แนวคิดเรื่องการสร้างโลกจากบริบทในคัมภีร์ฤคเวท

ลักษณะที่เด่นชัดที่นักวิชาการอินเดียศึกษาเห็นร่วมกันก็คือ เดิมชาวอารยันบูชาธรรมชาติ เพราะรู้สึกหวาดกลัวธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพายุแรง ทำให้ชาวอารยันต้องหันไปบูชาเพื่อมิให้ธรรมชาติทำร้ายพวกตน แต่ต่อมา เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนอารยันก็คิดว่า ธรรมชาติแต่ละชนิด เช่น ลม ไฟ น้ำ น่าจะมีเทพเจ้าอยู่เบื้องหลัง จึงหันมาพัฒนาความคิดว่า มีเทพเจ้าอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพายุแรง ฯลฯ แล้วก็หันไปบูชาเทพเจ้าเหล่านี้แทน ทำให้เกิดมีเทพประจำธรรมชาติ เช่น เทพวรุณ (ฝน) เทพมารุต (ลม) เจ้าแม่ปฤถิวีหรือเจ้าแม่ธรณี เทพอัคนี (ไฟ) สูรยเทพ (เทพแห่งดวงอาทิตย์) เทพอินทระ (ฟ้าผ่า/ฟ้าร้อง) เป็นต้น

ปรากฏการณ์นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เป็นการพัฒนาธรรมชาติให้กลายเป็นเทพเจ้า จึงมีเทพเจ้าที่ชาวบ้านเคารพนับถือเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ศาสนาสมัยพระเวทช่วงแรก ๆ พัฒนาจากการบูชาธรรมชาติมาเป็นประเภทพหุเทวนิยม ซึ่งหมายถึง พากันนับถือเทพเจ้าจำนวนมาก ในคัมภีร์ฤคเวทมีสูกตะบางสูกตะที่อธิบายต้นกำเนิดเหล่าเทพเจ้าทั้งหลายแตกต่างกัน

ปุรุษสูกตะ

ปุรุษสูกตะ (ฤคเวทเล่ม 10 บทสวดที่ 90) สูกตะนี้เป็นสูกตะที่มีนักศึกษาอินเดียศึกษารู้จักและกล่าวถึงมากที่สุด เพราะเป็นต้นกำเนิดของระบบวรรณะทั้ง 4 ในอินเดีย พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบวรรณะในอินเดียปรากฏเป็นครั้งแรกในสูกตะนี้ สูกตะนี้มีทั้งหมด 16 บท มุ่งอธิบายว่า ทวยเทพในสากลจักรวาลได้นำปุรุษะ (บุรุษในจักรวาล) มาบูชายัญ โดยในการนำปุรุษะมาทำพิธีบูชายัญดังกล่าวนี้ สูกตะหรือบทสวดต่าง ๆ ในคัมภีร์พระเวททั้งหลายก็ได้รับการสร้างให้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกด้วย ม้า และวัว ทั้งหลายก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากสูกตะนี้ คนในวรรณะทั้ง 4 ได้ถือกำเนิดจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายปุรา ตามบริบทว่า พฺราหฺมโนสฺยฺ มุข อาสิตฺ ราชนฺยะ กฤตะ/อูรู ตทฺ อสฺย ยทฺ ไวษฺยะ ปทภฺยามฺ ทฺโร อชายต พวกพราหมณ์ออกมาจากปากของพระองค์พวกราชันยะ หรือกษัตริยะออกมาจากพระพาหาของพระองค์ พระไวษยะ (แพศย์) ออกมาจากต้นขาของพระองค์ พวกศูทรได้ออกจากพระบาทของพระองค์

ไม่เพียงแต่คนในวรรณะทั้ง 4 เท่านั้น ธรรมชาติต่าง ๆ ในจักรวาลนี้ก็ถือ กำเนิดมาจากร่าง “ปุรุษะ” ที่ถูกจับมาบูชายัญนี้ด้วย เช่น พระจันทร์ก็ถือกำเนิดมาจากวิญญาณของปุรุษะ พระอาทิตย์ถือกำเนิดมาจากลูกนัยน์ตาของปุรุษะ สวรรค์ของเทวดาทั้งหลายถือกำเนิดมาจากกะโหลกศรีษะของตัวปุรุษะ ส่วนพระอินทร์ และพระอัคนีถือกำเนิดมาจากปากของปุรุษะ กล่าวได้ว่า ทั้งโลกสวรรค์ทั้งเทวดาทั้งมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายต่างเกิดขึ้นมาจากการจับ “ปุรุษะ” มาบูชายัญในครั้งนี้นั่นเอง

แต่คำถามที่ตอบยังไม่ได้ก็คือ “เหล่าทวยเทพ” ที่พากันจับ “ปุรุษะ” (บุรุษในจักรวาล) นี้มาทำพิธีบูชายัญเป็นกลุ่มเทพกลุ่มไหน? เพราะกลุ่มเทพที่มีบทบาทในสมัยฤคเวทมากที่สุด ล้วนเป็นกลุ่มเทพที่ออกมาจากการจับปุรุษะนี้มาบูชายัญ ดูเหมือนว่า คัมภีร์ฤคเวทและคัมภีร์พราหมณะที่ให้คำอธิบายเรื่องนี้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และการที่พระอินทร์และพระอัคนีถือกำเนิดมาจากปุรุษสูกตะในฤคเวท เล่ม 10 บทสวดที่ 90 นี้แสดงให้เห็นว่า เทพเจ้าองค์อื่น ๆ เช่น โสมะ ปฤถิวี สรัสวดี อทิติ มิตระก็น่าจะถือกำเนิดมาจากปากของปุรุษะเหมือนพระอินทร์และพระอัคนีที่กล่าวถึงในสูกตะนี้ด้วย

เนื่องจาก ธรรมชาติที่คนอารยันอินเดียในสมัยโบราณมีความหวาดกลัว หรือเคารพนับถือมีจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ยกย่องเทวดาต่าง ๆ ตามความสนใจของแต่ละบุคคลใครชอบเทวดาองค์ไหน ก็เลือกบูชาเทวดาองค์นั้น เทวดาบางตนมีคนนับถือมาก บางตนมีคนนับถือน้อย ด้วยเหตุนี้ เมื่อนับจำนวนสูกตะ (บทสวด) แล้ว เทพต่าง ๆ มีจำนวนสูกตะในคัมภีร์พระเวทมากน้อยต่างกัน แสดงให้เห็นความนิยมที่มีต่อเทพองค์นั้น ๆ เช่น พระอินทร์มี 289 บทสวด พระอัคนีมี 218 บทสวด พระโสมะ 123 บทสวด พระวิศวะ มี 70 บทสวด พระอัศวิน มี 56 บทสวด พระวรุณ มี 46 บทสวด เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า พระอินทร์มีชาวอารยันอินเดียสมัยนั้นเคารพบูชามากกว่าเทพองค์อื่น ๆ

อัศยวามัสยสูกตะ

อัศยวามัสยสูกตะ หลังจากมีเทพเจ้าเกิดขึ้นมากมาย ด้วยเหตุผลข้างต้น ชาวอารยันอินเดียได้พัฒนาความเชื่อไปอีกอย่าง นั่นก็คือ นับถือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้สูงสุดในจักรวาล เป็นไปได้ว่า เมื่อมีการนับถือเทพเจ้าต่าง ๆ หลายพระองค์แล้ว จะเกิดการกล่าวอวดแบ่งหรือสบประมาทกันว่า เทพเจ้าที่ตนนับถือสูงส่งกว่าเทพเจ้าองค์อื่น ๆ โดยเฉพาะเทพเจ้าที่มีคนนับถือน้อยกว่าก็อาจจะถูกปรามาสเอาได้ ในที่สุด ก็เกิดปรากฏการณ์แนวโน้มที่ผู้คนจะเอนเอียงไปนับถือเทพเจ้าในลักษณะเอกเทวนิยมขึ้นมา เห็นได้จากสูกตะ อินฺทรํ มิตฺรํ วรุณํ อคฺนึ อาหุรโถ ทิวยะ ส สุปรฺโณ ครุตฺมานฺ/เอกํ สตฺ วิปฺรา พหุธา วทนฺตยคฺนึม ยมมฺ มาตฤษวานํ อาหะ “ผู้คนพากันเรียกท่านว่า พระอินทร์บ้าง พระมิตระบ้าง พระวรุณะบ้าง พระอัคนีบ้าง เป็นพญาครุฑผู้เป็นทิพย์สูงส่งบ้าง แม้ว่าแท้จริงแล้ว ความจริงมีเพียงหนึ่ง แต่พราหมณ์ทั้งหลาย พากันเรียกชื่อแตกต่างกันไปเป็นพระอัคนี พระยมและพระมาตฤษวาน”

สูกตะในคัมภีร์ฤคเวทนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเคารพนับถือเทพเจ้าแตกต่างกันแล้ว สังคมอาจจะมีความแตกแยกภายในเพราะศรัทธาในเทพเจ้าที่แตกต่างกัน ทำให้ความคิดเห็นที่แตกต่าง อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกตามมา จึงทำให้พราหมณ์ระดับแกนนำในสังคมอินเดียสมัยนั้นพยายามชี้แจงว่า แม้ชื่อเทพเจ้าที่นับถือทั้งหลายจะต่างกัน ชื่อที่ต่างกันเหล่านี้เพียงสมมติขึ้นในแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แท้จริงแล้วเทพเจ้าที่เรียกชื่อต่างกันเหล่านี้ก็คือเทพองค์เดียวกันซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สร้างจักรวาลนี้นั่นเอง

นอกจากข้อความที่ว่า เอกมฺ สตฺ วิปฺปรา พหุธา วทนฺติ ที่ปรากฏในฤคเวทข้าวต้นแล้ว ยังมีข้อความที่ปรากฏบ่อยในคัมภีร์ฤคเวทอีกประโยค คือ เอกเมว อทฺวิตฺยมฺ “เทพเจ้าสูงสุด เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสอง” และปรากฏในคัมภีร์อุปนิษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะคัมภีร์ฉานโทคยอุปนิษัท “อสทฺ เอเวทมฺ อคฺค อาสีตฺ เอกม เอวาทวิตียมฺ ในเบี้องต้น สิ่งนี้ เป็นสิ่งดำรงอยู่ไม่มีตัวตนเพียงสิ่งเดียว สิ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีสอง”

สูกตะนี้ยังแสดงให้เห็นว่า 1. ชาวอารยันอินเดียสมัยพระเวทได้พากันนับถือเทพเจ้าคนละองค์ และอาจจะต้องมีการอ้างเทพเจ้าของตนข่มคนอื่นด้วย 2. แนวโน้มที่จะพัฒนาความเชื่อจากพหุเทวนิยมไปสู่แนวทางของเอกเทวนิยม (นับถือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงองค์เดียว) ได้ก่อเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยพระเวทช่วงแรก ๆ 3. การพัฒนาแนวคิดเรื่องการอวตารของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดไปเป็นภาคต่าง ๆ หมายถึง การไปปรากฏตัวเป็นชื่อเทพต่าง ๆ ในแต่ละแห่งของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลจักรวาล น่าจะพัฒนาไปจากสูกตะนี้

นาสทียสูกตะ

นาสทียสูกตะ สูกตะนี้ เป็นสูกตะที่พยายามอธิบายลักษณะตัวตนของพระเจ้า หรือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลจักรวาล และเป็นผู้สร้างสากลจักรวาลนี้ด้วย แต่พราหมณ์ผู้แต่งคัมภีร์อธิบายก็มิได้ให้ความกระจ่างอะไรมากนัก ข้อความสูกตะในคัมภีร์ฤคเวทมีอยู่ว่า น อสตฺ น อุ สตฺ อาสีตฺ ตทานีมฺ น มฤตฺยุหฺ อาสีตฺ อมฤตมฺ น ตรฺหิ/ “ผู้ไม่มีตัวตนอยู่ ไม่ใช่ไม่ดำรงอยู่ ไม่ใช่ว่าผู้ดำรงอยู่ จะไม่ดำรงอยู่ขณะนั้น ไม่ใช่ความตายดำรงอยู่ ไม่ใช่ผู้ไม่ตาย ไม่ดำรงอยู่ในขณะนั้น” อานีตฺ อวาตมฺ สฺวธยา ตตฺ เอกมฺ ตปสะหฺ ตตฺ มหินา อชายต เอกมฺ/ “เทพเจ้าพระองค์เดียวนั้น หายใจโดยปราศจาก การหายใจ เทพเจ้าองค์เดียวนั้นได้ถือกำเนิดมาจากความร้อน (ตบะ)”

สูกตะข้างต้นนี้ มีนักวิชาการตีความเนื้อหาไปต่าง ๆ มาก เนื่องจาก คำอธิบายในสูกตะนี้ไม่มีความชัดเจน คัมภีร์ฤคเวทไม่สามารถอธิบายได้ว่า เทพเจ้า หรือพระเจ้าผู้สร้างจักรวาลนั้น มีตัวตนอยู่ในลักษณะใด จึงบอกได้แค่ว่า เทพเจ้าหรือพระเจ้าผู้สร้างสากลจักรวาลนี้จะดำรงอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่ดำรงอยู่ก็ไม่ใช่ จะบอกว่า มฤตะก็ไม่ใช่ อมฤตะก็ไม่ใช่ แต่ทว่าพระองค์ทรงเกิดมาจากตบะ คือ ความร้อน โดยมีความอยาก (กาม) เป็นเมล็ดพันธุ์ชิ้นแรกที่ก่อเกิดในใจของพระองค์ ผู้ที่ค้นพบการมีอยู่ของกามในใจพระองค์ คือ กลุ่มฤษีจากตระกูลกาวยะ

ประชาปติสูกตะ

ประชาปติสูกตะ เป็นสูกตะที่อธิบายถึงเทพเจ้า หรือพระเจ้าผู้สร้างโลกว่า มีชื่อเรียกว่า “ประชาบดี” (เจ้าแห่งหมู่สัตว์) ซึ่งพราหมณ์สมัยพระเวทเชื่อว่า เป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์ และอยู่เหนือเทพเจ้าทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน คัมภีร์ในชั้นหลังยังสรุปด้วยว่า ท้าวประชาบดีนี้เอง คือ “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้าผู้สร้างโลก” ที่ปรากฏอยู่ในนาสทียสูกตะข้างต้น พูดอีกนัยก็คือ คำว่า “ประชาบดี” คือ ชื่อเรียกพระเจ้า หรือเทพเจ้าผู้สร้างโลกที่มีกล่าวถึงในนาสทียสูกตะนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า สูกตะนี้กับนาสทียสูกตะมีความสัมพันธ์กัน โดยพราหมณ์ผู้แต่งอาจมาจากตระกูลเดียวกันหรือสายเดียวกันก็ได้

หิรันยครรภสูกตะ

หิรันยครรภสูกตะ สูกตะนี้อธิบายการสร้างโลกในอีกแบบกล่าวคือ อธิบายไปว่า กำเนิดของโลกและสรรพสัตว์มาจากไข่เงินไข่ทองที่เรียกว่า “หิรันยครรภะ” แรกเริ่มเดิมที ไข่เงินไข่ทองลอยอยู่บนมหาสุมทรท่ามกลางความมืด และความว่างเปล่ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี จากนั้น ก็แตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกชื่อว่า “สวรรค์” หรือ “สวรฺค” และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของภาคพื้นดินที่เรียกว่า “ปฤถวี” ข้อสำคัญ สูกตะนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า คำว่า “หิรันยครรภะ” นี้แท้จริงแล้ว คือ ประชาบดีผู้สร้างจักรวาล เป็นอีกพระนามของพระเจ้า หรือเทพเจ้าผู้สร้างโลก ต่อมา คัมภีร์มนูสมฤติ ได้อธิบายชัดเจนว่า “หิรันยครรภะ” คือ “พระพรหม” ผู้สร้างโลก

เราพอจะสรุปได้ว่า ในยุคสมัยฤคเวทนั้น แนวความเชื่อเรื่องพระเจ้าหรือเทพเจ้าผู้สร้างจักรวาลได้รับ การพัฒนาขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยคงจะเริ่มมาจากการนับถือเทพเจ้า ในลักษณะพหุเทวนิยมที่พัฒนาขึ้นจากการบูชาธรรมชาติ เพราะว่าชื่อเทวดาต่าง ๆ เช่น พระอินทร์ พระอัคนี ซึ่งมีบทบาทในยุคพระเวทช่วงแรก ๆ แท้จริงแล้วมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งนั้น เช่น “พระอินทร์ไ หมายถึง “สายฟ้า หรือฟ้าผ่า” “พระอัคนี” คือ “ไฟ” “อทิติ” คือ “ท้องฟ้า” “อาทิตยะ” ก็คือ “กลุ่มเทพดวงอาทิตย์” “ปฤถิวี” ก็คือ “แผ่นดิน” “มารุต” ก็คือ “ลม” เป็นต้น

ฤคเวท เล่ม 10 บทสวดที่ 90 อธิบายที่มาของพระอินทร์และพระอัคนีว่ามาจากปากปุรุษะ แสดงว่า เมื่อเอาบทสวดปุรุษสูกตะเป็นตัวตั้งแล้ว เทพต่าง ๆ อย่างพระอินทร์และพระอัคนีนั้นพากันออกมาจากปากของปุรุษะระหว่างที่ประกอบพิธีบูชายัญ หลังจากมีเทพเจ้าหลายพระองค์อุบัติขึ้นมาแล้ว ก็มีพัฒนาการความเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างสากลจักรวาลว่า มีเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มีตัวตนชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะของเอกเทวนิยม ในบางบริบทของฤคเวทเรียกชื่อ “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้า” พระองค์นี้ว่า “ประชาบดี” บ้าง “หิรันยครรภะ” บ้าง[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ วิวัฒนาการความเชื่อของลัทธิที่เชื่อว่า มีพระเจ้าสร้างโลกในสมัยพระเวทก่อนพุทธกาล โดยปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *