การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นตามแนวทางทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตน

การพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้น Bandura (1969)[1] เสนอว่า มีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี ได้แก่ การเพิ่มประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ การใช้ตัวแบบ การใช้คำพูดชักจู และการกระตุ้นทางอารมณ์ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นได้ ดังนี้

  1. การเพิ่มประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ (Mastery Experiences)
    1. การเพิ่มประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ (Mastery Experiences) ซึ่ง Bandura (1969) เชื่อว่า เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง เนื่องจากว่า เป็นประสบการณ์โดยตรง ความสำเร็จทำให้เพิ่มความสามารถของตนเอง บุคคลจะเชื่อว่า เขาสามารถที่จะทำได้ ดังนั้น ในการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเองของวัยรุ่นนั้น จำเป็นที่จะต้องฝึกให้เขามีทักษะเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้พร้อม ๆ กับการทำให้เขารับรู้วา เขามีความสามารถจะกระทำเช่นนั้น จะทำให้เขาใช้ทักษะที่ได้รับการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด วัยรุ่นที่รับรู้ว่า ตนเองมีความสามารถนั้น จะไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แต่จะพยายามทำงานต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ
    1. วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับ และต้องการที่จะได้รับประสบการณ์ที่ตนประสบความสำเร็จ ดังนั้น ครูอาจารย์และผู้ปกครองจึงควรตระหนักถึงความต้องการข้อนี้ของวัยรุ่นและต้องพยายามสร้างประสบการณ์ที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่า ตนเองมีความสามารถและมีคุณค่า บางครั้งเมื่อวัยรุ่นประสบปัญหา ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์มักจะตำหนิในความผิดพลาด ลงโทษ และสั่งสอน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นซ้ำเดิมอีก ก็ยังคงใช้วิธีการแบบเดิม หลังจากนั้น บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจในตัววัยรุ่นก็เกิดขึ้น ส่งผลให้การเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นลดต่ำลงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์จึงควรเปลี่ยนมุมมองและมุ่งให้ความสำคัญกับการหาศักยภาพ ต้นทุนชีวิต จุดเด่นของวัยรุ่นเพื่อไปสู่อนาคตที่วัยรุ่นต้องการด้วยการสร้างแรงจูงใจ ทำด้วยความชอบ มากกว่าการบังคับ
    1. การฝึกให้วัยรุ่นมองถึงเป้าหมายในอนาคตและฝึกสร้างความสำเร็จจากสิ่งที่อยากทำด้วยตัวเองสุดท้ายจะเพิ่มระดับคุณค่าในตนเอง เกิดความสุข และการยอมรับจากครอบครัวเพื่อนและสังคม มาทดแทนเวลาที่เสียไปกับการนั่งฟังจุดอ่อนในอดีต ความไม่ไว้วางใจและการจับผิด ผู้ปกครองและครู อาจารย์ควรที่จะสนับสนุนให้วัยรุ่นได้ทำในสิ่งที่ตนถนัดและให้ความชื่นชมเมื่อเขาทำได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ของความสำเร็จให้กับเขา ในการเรียนการสอนครูอาจารย์ควรที่จะสอดแทรกกิจกรรมที่ทำให้วัยรุ่นได้รู้จักชื่นชมตนเองและหาข้อดีหรือจุดเด่นของตนเอง เพื่อมุ่งให้เขาพัมนาจุดแข็งของตนเองแทนที่จะจับจ้องอยู่กับจุดอ่อน
  2. การใช้ตัวแบบ (Modeling) การที่วัยรุ่นได้สังเกตตัวแบบแสดงพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนและได้รับผลกรรมที่พึงพอใจ ก็จะทำให้ผู้ที่สังเกตฝึกความรู้สึกว่า เขาก็จะสามารถที่จะประสบคามสำเร็จได้ถ้าเขาพยายามจริงและไม่ย่อท้อ ลักษณะของการใช้ตัวแบบที่ส่งผลต่อความรู้สึกว่า เขามีความสามารถที่จะทำได้นั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาของวัยรุ่นที่มีความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ โดยที่ให้ดูตัวแบบที่มีลักษณะคล้ายกับตนเองก็สามารถทำให้ลดความกลัวต่าง ๆ เหล่านั้นได้
    1. Banduar (1969) มีความเชื่อว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากการสังเกตโดยการสังเกตพฤติกรรมจากตัวแบบ ในการเรียนรู้ผ่านตัวแบบนั้นตัวแบบเพียงคนเดียวสามารถถ่ายทอดทั้งความคิด และการแสดงออกไปพร้อม ๆ กัน และเนื่องด้วยคนเรานั้นใช้ชีวิตในแต่ละวันในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน การรับรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์ทางสังคมจึงต้องผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น คนส่วนมากรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมโดยการผ่านทางสื่อแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ตัวแบบจะทำหน้าที่สร้างพฤติกรรมใหม่และยับยั้งการเกิดของพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงเสริมพฤติกรรมที่มีแล้วให้ดีขึ้น
    1. อย่างไรก็ตาม ครูอาจารย์และผู้ปกครองควรตระหนักว่า การใช้ตัวแบบที่ดีเพื่อที่จะนำมาเพิ่มการรับรู้ความสามารถของคนและการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นนั้น ต้องไม่ใช้โดยการนำมา “เปรียบเทียบ” กับตัวเด็กวัยรุ่น แต่ควรนำมาใช้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า หากเขาทำได้เราก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน การเลือกตัวแบบและการใช้คำพูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงการเลือกตัวแบบควรเลือกตัวแบบที่มีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกับตัวเด็กวัยรุ่น และต้องใช้คำพูดที่เหมาะสม หากใช้ตัวแบบผ่านการเรียนการสอนสามารถที่จะเสนอตัวแบบผ่านรูปแบบได้หลากหลาย เช่น การฉายวิดีทัศน์ การทำ Case Study ฯลฯ
  3. การใช้คำพูดชักจูง (Verbal Persuasion) การใช้คำพูดชักจูง เป็นการบอกว่า บุคคลนั้นมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ วิธีการดังกล่าวนั้นค่อนข้างใช้ง่ายและใช้กันทั่วไป ซึ่งมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ วิธีการดังกล่าวนั้นค่อนข้างใช้ง่ายและใช้กันทั่วไป ซึ่ง Banduar (1969) ได้กล่าวว่า การใช้คำพูดชักจูงนั้นไม่ค่อยจะได้ผลนัก ในการที่จะทำให้คนเราสามารถที่จะพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง ซึ่งถ้าจะให้ได้ผล ควรจะใช้ร่วมกับการทำให้บุคคลมีประสบการณ์ของความสำเร็จ ซึ่งอาจจะต้องค่อย ๆ สร้างความสามารถให้กับบุคคลอย่างค่อยเป็นค่อยไปและให้เกิดความสำเร็จตามลำดับขั้นตอน พร้อมทั้งการใช้คำพูดชักจูงร่วมกัน ก็ย่อมที่จะได้ผลดีในการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตน
  4. การกระตุ้นทางอารมณ์ (Emotional Arousal) การกระตุ้นทางอารมณ์นั้น มีผลต่อการรับรู้ความสามารถของตนเองในสภาพที่ถูกข่มขู่และมีความวิตกกังวล แต่การกระตุ้นที่รุนแรงเกินไปอาจทำให้ไม่ค่อยได้ผลดี ทั้งนี้วิธีการกระตุ้นทางอารมณ์กับวัยรุ่นนั้นควรจะระมัดระวังในการใช้ เนื่องจาก วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีสภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหว จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรตระหนักว่า ทักษะทางการสื่อสารกับวัยรุ่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นมาก สิ่งที่ควรระมัดระวังในการพูดคุยกับวัยรุ่น คือ ใช้คำพูดจับผด ใช้ประโยคคำสั่งกับวัยรุ่นบ่อย ๆ หรือท่าทีกิริยาอาการแสดงออกชัดเจนว่า “ไม่ยอมรับฟัง” ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นเกิดการต่อต้าน การใช้คำพูดที่ดีเพื่อชักจูงหรือกระตุ้นทางอารมณ์กับวัยรุ่น จึงควรเป็นการใช้คำพูดที่ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง ซึ่งเป็นการสื่อสารในเชิงบวก เป็นการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยโต้ตอบกัน

ในการสื่อสารนั้น ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรมีทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่น (Good Attitudes) ทัศนคติดีต่อวัยรุ่นที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ ร่วมมือ เปิดเผย ยอมรับได้ง่าย คือ ท่าทีด้านบวก แบบยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข มองในแงดี เป็นกลาง (Neutral) มีความเข้าใจ เข้าใจความรู้สึก เห็นใจ จึงเริ่มต้นจากการค้นหาด้านดี และหยิบยกข้อดีของวัยรุ่นมาเริ่มต้นในการสื่อสาร ความรู้สึกดีนี้ที่จะถ่ายทอดทางสีหน้าแววตา ท่าที และท่าทางที่รับรู้ได้ ทำให้เกิดการยอมรับ เปิดช่องการสื่อสารสองทาง (Two – way Communication) พยายามหาข้อดี จุดดี ด้านบวกของวัยรุ่น และหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นก่อน

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สีหน้า แววตา ท่าทาง ของผู้ใหญ่จะสื่อให้วัยรุ่นรู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเองอยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่วัยรุ่นเปิดเผย เวลาคุยกับวัยรุ่นไม่ควรนั่งกอดอก ซึ่งแสดงท่าทางปิดไม่ยอมรับ สายตาควรจับที่ใบหน้าเคลื่อนไหวไปมาระหว่างตาและปาก พยักหน้ายอมรับตามจังหวะเหมาะสม เมื่อเห็นด้วย ยอมรับ ยิ้ม แสดงท่าชื่นชมในสิ่งที่ดี ปิดโทรศัพท์มือถือ หยุดการทำงานทุกอย่างระหว่างพูดคุย สัมผัสที่แขนในจังหวะที่แสดงความเข้าใจ เห็นใจ แต่ระวังการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างเพศตรงข้าม[2]

ดังนั้น การพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเพื่อที่จะเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นนั้นจึงควรเพิ่มประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จให้กับวัยรุ่น มีการใช้ตัวแบบ ใช้คำพูดชักจูงและอาจใช้การกระตุ้นทางอารมณ์ได้บ้างในบางกรณี

สรุปได้ว่า ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเป็นทฤษฎีหนึ่งทางจิตวิทยา ครูอาจารย์และผู้ปกครองสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับวัยรุ่นได้ โดยมีแนวทาง คือ เพิ่มประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จให้กับวัยรุ่น การใช้ตัวแบบ และการใช้คำพูดชักจูงและการกระตุ้นอารมณ์ควบคู่กันไป และสิ่งสำคัญของการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นนั้น ผู้ปกครองและครูอาจารย์จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต้องอาศัยระยะเวลา และตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกการกระทำ ทุกคำพูดของเรานั้นมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของเด็กวัยรุ่น และจะสามารถนำไปสู่การรับรู้คุณค่าในตนเองของเขาซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาความมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ของเขาต่อไปในอนาคตได้[3]


[1] Bandura. (1969). Principle of Behavior Modification. New York: holt, Renehart and Winston.

[2] พนม เกตุมาน. (2551). การสื่อสารทางบวกกับวัยรุ่น.

[3] ขอบคุณที่มาบทความ แนวทางการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นตามทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตน. โดยดวงกมล ทองอยู่. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชลบุรี.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *