คติความเชื่อเรื่อง “พระศิวะ” ในเขตกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2555 – 2556 คติความเชื่อเรื่องพระศิวะยังคงปรากฏอยู่ทั้งในราชสำนักและกลุ่มบุคคลทั่วไป แต่มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก กล่าวคือ การบูชาพระศิวะเป็นพิธีกรรมสำหรับทุกคนที่เคารพนับถือ โดยมีปรากฏการณ์ที่เป็นจุดเด่นแตกตางกัน ดังนี้

  1. การประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่ยังคงสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงคติความเชื่อดังเดิมว่า พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย คือ ช่วงเวลาที่พระศิวะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของพระราชพิธีบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ การนำนางกระดานขึ้นและลงหลุมที่แต่เดิมอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปชมขั้นตอนดังกล่าว แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้คนทั่วไปชม ทั้งนี้ ยังปรากฏจุดเด่น คือ ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีทุกคนสวมชุดขาว
  2. การประกอบพิธีบูชาพระศิวะในเทศกาลนวราตรีและเทศกาลศิวนาฏราชของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ที่ยังใช้พราหมณ์เป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีกรรมทั้งหมดตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู และปรากฏจุดเด่น คือ การแบ่งสัดส่วนระหว่างผู้เข้าร่วมพิธีที่เป็นเจ้าภาพและกับผู้เข้าร่วมพิธีที่เป็นบุคคลทั่วไป
  3. การประกอบพิธีโซฮาและอาระตีที่เทวาลัยพระศิวะ ปิ่นเกล้าที่ปรากฏร่างทรงอยู่เพียงแห่งเดียวจากสถานที่เก็บข้อมูลทั้ง 8 แหล่ง และผู้ประกอบพิธีกรรมในภาพรวม คือ บุคคลทั่วไป ไม่ใช่พราหมณ์ รวมถึงการให้ความหมายว่าน้ำหรือนมวัวที่ใช้รดศิวลึงค์สามารถแก้ไขหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้
  4. การประกอบพิธีมหาศิวาราตรี วัดเนปาล สุขุมวิท 81 ที่มีจุดเด่น คือ การใช้พิธีกรรมมหาศิวาราตรีเป็นสื่อกลางในการรวมตัวของชาวไทยเชื้อสายเนปาลและชาวเนปาลที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นสถานที่ที่ประกอบพิธีกรรมแบบไม่เคร่งครัดตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูดั้งเดิม
  5. การประกอบพิธีบูชาพระพิราพที่เรือนพระภรตมุนี วัดสุทธาราม ซอยตากสิน 19 ที่พระภิกษุเป็นผู้นำการประกอบพิธีกรรมบูชาพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพที่อยู่ในรูปยักษ์และเป็นเทพแห่งนาฏศิลป์แขนงต่าง ๆ ของไทย รวมถึงการถวายเนื้อสดแด่พระพิราพ ซึ่งปรากฏอยู่เพียงแหล่งเดียวจากสถานที่เก็บข้อมูลทั้งหมด
  6. การบูชาพระตรีมูรติ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีคติความเชื่อใหม่ว่า พระตรีมูรติเป็นเทพเจ้าที่ทำให้ผู้เคารพบูชาประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก ซึ่งคติความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในคติความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาฮินดู รวมถึงการใช้ธูปเทียนและดอกกุหลาบสีแดงเป็นสิ่งของถวายพระตรีมูรติเพียงที่เดียว
  7. คติการสร้างเทวรูปพระศิวะร่วมกับเทพในลัทธิอื่น ๆ ที่วิหารเสด็จพ่อ พระศิวะมหาเทพ รามอินทรา
  8. การสร้างเทวรูปพระศิวะในวัดภาษี เอกมัย ซึ่งเป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากการวิคราะห์คติความเชื่อเรื่องพระศิวะจากปรากฏการณ์ตัวอย่างทั้ง 8 แห่งแล้ว เห็นได้ว่า ทั้ง 8 ปรากฏการณ์ทั้งหมดมีลักษณะที่ร่วมกันและต่างกัน

ลักษณะร่วมในด้านต่าง ๆ ของคติความเชื่อเรื่อง “พระศิวะ”

  1. คุณสมบัติของพระศิวะ ลักษณะร่วมกันประการหนึ่งที่สำคัญที่สุด ที่ทั้งตัวอย่างปรากฏการณ์ทั้ง 8 ปรากฏการณ์มีร่วมกัน คือ การนับถือหรือสักการะบูชาพระศิวะด้านคุณสมบัติต่าง ๆ ได้แก่ ความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน ความสมหวังในเรื่องความรัก ความปรารถนาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และความสมปรารถนาเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เนื่องจาก ผู้คนมีคติความเชื่อที่ว่า พระศิวะเป็นเทพที่มีคุณสมบัติในการประทานพรและความสมหวัง ความสำเร็จให้แก่ผู้ที่บูชาและสักการะพระองค์ ทั้งนี้ ผู้คนในกรุงเทพมหานครที่นับถือและสักการะบูชาพระศิวะ ก็ไม่ได้เข้าใจถึงหลักปรัชญาที่อธิบายถึงภาวะต่าง ๆ ของพระศิวะ
  2. ลักษณะเทวรูปพระศิวะ ลักษณะร่วมกันประการที่สอง คือ การสร้างเทวรูปพระศิวะ ที่ยังคงลักษณะทางประติมานวิทยาสำคัญ ไว้อยู่ตามแบบที่ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวคือ พระศิวะมีพระจันทร์เป็นปิ่นทัดพระเกศา ทรงตรีศูลเป็นอาวุธ ทรงนุ่งห่มหนังเสือมุ่นพระเกศาเป็นชฏา และทรงโคนนทิเป็นพาหนะ ถือเป็นลักษณะที่เด่นที่สุดของพระศิวะ และลักษณะดังกล่าวยังสอดคล้องตามคัมภีร์โบราณต่าง ๆ ของศาสนาฮินดู แสดงให้เห็นว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นคติความเชื่อดั้งเดิมจากอินเดียที่ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันและยังคงรูปแบบเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง อาจแสดงให้เห็นได้ว่า ลักษณะที่มีพระจันทร์เป็นปิ่นทัดพระเกศา และการมุ่นพระเกศาเป็นทรงชฎาเป็นลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในพระศิวะเท่านั้น ไม่ปรากฏลักษณะนี้ในเทพศาสนาฮินดูองค์อื่น ๆ ส่วนสถานที่ที่ปรากฏลักษณะต่าง ๆ ของพระศิวะครบทั้ง 5 ประการ ได้แก่ เทวาลัยพระศิวะมหาเทพ ปิ่นเกล้า วัดเนปาล สุขุมวิท 81 และวิหารเสด็จพ่อพระศิวะมหาเทพ รามอินทรา อาจแสดงให้เห็นว่า สถานที่เหล่านี้อาจมีความเชื่อว่าการสร้างเทวรูปพระศิวะให้มีรายละเอียดครบทั้ง 5 ประการทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งส่งผลความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวไปสู่ผู้มาสักการบูชาพระศิวะ
    • ปางที่นิยมสร้างหรือประดิษฐานมากที่สุด คือ ปางมหาเทพและปางนาฏราช โดยการสร้างหรือประดิษฐานพระศิวะปางมหาเทพนั้น มาจากความเชื่อว่า ปางดังกล่าวเป็นปางที่พระศิวะสามารถประทานพรให้แก่ผู้มาสักการบูชาได้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับผู้มาสักการะบูชาพระศิวะที่ต้องการให้พระศิวะประทานพรต่าง ๆ ตามที่ตนเองปรารถนา ส่วนเทวรูปพระศิวะปางนาฏราชเป็นปางที่แสดงถึงปรัชญาเกี่ยวกับการสร้างจักรวาลและการดำรงอยู่ของจักรวาลที่ขึ้นอยู่กับท่าทางและจังหวะการร่ายรำของพระศิวะ ซึ่งสถานที่ที่ปรากฏพระศิวะปางนาฏราช ได้แก่ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี และวัดเนปาล สุขุมวิท 81 อาจแสดงให้เห็นว่า คติความเชื่อทางปรัชญาเรื่องพระศิวะสร้างจักรวาลและสร้างสมดุล การดำรงอยู่ของจักรวานยังคงสืบเนื่องกันในหมู่พราหมณ์เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ปางนาฏราชยังมีลักษณะเด่นกว่าปางอื่น ๆ ที่แสดงออกในท่าร่ายรำ อาจดึงดูดให้ผู้คนทั่วไปสนใจและเริ่มหันมาศึกษาหรือนับถือพระศิวะ
  3. สิ่งของที่ใช้ถวานแด่พระศิวะ ด้านการเปรียบเทียบสิ่งของที่ใช้ถวายแด่พระศิวะ พบว่า แทบทุกที่ใช้ผลไม้ถวาย ยกเว้นที่เรือนพระภรตมุนีเท่านั้น ที่ถวายเนื้อสัตว์แด่พระพิราพ ซึ่งในเชิงคติความเชื่อ อาจหมายความว่า พระศิวะทรงเป็นเทพแห่งความเมตตาต่อสรรพสิ่ง และยังทรงมีฐานะเป็นฤษีด้วย โดยตามความเชื่อของคนทยนั้น เชื่อกันว่า ฤษีบริโภคมังสวิรัติ และผลไม้บางประเภทยังถือเป็นสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของคนไทยที่ได้รับการผสมผสานจากความเชื่อต่าง ๆ เช่น ความเชื่อของจีน ความเชื่อของอินเดีย หรือแม้แต่ความเชื่อดั้งเดิมของไทยเอง แต่หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว พบว่า ผลไม้ถือเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และผลไม้ที่ใช้สักการะบูชาส่วนใหญ่ก็เน่าเสียยาก พอเสร็จพิธีกรรมก็สามารถนำกลับไปบริโภคได้ สิ่งของที่ผู้คนนิยมใช้ถวายแด่พระศิวะมากที่สุด คือ กล้วย เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่สามารถหาหรือซื้อได้ง่ายที่สุด มีราคาไม่แพง และสามารถเก็บไว้ได้นาน (กล้วยที่นำมาถวายแด่พระศิวะส่วนใหญ่เป็นกล้วยดิบหรือกล้วยห่าม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สิ่งของที่ใช้ถวายพระศิวะนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ที่นับถือนั่นเอง และสถานที่ที่ใช้สิ่งของเพื่อถวายพระศิวะมากที่สุด คือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เนื่องจากที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวียังคงดำเนินการประกอบพิธีกรรมตามแบบแผนในศาสนาฮินดูในอินเดีย ซึ่งการประกอบพิธีกรรมโดยใช้สิ่งของถวายเป็นจำนวนมากและหลากหลายชนิดนั้น สะท้อนให้เห็นว่า “พระศิวะ” คือ เทพที่มีความสำคัญมากองค์หนึ่ง จึงต้องจัดสิ่งของที่ถวายให้มาก เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติและเคารพนบนอบของมนุษย์ ทั้งนี้ การใช้สิ่งของจำนวนมากและหลากหลายยังเป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีของพราหมณ์ รวมถึงยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ปริมาณและความหลากหลายของสิ่งของที่ถวายเช่นนี้ คนทั่วไปไม่สามารถจัดหาได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจระหว่างพราหมณ์ และเจ้าภาพกับผู้คนทั่วไปที่มาเข้าร่วมพิธี ส่วนสถานที่ที่ใช้สิ่งของถวายแด่พระศิวะน้อยที่สุด คือ วิหารเสด็จพ่อพระศิวะมหาเทพ รามอินทรา และวัดภาษี เอกมัย ซึ่งอาจตีความได้ว่า อำนาจในการบูชาหรือสักการะพระศิวะอยู่ในมือของผู้บูชาเต็มที่ และทั้งสองสถานที่ดังกล่าวก็ไม่ต้องมีพราหมณ์เป็นสื่อกลางในการถวายสิ่งของแด่พระศิวะอีกด้วย
  4. พฤติกรรมของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ทุกปรากฏการณ์เหตุการณ์นี้ ยกเว้นโซฮาและอาระตีที่เทวาลัยพระศิวะมหาเทพ ปิ่นเกล้า ก็คือ ผู้เข้าร่วมพิธีอยู่ในอาการสงบเสมอ สาเหตุที่ผู้เข้าร่วมพิธีอยู่ในอาการสงบ เกิดจากความต้องการให้การประกอบพิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อพิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้ตนเองได้รับพรตามที่ตนเองปรารถนาไว้ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงพระศิวะตามความเชื่อในพิธีโซฮาและอาระตี เทวาลัยพระศิวะมหาเทพ ปิ่นเกล้า ก็มีคนบางกลุ่มที่ใช้อาการร่างทรงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองเคารพบูชาต่อพระศิวะ[1]

[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ คติความเชื่อเรื่องพระศิวะในกรุงเทพมหานคร. โดยธีระนันท์ วิชัยดิษฐ และปรีดี พิศภูมิวิถี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *