วรรณกรรมมุขปาฐะตำนานเมืองหริภุญไชยสู่จามเทวีวงศ์

จามเทวีวงศ์มีเค้ามาจากตำนานพระนางจามเทวีและการสถาปนากรุงหริภุญไชย ในระยะแรกอาจเป็นเพียงวรรณกรรมมุขปาฐะ หรือเรื่องเล่าที่มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวลำพูน โดยยังไม่มีการบันทึกเป็นตัวอักษร จนกระทั่งเมืองหริภุญไชยหรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบันกลายเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของเมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยของพระยามังรายมหาราชซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัย ต่อมา ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชซึ่งช่วงสมัยของพระองค์ตรงกับสมัยอยุธยาจึงเกิดคัมภีร์จามเทวีวงศ์ขึ้น โดยพระโพธิรังสีเป็นผู้ประพันธ์ด้วยภาษาบาลีจารเป็นอักษรธรรม (อักษรล้านนา) มีทั้งหมด 15 ปริเฉท ปัจจุบันมีบางปริเฉทชำรุดและขาดหาย ซึ่งหากจะศึกษาจามเทวีวงศ์ให้สมบูรณ์จึงสามารถศึกษาได้จากคัมภีร์หรือวรรณกรรมพุทธศาสนาล้านนาที่แต่งขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันและมีข้อมูลสอดคล้องกัน คือ คัมภีร์มูลศาสนา และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเหตุที่จามเทวีวงศ์ประพันธ์ด้วยบาลีว่า ด้วยพุทธศาสนาในล้านนาหรือมณฑลพายังเป็นลังกาวงศ์ (พุทธศาสนาเถรวาทที่มาจากลังกา) จึงใช้บาลีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพุทธศาสนา เนื่องจาก บาลีเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์เหมาะสมสำหรับการจดบันทึกเหตุการณ์ทางพุทธศาสนา

เรื่องราวต่าง ๆ ในจามเทวีวงศ์ล้วนบอกเล่าถึงความเชื่อทางศาสนาซึ่งมิได้มีเพียงแต่พุทธศาสนาเท่านั้น แต่มีปรากฏความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เช่นการที่นางเนื้อทรายกินอสุจิที่ปะปนกับมูลของฤษีวาสุเทพเข้าไปแล้ว เกิดตั้งท้องและให้กำเนิดทารกชายหญิงคู่หนึ่ง เนื้อหาในส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับทรรศนะของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่เชื่อว่า บุรุษสามารถให้กำเนิดบุตรได้โดยไม่ต้องอาศัยรังไข่ของสตรี ถ้าหากมีเชื้อพันธุ์ที่มีพลังสูงส่งจากการบำเพ็ญเพียรตบะ ดังนั้น ในวรรณกรรมของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู จึงปรากฏตำนานที่ว่า ฤษีหลั่งอสุจิออกมาแล้วกลายเป็นเด็กทารก เช่น ฤษีภารธวัช ในมหากาพย์มหาภารตะที่เห็นนางไม้ แล้วเกิดกำหนัดจึงหลั่งอสุจิหยดลงบนภาชนะกลายเป็นโทรณาจารย์ซึ่งเป็นฤษีที่ชำนาญธนูและเป็นพระอาจารย์ของอรชุน

เรื่องราวเหล่านี้อาจมิได้มีมาตั้งแต่จามเทวีวงศ์เป็นเพียงวรรณกรรมมุขปาฐะ แต่น่าจะมาปรากฏตอนที่บันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนาแล้ว เพราะบางเรื่องมีความเป็นเทพนิยายเกินไป เช่น เด็กชายหญิงที่กำเนิดขึ้นจากรอยเท้าของสัตว์ 4 คู่ เป็นต้น เหตุการณ์นี้ตรงกับความเชื่อในพุทธศาสนาที่มีความเชื่อเรื่องของโปปาติกะ คือ การเกิดขึ้นด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดา ดังเช่น นางอัพปาลิกา หรือพระอัมพปาลีเถรี ผู้เกิดขึ้นจากโคนต้นมะม่วงในสวนกรุงเวสาลี เรื่องของโอปปาติกะยังมีความคล้ายคลึงกับคติเรื่องสยัมภูในคติศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ดังปรากฏในมหากาพย์มหาภารตะที่กล่าวถึงการกำเนิดของพระปชาบดี (พระพรหม) ไว้ว่า ตอนแรกทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ความมืดมิดและแล้วสิ่งหนึ่งก็บังเกิดขึ้น คือ ไข่ฟองขนาดมหึมา อันเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งอันไม่มีวันสิ้นสุด จากนั้น เปลือกไข่ได้แตกออกบังเกิดเป็นพระประชาบดีผู้เป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ และทรงให้กำเนิดสิ่งต่าง ๆ จากพระองค์ เช่น พระมนู พระทักษะ บุตรชายทั้ง 7 พระอัศวินฝาแฝด พระอาทิตย์ และพระปิตฤ แล้วจึงให้กำเนิดแผ่นน้ำ แผ่นดิน อากาศ ท้องฟ้า ทิศต่าง ๆ ปีฤดูกาล เดือน ปักษ์ กลางวัน และกลางคืน จักเห็นว่า พระประชาบดีได้ถือกำเนิดโดยไม่อาศัยพระบิดาและพระมารดา คือ พระองค์ทรงเป็นสยัมภูหรือกำเนิดด้วยตนเองเช่นกัน

กล่าวได้ว่า เหตุการณ์บางส่วนในคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่องนี้มีความเป็นพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ปะปนอยู่ แต่พุทธศาสนามีความโดดเด่นกว่า ส่วนที่กล่าวว่า ความเป็นศาสนาพรามหณ์ – ฮินดู นั้นน่าจะปรากฏขึ้นในช่วงที่พระโพธิรังสีประพันธ์ก็เนื่องจากจามเทวีวงศ์ที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนานี้ประพันธ์ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งมีคติทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูเข้ามาปะปนบ้างแล้ว เช่น คติเทวราชาของล้านนาก็มีอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูเข้ามาปะปนบ้างแล้ว เช่น คติเทวราชาของล้านนาก็มีอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู หากเนื้อหาบางส่วนสอดคล้องกับมหาภารตะเช่นนี้ ด้วยแสดงว่า ผู้ประพันธ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูพอสมควร แต่ข้อสงสัยที่ว่า มหาภารตะมีความนิยมในอาณาจักรล้านนาด้วยหรือไม่ ไม่ได้มีหลักฐานรองรับ หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่า เนื้อหาในส่วนหนึ่งไปตรงโดยบังเอิญ

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจสำหรับจามเทวีวงศ์บาลีอักษรธรรมล้านนา คือ เหตุใดคัมภีร์นี้ จึงมีการจารขึ้นในสมัยที่เมืองเชียงใหม่ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา อาจเป็นไปได้ว่า คัมภีร์จามเทวีวงศืจารขึ้นในสมัยของพระเจ้าติโลกราชนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง เพราะจามเทวีวงศ์เป็นเรื่องราวตำนานของหริภุญไชยซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่ ในขณะนั้น แสดงว่า ผู้ปกครองในสมัยนั้นให้อิสระต่อพระภิกษุผู้สนใจจารตำนานเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา และในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชเป็นช่วงที่คัมภีร์พุทธศาสนาและวรรณกรรมพุทธศาสนาล้านนาประพันธ์มากที่สุด ถือว่า เป็นยุครุ่งเรืองของวรรณกรรมและคัมภีร์พุทธศาสนาล้านนา[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ จามเทวีวงศ์ : ความผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเชิงพุทธศาสนา โดยชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *