พระศิวะในยุคพระเวท ความเป็นปรมาตมันของพระศิวะ

ในยุคพระเวท “พระศิวะ” ได้ถูกกล่าวถึงในพระนามที่ชื่อ “รุทระ” ซึ่งในคัมภีร์สมัยหลังลงมาอย่างศตปถพราหมณะ ได้แต่งตำนานย้อนกลับไปอธิบายถึงชื่อดังกล่าวว่า ประชาบดีได้ให้กำเนิดกุมาร 1 องค์ แล้วได้ประทานชื่อให้วา “รุทระ” อันแปลว่า “ร้องไห้” เนื่องจากตอนที่กุมารนั้นถือกำเนิดได้ส่งเสียงร้องไห้อย่างหนัก

รุทระ (พระศิวะ) ในยุคพระเวทนี้ ถือได้ว่า เป็นเทพพระเจ้าแห่งความชั่วร้าย ประทานความตายและโรคภัยให้แก่ศัตรูของผู้วอนขอ โดยในคัมภีร์อาถรรพเวทได้ระบุว่า รุทระ เป็นเทพที่ครองฟ้า แผ่นดิน และอากาศ ซึ่งไปพ้องกับพระอัคนี ผู้เป็นไฟอยู่บนฟ้า (ดวงอาทิตย์) ไฟที่อยู่ในอากาศ (ฟ้าแลบ) และเปลวไฟที่อยู่บนพื้นดิน ด้วยเหตุนี้ จึงจัดได้วา ทั้งรุทระและอัคนีเป็นเทพองค์เดียวกันด้วย และในคัมภีร์เดียวกัน ก็ยังได้เริ่มปรากฏการเรียกชื่อรุทระว่า “ศิวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “พระผู้เป็นมงคล” เนื่องด้วย พระองค์ได้อำนวยความเจริญอันเป็นมงคลให้แก่ผู้วอนขอด้วยเช่นกัน

ในยุคอุปนิษัท ศาสนาพระเวทได้เริ่มมีพัฒนาการทางด้านปรัชญาขึ้นใหม่ โดยมองว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนคือ “ปรมาตมัน” ที่แบ่งภาคลงมาเป็นอาตมัน โดยปรมาตมันและอาตมันนี้ ต่างก็บริสุทธิ์เหมือนกัน แต่เมื่อใดที่อาตมันถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมิดของมายา อาตมันจะต้องร้องขอความช่วยเหลือจากครู ให้ช่วยขัดเกลาจนบริสุทธิ์ จึงจะสามารถกลับไปรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันได้ ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวนี้ ได้ก่อให้เกิดแนวคิดว่าด้วยพระพรหม ผู้เป็นบุคลาธิษฐานของปรมาตมัน โดยในสมัยต่อมา อย่างปุราณะ พระศิวะ และพระวิษณุ ต่างก็จะได้ช่วงชิงตำแหน่งปรมาตมันดังกล่าวนี้

ในยุคมหากาพย์ ได้ปรากฏตำนานอยู่ในมหาภารตะ ว่าด้วยเชื้อของรุทระ ที่ตกลงมายังโลก ซึ่งความร้อนแรงของเชื้อดังกล่าว แม้แต่พระอัคนีก็ยังไม่สามารถรองรับได้ไหว จึงต้องยอมปล่อยให้ตกลงไปยังแม่น้ำคงคา ส่งผลให้เชื้อดังกล่าว อุบัติขึ้นเป็นพระสกันทะในที่สุด

ในยุคปุราณะ ได้ปรากฏตำนานเกี่ยวกับรุทระต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถือกำเนิดขึ้นของพระองค์ ดังที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มารกัณเฑยะปุราณะ ความว่า พระพรหมให้กำเนิดกุมารขึ้นมา 1 องค์ แต่เนื่องจากกุมารองค์ดังกล่าวร้องไห้เสียงดังมาก พระพรหมจึงประทานพระนามให้ว่า “รุทระ” ซึ่งตำนานดังกล่าวนี้ มีเนื้อหาที่พ้องกันกับในคัมภีร์ศตปถาพราหมณะที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้า

ส่วนในคัมภีร์วิษณุปุราณะ ได้กล่าวถึงการถือกำเนิดขึ้นของรุทระแตกต่างออกไปจากคัมภีร์มารกัณเฑยะปุราณเล็กน้อย โดยกล่าวว่า พระพรหมได้สร้างกุมารขึ้นมาจำนวนหนึ่ง โดยหวังให้กุมารเหล่านี้ไปทำการเนรมิตสร้างโลกต่อไป แต่เหล่ากุมารกับหมกมุ่นอยู่กับการบำเพ็ญเพียร ละเลยการสร้างโลกตามที่พระพรหมได้คาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ พระพรหมจึงพิโรธยิ่งนัก จนความพิโรธดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นเป็นพระรุทระ ที่พุ่งผงาดออกมาจากกลางพระนลาฏของพระพรหม

ความเป็นปรมาตมันของพระศิวะ

พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะต่างก็ได้ช่วงชิงความเป็นปรมาตมัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต่างก็ได้ช่วงชิงการเป็นเทพเจ้าสูงสุดเอาไว้ สำหรับไศวะนิกายนั้น ความเป็นปรมาตมันของพระศิวะ ได้แสดงอยู่ในสภาวะไร้รูป แต่เมื่อพระองค์ต้องแบ่งภาคลงมา พระองค์ก็จะแสดง “รูป” เป็นภาคปรากฏใน 2 ลักษณะ คือ 1) ปรากฏเป็นธาตุต่าง ๆ ในธรรมชาติ ได้แก่ ลม ไฟ ดิน น้ำ และอากาศ และ 2) ปรากฏเป็นพราหมณ์ 5 คน ที่เมื่อรวมตัวอยู่ด้วยกัน จะหันหน้าออกไปยังทิศต่าง ๆ ได้แก่ “ตัตปรุษ” หันหน้าไปทิศตะวันออก “อโฆระ” หันหน้าทิศใต้ “สัทโยชาต” หันหน้าไปทิศตะวันตก “วามเทพ” หันหน้าไปทิศเหนือ และ “อีศาน” หันหน้าไปทิศเบื้องบน ซึ่งหากแต่ละพระองค์ปรากฏ “รูป” เดี่ยวก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก ได้แก่ มหาเทพ ไภรวะ นนทพักตร์ อุมาพักตร์ และสทาศิวะ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ปรมาตมัน ยังจะต้องมีหน้าที่ที่ต้องกระทำต่อโลกอยู่ด้วยกันอีก 5 ประการ คือ รักษา ทำลาย สร้าง สร้างมายา โดยทุกภาคปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ ล้วนเป็นมายาของพระองค์ทั้งสิ้น และ กระทำอนุเคราะห์ กล่าวคือ เป็นการประทานโมกษะนั่นเอง ซึ่งหน้าที่ทั้ง 5 ประการดังกล่าวนี้ รวมแล้วเรียกว่า “ปัญจกริยา” และเป็นภาระหน้าที่ของปัญจพราหมณ์แต่ละตนตามลำดับ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

ปัญจทิศปัญจพราหมณ์ปรากฏเดี่ยวปัญจธาตุปัญจกริยา
ตะวันออกตัตปรุษมหาเทพลมรักษา
ใต้อโฆระไภรวะไฟทำลาย
ตะวันตกสัทโยชาตนนทิพักตร์ดินสร้างมายา
เหนือ วามเทพ อุมาพักตร์ น้ำ สร้าง
บน อีศาน สทาศิวะ อากาศ กระทำอนุเคราะห์
แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างพระสทาศิวะและสิ่งต่าง ๆ

ในคัมภีร์อาคมของไศวนิกายทั้งหลาย ต่างก็ระบุว่า พระสทาศิวะเป็นภาคปรากฏสุงสุดของพระศิวะ ดังนั้น พระสทาศิวะจึงมีสถานะเฉกเช่นเดียวกันกับปรมาตมัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พระสทาศิวะก็คือ ปรมาตมันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ปัญจทิศ ปัญจพราหมณ์ ปัญจธาตุ และปัญจกริยา ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพระสทาศิวะทั้งสิ้น โดยในแต่ละคัมภีร์จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน [1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *