และมาเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์อีกครั้ง เป็นเหตุให้บริษัทรับประกันภัยรถยนต์มักจะปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทรับประกันภัยรถยนต์จะพิจารณาการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทรับประกันภัยรถยนต์ จะพิจารณาการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัยตามที่ผู้ประสบภัยได้จ่ายจริง แต่จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาในความรับผิดทางละเมิดผู้เอาประกันภัยรถยนต์ยังต้องรับผิดจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัยอีกครั้ง แม้ผู้ประสบภัยจะใช้สวัสดิการ หรือสิทธิในค่ารักษาพยาบาลทางอื่น จะเห็นได้จากคำพิพากษา ดังต่อไปนี้

  1. กรณีใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการของข้าราชการและลูกจ้างประจำ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2530 “ค่ารักษาพยาบาลอันเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้ทางราชการจะจ่ายแทนโจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของจำเลย โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย ผู้ต้องรับผิดชอบฐานละเมิดได้”
  2. กรณีใช้ประกันภัยอุบัติเหตุ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 1027/2537 “แม้บริษัทประกันภัยที่โจทก์เอาประกันภัยไว้จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไปแล้ว อันเป็นสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสัญญาประกันภัย แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้อีก เพราะจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดที่ได้กระทำต่อโจทก์”
  3. กรณีใช้สิทธิเบิกจากสำนักงานประกันสังคม คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 5128/2546 “เงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เป็นการจ่ายเงินเพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จำเลยไม่อาจอ้างค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับดังกล่าวมาเพื่อขอลดหย่อนได้”

แนวคิดและหลักเกณฑ์ของต่างประเทศเกี่ยวกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิด

พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการสร้าง “กฎของแหล่งเงินและแหล่งประกัน” เพื่อป้องกันไม่ให้จำเลยได้รับประโยชน์จากสิทธิส่วนบุคคลหรือประกันภัย อันเป็นวิธียับยั้งไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนการกระทำผิดของจำเลย ในประเทศอังกฤษการพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของศาลจะคำนึงถึงนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นการปรามไม่ให้มีการกระทำผิด การชดใช้ค่าเสียหายเป็นการชดเชย และลงโทษจำเลย ผู้ประสบภัยจึงเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้อีกครั้ง ส่วนในประเทศญี่ปุ่นหากค่ารักษาพยาบาลเป็นการจ่ายจากสิทธิส่วนบุคคล หรือประกันภัยส่วนบุคคลของโจทก์ จำเลยยังต้องรับผิดจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ ซึ่งทั้งสามประเทศก็ได้ให้บริษัทรับประกันภัยรถยนต์ต้องร่วมรับผิดด้วย แต่ประเทศไทยยังขาดความชัดเจนเป็นเหตุให้บริษัทรับประกันภัยรถยนต์มักปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งบริษัทรับประกันภัยรถยนต์อาจพิจารณาว่า การที่ศาลให้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลเกนกว่าความเสียหายที่แท้จริงเปรียบเหมือนการลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ อันเป็นการป้องกัน และยับยั้งไม่ให้มีการกระทำความผิดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากหลักประกันภัยที่จ่ายตามความเสียหายที่แท้จริง ดังนั้น บริษัทไม่ต้องรับผิดค่ารักษาพยาบาลด้วย

ปัญหาการนำหลักชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริงมาใช้กับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย

โดยหลักการชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่แท้จริงของการประกันภัยเป็นข้อกำหนดมิให้ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ได้รับกำไรจากการเกิดวินาศภัยตามสัญญาประกันภัย การชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงนี้ยึดหลักปฏิบัติเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะเดิมเหมือนเมื่อก่อนเกิดวินาศภัย[1] โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกฑณ์ วิธีจ่าย และระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน นอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น ที่ใช้ในการควบคุมบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย กำหนดให้บริษัทจ่ายตามความเสียหายที่แท้จริง และในการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้ใช้ ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลและใบรับรองแพทย์ จากประกาศกระทรวงพาณิชย์เท่ากับว่า หากผู้ประสบภัยใช้ต้นฉบับใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาล และใบรับรองแพทย์มาเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยจากอุบัติเหตุ สวัสดิการข้าราชการ และลูกจ้างประจำ หรือสำนักงานประกันสังคม ก็ไม่สามารถนำสำเนาหลักฐานดังกล่าวข้างต้นมาเรียกร้องให้บริษัทรับประกันรถยนต์ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้อีก การที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดเช่นนี้ จะทำให้บริษัทรับประกันรถยนต์ปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้นำหลักการประกันภัยในเรื่องการชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริงมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 877 วรรคหนึ่ง (1) และศาลฎีกาได้นำมาปรับใช้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 4888/2558 “จำเลยที่ 1 เป็นผู้ละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 เพื่อคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย และทรัพย์สิน และมาตรา 877 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยแท้จริง…” จึงหมายความว่า เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบตามเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อจำนวนเงินวินาศภัยอันแท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ กรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ละเมิดระหว่างโจทก์ และจำเลยที่ 1 ระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เป็นเรื่องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับในส่วนที่เหลือ”

ปัญหาการปราศจากหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิด

กรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับค่ารักษาพยาบาลทางอื่นมาก่อน และมาเรียกจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ เนื่องจาก ในคดีละเมิดศาลฎีกาพิจารณาให้ผู้ประสบภัยสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดได้ แม้ผู้ประสบภัยจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากทางอื่นแล้ว และบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ควรต้องร่วมรับผิดด้วย แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมิได้กำหนดกรอบให้ชัดเจน จึงทำให้บริษัทรับประกันภัยรถยนต์อาจอ้างว่า บริษัทรับประกันอุบัติเหตุ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม มีสิทธิเรียกคืนเงินค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์มาปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อละเมิดให้แก่ผู้ประสบภัย และการที่ผู้ประสบภัยจะเรียกค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดจากบริษัทรับประกันภัยรถยนต์อีกครั้งหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า มีกฎหมายหรือเงื่อนไขในการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลจากผู้เอาประกันภัยที่ทำละเมิดด้วย เพราะบริษัทประกันภัยรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับผู้เอาประกันภัยในการจ่ายคืนค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละสิทธิก็มีความแตกต่างกันไป ดังนี้

  1. กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุจะมีทั้งแบบมีเงื่อนไขเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้ผู้ประสบภัยไปจากผู้ละเมิด และแบบไม่มีการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาล ขึ้นกับเงื่อนไขผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขาย หากเป็นแบบไม่มีการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลก็จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยที่สูง ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า มีการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดหรือไม่ กฎหมายถือว่า บริษัทรับประกันอุบัติเหตุมีสิทธิเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น เพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร์ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”
  2. กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ใช้สิทธิเบิกจากสวัสดิการของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลไปแล้ว และปรากฏว่า ผู้ที่มีสิทธิส่งคืนเงินเท่ากับจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด “เท่ากับว่าผู้ประสบภัยมีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิด และบริษัทรับประกันภัยรถยนต์ แต่เมื่อได้รับแล้วต้องส่งมอบเงินค่ารักษาพยาบาลคืนแก่กรมบัญชีกลางภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังต่อไป
  3. กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ใช้สิทธิเบิกจากสำนักงานประกันสังคม จะแบ่งวิธีเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ประสบภัยเกิดอุบัติเหตุเพราะทำงานให้นายจ้างจะจ่ายจากกองทุนทดแทนและจะไม่มีการเรียกคืนค่ารักษาพยาบาล ที่จ่ายให้ผู้ประสบภัยจากผู้ทำละเมิด ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 7 ได้บัญญัติว่า “การเรียกร้อง หรือการจะได้มาซึ่งสิทธิ หรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ จะไม่เป็นการตัดสิทธิ หรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมาย” ส่วนในกรณีผู้ประสบภัยเกิดอุบัติเหตุในขณะไม่ได้ทำงานให้นายจ้างจะจ่ายเงินจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งหากผู้ประสบภัยถูกทำละเมิดก็จะมีการเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้กระทำละเมิด ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 โดย “มาตรา 63 ได้บัญญัติว่า ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย และหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (7) ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นเงินเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ และเมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว สำนักงานก็มีสิทธิไล่เบี้ยผู้กระทำความผิดได้”[2]

[1] Supavech, U., 2008, Description of Civil and Commercial Law on Insurance. Bangkok Bhannakij. 1991. p.89

[2] ขอขอบคุณที่มาบทความ ปัญหาการเรียกค่ารักษาพยาบาลเพื่อละเมิดของผู้ประสบภัยในสัญญาประกันภัยรถยนต์. โดยสัจญาณ โสมเกษตรินทร์. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (สทมส.)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *