ลักษณะของบุคคลที่มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองสูง

บุคคลที่มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้น มีลักษณะกระตือรือร้น มีความเชื่อมั่นในตนเอง มองโลกในแง่ดี คิดในด้านบวก พอใจในตนเอง รักตนเอง ไม่รู้สึกด้อยค่า เคารพตนเอง ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ทำให้คนกล้าคิดกล้าทำ กล้าเผชิญปัญหา และถือว่า ปัญหาเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ใช้กลไกในการป้องกันตนเองน้อยมาก ดังนั้น จึงมีความสุขและใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ (Coopersmith, 1981a)[1]

ลักษณะของบุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง มีดังต่อไปนี้ (นุจิรา สารถ้อย, 2547)[2]

  1. มีใบหน้าท่าทางวิธีการพูด และการเคลื่อนไหวแฝงไว้ด้วยความแจ่มใสร่าเริงมีชีวิตชีวา
  2. สามารถพูดถึงความสำเร็จ หรือข้อบกพร่องของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา และด้วยน้ำใสใจจริง
  3. สามารถเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับการสรรเสริญการแสดงออกด้วยความรักความซาบซึ้ง
  4. สามารถเปิดใจรับคำตำหนิ และไม่ทุกข์ร้อน เมื่อมีผู้กล่าวถึงความผิดพลาดของตน
  5. คำพูด และการเคลื่อนไหวมีลักษณะธรรมชาติไม่กังวล
  6. มีความกลมกลืนกันอย่างดีระหว่างคำพูด การกระทำ การแสดงออก และการเคลื่อนไหว
  7. สามารถที่จะเห็น และสนุกสนานกับแง่ตลกของชีวิตทั้งของตนเอง และผู้อื่น
  8. มีเจตคติที่เปิดเผยอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับชีวิตประสบการณ์ใหม่ และโอกาสใหม่ ๆ ของชีวิต
  9. มีเจตคติที่ยืดหยุ่นในการตอบสนองกับเหตุการณ์ และสิ่งท้าทายมีวิญญาณของความเป็นคนช่างคิด และไม่เอาจริงเอาจังกับชีวิตมากจนเกินไป
  10. มีพฤติกรรมการแสดงออกในทางที่เหมาะสมสามารถเป็นตัวของตัวเอง แม้ว่า ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเครียด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะของผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้น เป็นลักษณะพื้นฐานสำคัญ เนื่องจาก เมื่อบุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ การบริหารตนเอง มนุษยสัมพันธ์ สุขภาพ ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลนั้นได้ดี เพราะบุคคลเมื่อมีการเห็นคุณค่าในตนเองแล้วก็จะมีความเชื่อ มีกำลังใจที่ดีว่าตนสามารถที่จะพัฒนาได้ในทุก ๆ ด้าน

องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

คุณลักษณะพื้นฐานของการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งบุคคลใช้เป็นเครื่องตัดสินว่า ตนประสบความสำเร็จ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ (Coopersmith, 1981b)[3]

  1. การรับรู้ว่า ตนมีความสามารถ (Competence) เมื่อบุคคลรับรู้ว่า ตนสามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย สามารถเผชิญอุปสรรค  และปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความมั่นใจปรับตัวได้ดี และสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การรับรู้ว่า ตนมีความสำคัญ (Significance) เมื่อบุคคลได้รับการยอมรับอย่างเหมาะสม รู้สึกว่า ตนเป็นที่รักของบุคคลอื่น มีประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม
  3. การรับรู้ว่า ตนมีอำนาจ (Power) เมื่อบุคคลรู้สึกวา ตนมีอิทธิพลในการควบคุมชีวิตของตนเอง และต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว มีความเชื่อมั่นในอำนาจการกระทำของตนว่า จะก่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ และมีความสามารถในการกระทำต่าง ๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ด้วยตนเอง
  4. การรับรู้ว่า ตนมีคุณความดี (Virtue) เมื่อบุคคลมีการปฏิบัติตัวสอดคล้องกับศีลธรรมจริยธรรม ค่านิยม และวัฒนธรรมประเพณี มองโลกในแง่ดี พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีการแสดงออกของความคิด และถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

Coopersmith, 1981b ได้ศึกษาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ องค์ประกอบภายในตนเองและองค์ประกอบภายนอกของตนเอง

  1. องค์ประกอบภายในตนเอง เป็นลักษณะของแต่ละบุคคลที่มีผลทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลแต่ละคนมีความแตกต่าง แบ่งเป็น
    1. ลักษณะทางกายภาพ (Physical Attributes) โดยบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาที่ดีสวยงาม มีความคล่องแคล่วว่องไว รู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพที่ด้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางกายภาพจะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าของสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่
    2. สมรรถภาพ ความสามารถและผลงาน (General Capacity, Ability and Performance) องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ จะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยองค์ประกอบเหล่านี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความถี่ของการกระทำว่า ประสบความสำเร็จ หรือได้รับความล้มเหลว โดยอาจมีเรื่องสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การเพิ่มระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง
    3. ภาวะอารมณ์ (Affective States) เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง มีความสุข หรือความทุกข์ ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ หรือภาวะอารมณ์อื่น ๆ ที่อยู่ในตัวบุคคล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประเมินสิ่งที่ตนประสบ และเป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แล้วส่งผลต่อการประเมินตนเองในเวลาต่อมา บุคคลที่ประเมินตนเองในทางที่ดีจะมีความรู้สึกพึงพอใจ และมีความสุขในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ประเมินตนเองในทางไม่ดี ไม่พอใจ ในชีวิตของตน และอาจทำให้เกิดความรู้สึกหมดหวังในอนาคต
    4. ค่านิยมส่วนตัว (Self – values) บุคคลทั่วไปจะให้ความพอใจสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป โดยบุคคลจะมีแนวโน้มจะใช้ค่านิยมของสังคม เป็นสิ่งตัดสินการเห็นคุณค่าในตนเอง หากค่านิยมของตนเองสอดคล้องกับแนวโน้มของค่านิยมทางสังคมนั้น ๆ จะทำให้บุคคลนั้นมีการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มขึ้น แต่ถ้าค่านิยมของตนเองไม่สอดคล้องจะมีผลทำให้บุคคลนั้นมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง
    5. ความปรารถนา (Aspiration) การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลเกิดจากการเปรียบเทียบผลงาน และความสามารถของตนเองกับเกณฑ์ความสำเร็จที่ตนเองคาดหวังไว้ หากผลงาน และความสามารถเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตนได้คาดหวัง หรือทำได้ดีกว่าจะทำให้บุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าผลงาน และความสามารถไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตนคาดหวัง หรือทำได้ต่ำกว่า จะทำให้บุคคลคิดว่า ตนเองนั้นเป็นบุคคลที่ด้อยคุณค่า
    6. เพศ (Gender) พบว่า ส่วนใหญ่เพศชายจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าเพศหญิง เนื่องจาก สังคมและวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเพศชาย หากเพศชายทำงานประสบความสำเร็จจะถูกมองว่า เกิดจากความสามารถ แต่ถ้าเป็นเพศหญิงจะถูกมองว่า เป็นเพราะความพยายาม หรือเป็นเพราะความโชคดี แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนคติต่อเพศหญิง และระดับการเห็นคุณค่าในตนเองยังมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมด้วย
    7. ปัญหาต่าง ๆ และโรคภัยไข้เจ็บ (Problems and Pathology) ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิตทั่ว ๆ ไป อาการทางกายที่มีสาเหตุมากจากจิตใจ (Psychosomatic Symptoms) กล่าวคือ ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวมากจะเกิดความรู้สึกของการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และจะแสดงออกมาในรูปของความวิตกกังวล มีความทุกข์มากกว่าผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวน้อย
  2. องค์ประกอบภายนอกตนเอง คือ สภาพแวดล้อมภายนอกที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์ด้วยองค์ประกอบภายนอกตนเอง จะส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบด้วย
    1. ความสัมพันธ์กับครอบครัวและพ่อแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีอานุภาพมาก ประสบการณ์ที่บุคคลได้รับจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญในชีวิตบุคคล เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่น การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้สิทธิเสรีภาพในการกระทำของเด็ก โดยกฎระเบียบที่พ่อแม่ใช้ในการปกครองลูกของตน และจัดการดูแลให้เด็กมีอิสระในขอบเขตที่กำหนด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กสามารถพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองได้
    2. โรงเรียนและสถาบันการศึกษา โรงเรียนมีหน้าที่ช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในทักษะความสามารถ และรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองเมื่ออยู่ในชั้นเรียน โดยโรงเรียนเป็นสถานที่ที่พัฒนาความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองต่อจากบ้าน การที่ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีอิสระ โดยไม่ขัดกับกฎระเบียบที่โรงเรียนได้กำหนดไว้ การฝึกให้นักเรียนรู้จักแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจและเชื่อมั่นใจตนเอง
    3. สถานภาพทางสังคม เป็นการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นโดยพิจารณาจากอาชีพ ตำแหน่งงาน บทบาททางสังคม สถานะเศรษฐกิจ วงศ์ตระกูล ดังจะเห็นได้โดยทั่วไปว่า บุคคลที่มาจากสถานภาพทางสังคมสูง จะได้รับการปฏิบัติที่ทำให้เขารู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าบุคคลที่มาจากสถานภาพทางสังคมระดับปานกลางหรือต่ำ อย่างไรก็ตาม สถานภาพทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเองไม่ค่อยเด่นชัดนัก เพราะบุคคลที่มาจากสถานภาพทางสังคมในระดับต่ำมีทั้งบุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงและต่ำ ดังที่ Coopersmith, 1981b ศึกษาพบว่า ยิวเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานภาพทางสังคมในระดับต่ำ แต่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าโปแตสแตนท์ และคาธอลิค ซึ่งเป็นพวกที่มีสถานภาพทางสังคมในระดับสูง
    4. สังคมและกลุ่มเพื่อน การที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและเพื่อนจะช่วยในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตัวเอง การที่บุคคลไม่ได้รับการยอมรับ การไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่เป็นที่ประทับใจในกลุ่มเพื่อน จะทำให้ความรูสึกเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง จะกลายเป็นคนที่เงียบขรึม ชอบเก็บตัว และไม่ที่ไว้วางใจของเพื่อน

จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น มีทั้งองค์ประกอบภายในตนเอง และองค์ประกอบภายนอกตนเอง การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองจึงควรที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 2 องค์ประกอบ องค์ประกอบภายนอกตน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับครอบครัวและพ่อแม่ โรงเรียนและสถานการศึกษา สถานภาพทางสังคม สังคมและกลุ่มเพื่อน ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อการสร้างการรับรู้ความสามารถของตนทั้งสิ้น[1]


[1] ขอบคุณที่มาบทความ แนวทางการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นตามทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตน. โดยดวงกมล ทองอยู่. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชลบุรี.


[1] Coopersmith, S. (1981a). SEI: Self Esteen Inventories. (2nd ed.). California: Consulting Psychologist.

[2] นุจิรา สารถ้อย. (2547). กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนที่มาจากครอบครัวเกษตรกร บ้านร่องเผียว จังหวัดเชียงราย. การค้นคว้าแบบอิสระศึกษาศาสตร์มหาบัญฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[3] Coopersmith, S. (1981b). The Antecedents of Self – esteem. (2nd ed.). Palo Alto, California: Consulting Psychologist Press.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *