ทฤษฎีในเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อชายหญิงสมรสกันแล้ว ย่อมจะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันลึกซึ้งยิ่งกว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ รวมในทรัพย์สิน หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว และทรัพย์สิน[1]

การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยานั้นจำเป็นที่จะต้องมีเรื่องของทรัพย์สิน (Property) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นมาในภายหลัง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 จึงได้บัญญัติว่า “ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส”

ดังนั้น กฎหมายแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (Property of Husband Wife) ออกเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะเรียกว่า “สินส่วนตัว” (Separate Property) และทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และได้มาในระหว่างสมรสของสามีภริยาเรียกว่า “สินสมรส”

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมีอยู่ 4 ประเภท คือ สินเดิม สินสมรส สินส่วนตัว และสินบริคณห์ โดยสามีในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวมีอำนาจในการจัดการเป็นสำคัญ ต่อมากระแสแห่งความเท่าเทียมกันในสิทธิของสตรีถูกเรียกร้องจนได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติรับรองว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย” และต่อมา ยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะครอบครัว จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยให้สามีภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสร่วมกัน ยกเลิกการจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมของหญิงมีสามี ยกเลิกฐานะความเป็นหัวหน้าครอบครัวของสามีที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ กำหนดประเภททรัพย์สินระหว่างสามีภริยาใหม่ จากทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบรรพ 5 เดิม ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท เปลี่ยนแปลงมาเหลือเพียง 2 ประเภทตามบรรพ 5 ใหม่ ซึ่งแบ่งเป็น “สินส่วนตัว” และ “สินสมรส”

สินส่วนตัว

สินส่วนตัวนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1471 ได้บัญญัติไว้ ดังนี้

สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สิน

  • ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
  • ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
  • ที่เป็นของหมั้น

ทรัพย์สินที่ถือว่า เป็นสินส่วนตัวของสามีภริยา

  • ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามที่สามีหรือภริยามีอยู่ก่อนสมรสย่อมถือว่า เป็นสินส่วนตัวและไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีราคาหรือไม่ก็ตาม จะปรากฏหลักฐานทางทะเบียนหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่า เป็นสินส่วนตัวทั้งสิ้น การที่สามีและภริยาได้นำทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ร่วมกันหลังทำการสมรสแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด และในกรณีที่สามีภริยาได้นำเงินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ก่อนสมรส มาร่วมกันปลูกสร้างบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างนั้นต้องถือว่า เป็นกรรมสิทธิ์รวมกันของสามีและภริยา ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิคนละครึ่งหรือตามสัดส่วนมากน้อยแห่งเงินที่ร่วมก่อสร้างนั้น หรือในกรณีที่สามีภริยาอยู่กินกันก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินใด ๆ ที่สามีภริยาทำมาหาได้ร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส ถือว่า เป็นกรรมสิทธิ์รวมกันของทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น ๆ คนละครึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2534) ในส่วนของทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ญาติหรือเพื่อนฝูงมอบให้คู่สมรสก่อนจดทะเบียนสมรส ถ้าผู้ให้มุ่งประสงค์หรือตามสภาพแห่งสิ่งของนั้น จะให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว ทรัพย์สินหรือสิ่งของนั้นย่อมเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เว้นแต่เป็นการมอบให้ทั้งสามีและภริยา ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ให้จึงเป็นสินส่วนตัวระหว่างสามีภริยาคนละครึ่ง
  • ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นสินส่วนตัวเพราะเป็นของใช้ส่วนบุคคล และไม่ว่าจะได้มาหลังสมรสหรือจะใช้สินสมรส ซื้อหามาก็ตาม หากเป็นสิ่งของที่ได้มาตามควรแก่ฐานะของคู่สมรสนั้น ย่อมถือเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาทั้งสิ้น ในส่วนของเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ถึงแม้จะได้มาระหว่างสมรสหรือใช้สินสมรสซื้อมา แต่ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของสามีหรือภริยา ย่อมถือว่า เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เช่น การประกอบอาชีพตัดผ้าย่อมต้องมีจักรเย็บผ้า และกรรไกรตัดผ้า เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
  • ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา ในระหว่างสมรส ถ้าหากว่า สามีหรือภริยาได้รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินไม่ว่า จะได้มาในฐานทายาทโดยธรรม หรือในฐานะผู้รับพินัยกรรม หรือมีบุคคลใดได้ยกทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมถือว่า เป็นสินส่วนตัว ทั้งนี้ การที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันก็ถือว่า เป็นการให้โดยเสน่หาด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ หากเป็นการให้อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ส่วนอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อได้ส่งมอบสิ่งที่ให้ ในกรณีที่คู่สมรสได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาจากการจับรางวัล หรือรางวัลจากการเข้าแข่งขันต่าง ๆ สิ่งที่ได้มานั้นไม่ถือว่า เป็นสินส่วนตัว เพราะการได้รางวัลตามคำมั่นโฆษณาหรือการแข่งขันต่าง ๆ ต้องกระทำการอันใดอันหนึ่งก่อนเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน จึงจะได้รางวัล ส่วนการให้โดยเสน่หา ผู้รับไม่ต้องทำอะไรเป็นการตอบแทน ผู้ให้เพียงแต่ยอมรับเอาทรัพย์สินที่ให้ การให้โดยเสน่หาก็มีผลสมบูรณ์
  • ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น เนื่องจาก ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายสามีได้ส่งมอบ หรือโอนให้แก่ภริยาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานว่า จะสมรสกับภริยา การที่ภริยาได้รับทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นไว้ในเวลาหมั้นนั้น ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่ภริยาแล้วตั้งแต่วันหมั้น ของหมั้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ภริยามีอยู่ก่อนสมรส เมื่อได้ทำการสมรสแล้วเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็สิ้นสุดลงจึงสมควรให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ภริยาในฐานะสินส่วนตัว

สินส่วนตัวที่ได้เปลี่ยนมาเป็นอย่างอื่น

ในระหว่างสมรส ถ้าหากว่า สามีหรือภริยาได้นำสินส่วนตัวไปแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นหรือนำไปซื้อเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หรือนำไปขายได้เป็นเงินมา ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับช่วงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้น ยังคงถือว่า เป็นสินส่วนตัวอยู่ ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว”

แต่ในกรณีที่ได้นำเอาสินส่วนตัวที่ได้แลกเปลี่ยนมาเป็นทรัพย์อย่างอื่น หรือเป็นเงินแล้วนำมารวมกับสินสมรสจนเป็นทรัพย์สินอันใหม่ขึ้นมา ดังนี้ จะต้องใช้หลักเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน ซึ่งแต่ละคนย่อมมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากันกับทรัพย์อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1316

ในกรณีที่สินส่วนตัวได้ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่นหรือได้เป็นเงินมาแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้น ยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามที่มาตรา 1472 บัญญัติไว้ในวรรคที่สองว่า “สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว”

การจัดการสินส่วนตัว

ในการจัดการสินส่วนตัวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 ได้บัญญัติไว้ดังนี้ “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ” ทั้งนี้ เนื่องจาก ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว กฎหมายได้แยกออกต่างหากจากทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ดังนั้น อำนาจในการจัดการสินส่วนตัวหากเป็นของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมมีหน้าที่ในการจัดการในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน จึงย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

สินสมรส (Community Property)

หลังจากที่ชายหญิงได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ซึ่งต่างมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินทั้งหลายที่ทำมาหาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกันนั้น นอกจากที่จะได้แยกออกเป็นสินส่วนตัว ดังได้กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 แล้ว ทรัพย์สินนอกจากนั้นจึงเป็นสินสมรส ทั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้หามาได้ก็ตาม ย่อมถือว่า เป็นสินสมรสที่สามีและภริยาต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน ตามที่มาตรา 1474 ได้บัญญัติไว้ ดังนี้

สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สิน

  • ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
  • ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
  • ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส

สินสมรสจึงได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ คือ

  • ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามที่สามีภริยาทำมาหาได้ระหว่างสมรส ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นฝ่ายใดจะเป็นผู้หามาได้ก็ตาม ต้องถือว่า เป็นสินสมรสที่ทั้งสามีและภริยาต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เงินบำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด ค่าตอบแทน ค่าชดเชย เงินรางวัลการเสี่ยงโชค ถ้าคู่สมรสมีทรัพย์สินร่วมกันก่อนสมรสทรัพย์สินดังกล่าวไม่ถือว่า เป็นสินสมรส ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2534 วินิจฉัยว่า “สินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้ทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรส กลายเป็นสินสมรสเมื่อได้มีการสมรสไม่” แต่ถ้าหากได้มีการนำเอาสินส่วนตัวมารวมกับสินสมรสจึงต้องอาศัยหลักวินิจฉัยในเรื่องส่วนควบ คือ เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น หากจะแบ่งแยกต้องแยกเป็นสินส่วนตัวออกก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นสินสมรสที่ทั้งสามีและภริยามีสิทธิได้คนละครึ่ง ทั้งนี้ ถ้าหากว่า สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินด้วย หากไม่เป็นการทำมาหากินได้ด้วยกัน สามีหรือภริยาจึงไม่อาจเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินนั้นได้ แต่ถ้าหากได้ช่วยกันทำมาหาได้ ทรัพย์สินดังกล่าวก็เป็นเพียงทรัพย์สินที่ชายหญิงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเสมือนหนึ่งชายหญิงนั้นเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน โดยนำหลักกฎหมายในเรื่องห้างหุ้นส่วนบริษัทมาเทียบเคียง ดังเช่นคำพิพากษาฎีกาที่ 5438/2537 วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แม้ตามกฎหมายจะไม่ถือว่า เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก็ตาม แต่ก็หากกระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยจะพึงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่โจทก์และจำเลยอยู่กินและมีบุตรด้วยกัน 4 คน โจทก์เป็นแม่บ้านมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ส่วนจำเลยเป็นผู้ทำมาค้าขายแล้วออกเงินซื้อที่ดินและบ้านพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยกันตลอดมา พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่า โจทก์กับจำเลยร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน
  • ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่า เป็นสินสมรส ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทรัพย์สินมาระหว่างสมรส ไม่ว่าจะโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อในพินัยกรรมหรือในหนังสือยกให้ระบุว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส ทรัพย์สินดังกล่าวจึงย่อมเป็นสินสมรส การให้ทรัพย์สินที่จะเป็นสินสมรสได้ จะต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น และถึงแม้ว่า การให้อสังริมทรัพย์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ต้องทำหนังสือและจดทะเบียนจะสมบูรณ์เมื่อส่งมอบก็ตาม หากจะให้เป็นสินสมรส ก็ต้องทำเป็นหนังสือระบุว่า เป็นสินสมรสด้วย
  • ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายนั้น ย่อมเป็นเจ้าของและถือกรรมสิทธิ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากสินส่วนตัวอันเป็นดอกผลของทรัพย์นั้น กฎหมายบัญญัติให้ถือว่า เป็นสินสมรส ดอกผลของทรัพย์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 ได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น และดอกผลอีกประเภทหนึ่ง คือ ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีเงินฝากในธนาคารอยู่ก่อนสมรสจำนวนหนึ่ง หรือในกรณีที่คู่สมรสมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนสมรส ซึ่งถือว่า เป็นสินส่วนตัว ดอกเบี้ยเงินฝากหรือลูกของสัตว์ที่ออกมาภายหลังที่ได้รับหลังสมรส ย่อมถือว่า เป็นดอกผลของสินส่วนตัว จึงเป็นสินส่วนตัวที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีสิทธิได้รับคนละครึ่ง แต่ในกรณีที่ทรัพย์สินส่วนตัวได้มีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมหลังการสมรสนั้น เช่น เดิมมีที่ดินเป็นสินส่วนตัว ต่อมาหลังสมรสแล้ว ที่ดินมีราคาแพงขึ้น ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมานี้ไม่ถือเป็นดอกผลของที่ดิน

กรณีที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างใดเป็นสินสมรส หรือเป็นสินส่วนตัว กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 วรรคสอง เพราะบางครั้งสามีภริยาอยู่กินด้วยกันเป็นเวลานาน ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ทำมาหาได้มีจำนวนมากจนพิสูจน์ไม่ได้ว่า ทรัพย์สินเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรส จึงต้องให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส


[1] โชค จารุจินดา, 2516 หน้า 75.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *