“องค์พระศิวะมหาเทพ” ศิวลึงค์ คืออะไร

“ศิวลึงค์ คือ สัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู” ลัทธิไศวนิกาย ไม่พบหลักฐานแน่นอนว่า การนับถือ “ศิวลึงค์” เริ่มต้นเมื่อใด แต่มีร่องรอยการนับถือพระศิวะในรูปของมนุษย์ และรูปศิวลึงค์ ในอินเดียมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ศิวลึงค์ที่เก่าแก่ที่สุด คือ “ศิวลึงค์” เมืองมัทราส สร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือ 2 ต่อมา เมื่อมีการติดต่อค้าขายระหว่างอินเดียกับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรดาเมืองต่าง ๆ ก็รับเอาอารยธรรมอินเดียเข้ามา รวมทั้งลัทธิการนับถือศิวลึงค์ด้วย สำหรับประเทศไทยได้รับอิทธิพลนี้ผ่านมาทางอาณาจักรขอมและหัวเมืองทางภาคใต้

ความหมายของศิวลึงค์ คำว่า “ศิวลึงค์” เป็นคำสมาสระหว่างคำว่า “ศิวะ” ซึ่งหมายถึง “พระศิวะมหาเทพ เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู” นิกายไศวนิกาย กับคำว่า “ลึงค์” หมายถึง องคชาต หรืออวัยวะสืบพันธ์ของเพศชาย ดังนั้น เมื่อนำคำทั้งสองมาสมาสเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า อวัยวะสืบพันธุ์ของพระศิวะ หรือองคชาติของพระศิวะ แต่ความหมายในทางปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ไม่ได้แผลตรงตามตัวอักษร หากแต่แปลความว่า ศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศ แต่ศิวลึงค์มักจะปรากฏอยู่คู่กับโยนี (Yoni) เสมอ โยนีนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะสืบพันธ์เพศหญิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระอุมาอัครมเหสีของพระศิวะ อันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ การที่ศิวลึงค์กับโยนีอยู่รวมกัน แสดงถึงความเป็นสองในหนึ่งเดียวที่แยกออกจากกันไม่ได้ระหว่างบุรุษกับสตรี

กำเนิดศิวลึงค์

ในประเทศไทยเรานั้นไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อ “ศิวลึงค์” มากนัก แต่จะคุ้นเคยกับเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่า พลังอำนาจสูงสุดในด้านโชคลาภ เสน่ห์เมตตามหานิยมที่รู้จักกันในนาม “ปลัดขิก” ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่า ได้แบบอย่างมาจาก ศิวลึงค์ของอินเดียตามคติทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย กำเนิดของศิวลึงค์ มีมุขปาฐะและคัมภีร์หลายเล่ม ที่กล่าวถึง กำเนิดของศิวลึงค์ซึ่งก็มีเนื้อหาเหตุการณ์เหมือนกันบ้าง คล้ายคลึงกันบ้างหรือแตกต่างกันก็มี เช่น บางคัมภีร์ กล่าวว่า ศิวลึงค์เกิดจากความต้องการของพระศิวะที่ประสงค์ประทานศิวลึงค์ให้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ บางคัมภีร์ว่า เกิดจากความโกรธ ความละอายจากการประพฤติผิดของพระองค์เอง ดังจะยกเรื่องเล่าจากคัมภีร์มากล่าวพอสังเขปดังนี้

ในมหากาพย์มหาภารตะ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง “ศิวลึงค์” ว่า เจ้าชายอรชุน แห่งวงศ์ปาณฑป ได้ทำพิธีบูชาขอพรจากพระศิวะให้ประทานลูกธนูศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำไปต่อสู้กับอสูรร้าย ต่อมา พระศิวะจึงแปลงกายมาเป็นนายพราน ปรากฏต่อหน้าอรชน ขณะเดียวกัน กับอสูรศัตรูของอรชุนได้แปลงกายเป็นหมูป่าเข้าทำร้ายอรชุน ทั้งนายพราน และอรชุนต่างก็ยิงธนูไปฆ่าหมูป่าพร้อมกัน เมื่ออสูรจำแลงตายลง อรชุนกับนายพราน ต่างโต้เถียงและต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงสิทธิ์ในการฆ่าหมูป่า แต่อรชุนไม่สามารถทำอันตรายนายพรานนั้นได้ จึงมีความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจาก อรชุนนับถือศิวลึงค์ ดังนั้นจากพลังศิวลึงค์ จึงบันดาลให้อรชุนรู้ว่า นายพราน คือ พระศิวะจำแลงกายมา เมื่ออรชุนรับรู้จึงก้มลงกราบเพื่อขอขมาที่ได้ล่วงเกิน พระศิวะพึงพอใจต่อการขอขมา และรู้ว่า อรชุนมีความศรัทธานับถือบูชาศิวลึงค์ จึงอภัยให้และได้มอบลูกธนูวิเศษให้แก่อรชุนตามความตั้งใจ

ในคัมภีร์พรามหณปุราณะ กล่าวไว้ว่า บนวิมานเขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับขององค์ศิวะมหาเทพ กับพระอุมาอัครมเหสี วันหนึ่งพระศิวะทรงพระเกษมสำราญ อยู่กับพระนางอุมา และได้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายคุมสติไม่ได้ มีการเสพกามอย่างสุขสำราญอยู่ที่ท้องพระโรง บังเอิญพระพรหมพระวิษณุและเทพทั้งมวลพากันเข้าเฝ้าพระศิวะ โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ขณะนั้นพระศิวะกำลังอยู่ในอาการเมามายอย่างหนัก จึงไม่ได้สนใจว่า ใครเข้ามาในท้องพระโรง ก็ยังคงประกอบกามกิจต่อไป

เมื่อเทพเหล่านั้นเห็นพฤติกรรมอันไม่บังควร เป็นการอนาจารน่าอับอายเป็นอย่างยิ่ง หากการกระทำนั้นเกิดขึ้นในห้องบรรทมส่วนพระองค์ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ท้องพระโรงเปรียบเสมือนห้องรับแขก ย่อมมีทวยเทพผ่านเข้าออกได้เสมอ และเมื่อทวยเทพผ่านมาพบเห็น องค์มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ กำลังเสพสังวาสกับอัครมเหสีอย่างประเจิดประเจ้อ จึงพากันร้งเกียจเดียดฉัน ตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง และเสื่อมศรัทธา หมดสิ้นความนับถือยำเกรงในองค์มหาเทพ

เมื่อพระศิวะสร่างจากความมึนเมาจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเลือนราง จึงเรียกมหาดเล็กมาสอบถาม เมื่อทราบความเป็นไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น รู้สึกอับอายเป็นอย่างมากจึงกลั้นใจตาย แต่ก่อนขาดใจตายได้ประกาศว่า อวัยเพศของพระองค์นี้ ต่อไปจะเป็นเสมือนตัวแทนของพระองค์ที่มนุษย์ และเทพทั้งปวงจะต้องกราบไหว้บูชา ถ้าต้องการความสุข และความสำเร็จในชีวิต จากคำประกาศดังกล่าวจึงเป็นมูลเหตุให้ชาวพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกายต้องเคารพบูชาศิวลึงค์สืบมาจนปัจจุบัน

ในคัมภีร์ไศวปุราณะหรือศิวปุราณะ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพรหม และพระวิษณุเกิดความขัดแย้งถกเถียงกันว่า ใครยิ่งใหญ่กว่ากัน และใครเป็นผู้สร้างจักรวาล แต่ก็หาข้อยุติไม่ได้ ขณะที่ถกเถียงกันอยู่นั้น เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์มีวัตถุทรงกระบอกคล้ายเสาขนาดมหิมาผุดขึ้นมาจากใต้พื้นโลก มีเปลวเพลิงร้อนแรงพวยพุ่งออกมาโดยรอบเสานั้น ยอดเสาพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจนมองไม่เห็นปลายยอดพระวิษณุกับพระพรหมต่างสงสยว่าสิ่งนั้น คืออะไร มีจุดเริ่มต้นและจุดจบอยู่ที่ใด

ดังนั้น พระวิษณุกับพระพรหม จึงยุติความขัดแย้งหันมาปรองดอง และหารือกันที่จะสำรวจว่า เสาเพลิงต้นนั้น คือ อะไร มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดลง ณ ที่ใด จากนั้นเทพทั้งสองจึงตกลงให้พระวิษณุแปลงกายเป็นหมูป่า ขุดลงไปดูโคนเสาไฟว่า อยู่ลึกเพียงใด ส่วนพระพรหมนั้นบางตำราบอกว่า พระพรหมเหาะขึ้นไป บางตำราว่าแปลงกายเป็นหงส์ และบางตำราว่า ขี่หงส์ เพื่อบินขึ้นไปดูจุดสิ้นสุดของเสาเพลิงนั้นสูงเพียงใด และสิ้นสุดลง ณ ที่ใดเช่นกัน

เทพทั้งสององค์ต่างเพียงพยายามในการที่จะค้นหาจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดของเสาเพลิงนั้นอยู่นานหลายกัลป์ พระวิษณุขุดลึกลงไปเพียงใดก็ไม่พบจุดเริ่มต้นจึงถอดใจยอมแพ้ พระพรหมเองก้เช่นเดียวกันไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดได้พบเช่นเดียวกัน แต่ระหว่างทางได้พบกับดอกปาริชาต (ดอกเกตกี) ดอกหนึ่งร่วงหล่นลงมา จึงถามดอกปาริชาตว่าร่วงลงมาจากที่ใด ดอกปาริชาตได้ตอบว่า ตนร่วงหล่นลงมาจากเครื่องประดับเศียรของพระศิวะ ซึ่งใช้เวลานานหลายกัลป์ กว่าจะตกลงมาถึงที่พระพรหมประทับอยู่ในขณะนี้

เมื่อพระพรหมกลับลงมายังพื้นดิน ได้กล่าวเท็จกับพระวิษณุว่า ตนได้ค้นพบจุดสิ้นสุดของเสาเพลิงนั้นแล้ว ทันใดนั้นเองเสาเพลิงก็ระเบิดเกิดเสียงกัมปนาท พื้นแผ่นดินสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงฝุ่นตลบคละคลุ้ง แทบมองไม่เห็นสิ่งใด ครั้งเมื่อฝุ่นละอองจากลง ก็ปรากฏร่างของพระศิวะขึ้นที่กลางเสาเพลิง และทรงประกาศด้วยเสียงอันทรงพลังดุจดังเสียงพระยาราชสีห์ ว่านี่คือ อำนาจขององค์ศิวมหาเทพ ซึ่งเป็นพลังที่ไม่อาจวัดได้ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุดและจะดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ เพื่อเป็นแกนของโลกทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง จากปรากฏการณ์ดังกล่าวพระวิษณุและพระพรหมจึงยอมรับในพลังอำนาจของพระศิวะ ในคัมภีร์บางเล่มกล่าวต่อไปว่า พระศิวะทรงพิโรธพระพรหมเป็นอย่างยิ่งที่กล่าวคำเท็จว่า ได้ค้นพบจุดสิ้นสุดของเสาเพลิง จึงลงโทษพระพรหมด้วยการตัดเศียรที่ห้า ซึ่งอยู่ยอดบนสุด ทำให้พระพรหมซึ่งเดิมมีห้าเศียรเหลือเพียงสี่เศียรมาจนถึงปัจจุบัน ภาคนี้ของพระศิวะมีชื่อเรียกว่า ลิงคอุทภวมูรติ ซึ่งเป็นภาคที่แสดงถึงการก่อกำเนิดของศิวลึงค์[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *