ลักษณะของคัมภีร์พระเวท

คัมภีร์พระเวทเดิมที่มีแค่ 3 พระเวท คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ต่อมาเพิ่มอถรรพเวทเข้าไปด้วย นักบูรพาคดีศึกษาเชื่อว่า “คัมภีร์อถรรพเวท” ชาวอารยันดินเดียได้รับอิทธิพลความเชื่อจากชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกทัศยุหรือบางทีเรียกว่า “ทราวิฑ” หรือ “พวกทมิฬ” ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิมในอินเดีย พวกอารยันซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดียได้พากันผนวกเอาความเชื่อของชาวพื้นเมืองท้องถิ่นในอินเดียเดิมมาเป็นของพวกตนด้วย แต่รวมอยู่ในคัมภีร์ที่ชื่อว่า “อถรรพเวท” ซึ่งเมื่อนักภาษาศาสตร์พิจารณารูปลักษณ์ภาษาแล้ว จะมีศัพท์เก่า ๆ ใกล้เคียงกับคัมภีร์ฤคเวทที่สุดในบรรดาพระเวททั้ง 4 ด้วยเหตุนี้ สเตฟานี เจมิสันและโจเอล บเรตัน จึงเชื่อว่า “น่าจะร่วมสมัยกับคัมภีร์ฤคเวท”

รูปแบบการแต่งเป็นบทกวีมาจากหลาย ๆ แห่งรวมกัน ไม่ได้แต่งทีเดียว เก่าแก่ที่สุด คือ “ฤคเวท” สำหรับระยะเวลาที่แต่งนี้ ไมเคิล วิตเซลระบุว่า การประมวลคัมภีร์ฤคเวทเป็นหมวดหมู่มีขึ้นที่แคว้นกุรุประมาณ 1200 ปีถึง 1000 ปีก่อนค.ศ. ส่วนอัลโก ปาร์โลล่าบอกว่า แต่งราว 1000 ปีก่อนค.ศ.

คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์มิได้แต่งโดยคน ๆ เดียว ฤษีหลัก ๆ ที่แต่งมีทั้งสิ้น 8 คน ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นมหาฤษี ฤษีของอินเดียสมัยโบราณเหล่านี้ช่วยกันแต่งและรวบรวมเข้าไว้แล้วหมั่นท่องจำและสวดพร้อมกันสืบ ๆ มาซึ่งสันสกฤตเรียกว่า “สํคีติ” (บาลีใช้ทั้งคำวา “สํคีติ” และ “สํคายนา” ซึ่งแปลว่า “การสวดพร้อมกัน”) ประเพณีการท่องจำปากเปล่าและสวดพร้อมกันเพื่อถ่ายทอดคำสอนศาสนานี้มีแพร่หลายในอินเดียตั้งแต่สมัยพระเวทแรก ๆ แล้ว คัมภีร์พระเวทหลาย ๆ เล่มก็อาจจะมิได้แต่งในสถานที่เดียว เพราะชาติอารยันต้องเคลื่อนย้ายกันไปด้วยเหตุสงคราม ทำให้บางคัมภีร์มีระบุชื่อเฉพาะบางชื่อ เช่น แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา หุบเขาหิมาลัย และมัทยมเทศ หรือมัธยมประเทศ ขณะที่บางเล่มไม่มีระบุถึง ฤษีก็อาจจะจำทรงเรื่องราวที่แต่งแต่เดิมไว้ แต่ก็อาจจะมีการต่อเติมเพื่อขยายไปในกาลต่อมาด้วย นอกจากนั้น คัมภีร์พระเวทยังระบุถึงทิศทางลมประเภทต้นไม้และประเภทฝูงสัตว์ป่า ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในบางภูมิประเทศของอินเดียแต่ไม่มีอยู่ในอีกหลายภูมิประเทศ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ ทำให้นักวิชาการระบุเจาะจงได้ว่า บางคัมภีร์น่าจะแต่งที่ไหนของอินเดียในปัจจุบัน

ปรกติคัมภีร์พระเวททั้ง 4 นั้น จะเรียกกันว่า “เวทสัมหิตา” กล่าวคือ ฤคเวทสัมหิตา ยชุรเวทสัมหิตา สามเวสัมหิตา และอรรถเวทสัมหิตา แต่ละพระเวทยังมีคัมภีร์ที่ใช้อธิบายอีก 4 จำพวกซึ่งเน้นขยายเนื้อหาที่เรียกว่า “เวทสัมหิตา” ต่างกัน กล่าวคือ คัมภีร์จำพวกพราหมณะ อธิบายส่วนที่เป็นพิธีกรรม คัมภีร์จำพวกอารัณยกะ ขยายรายละเอียดส่วนที่เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา คัมภีร์จำพวกอุปนิษัท เน้นอธิบายส่วนที่เกี่ยวกับปรัชญาซึ่งจะต้องศึกษารายละเอียดกับคุระอย่างใกล้ชิด และจำพวกคัมภีร์สูตระซึ่งแต่งขึ้นเพื่ออธิบายในลักษณะสรุปประเด็นคำสอนทางศาสนาหรือปรัชญาให้สั้นกระชับแต่ตรงไปตรงมา

แต่ละพระเวทก็มีหนังสืออรรถาธิบายเหล่านี้มากน้อยไม่เท่ากัน ส่วนของคัมภีร์ที่เรียกว่า ประเภทศรุติ หรือส่วนได้สดับตรับฟังมาแต่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งก็คือ ส่วนที่เป็นเวทสัมหิตา พราหมณะ อารัณยกะและอุปนิษัท ส่วนคัมภีร์อื่น ๆ ที่แต่งทีหลังนับแต่ส่วนที่เรียกสูตระไป เรียกว่า คัมภีร์ประเภทสมฤติไปทั้งหมด

คัมภีร์ฤคเวทแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นฤคเวทสัมหิตา ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุด มีทั้งหมด 10 มณฑล (บท) มีบทสวด (สูกตะ) ทั้งหมด 1,082 บท รวม ๆ แล้วมีบทกวีทั้งหมด 10,600 บท ในบรรดาฤคเวทสังหิตาทั้ง 10 มณฑล ที่นักวิชาการถือว่า เก่าแก่ที่สุด คือ มณฑลที่ 2 ถึง 8 ส่วนมณฑลที่ 1 และ 9 ถือว่า แต่งทีหลัง ทั้งนี้ พิจารณาจากลักษณะภาษาที่ใช้เขียนเป็นเกณฑ์ ส่วนที่เป็นคัมภีร์อรรถาธิบาย คือ คัมภีร์ไอตเรยพราหมณะและเกาษีตกีพราหมณะ ส่วนที่เป็นคัมภีร์จำพวกอารัณยกะก็คือ ไอตเรยะ อารัณยกะและเกาษีอารัณยกะ ส่วนที่เป็นคัมภีร์อุปนิษัท คือ ฉานโทคยอุปนิษัท และไอตเรยอุปนิษัท

ส่วนบริเวณสถานที่แต่งคัมภีร์ฤคเวทนั้น ไมเคิล วิตเซล สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณแค้นปัญจาปเดี๋ยวนี้ ด้วยฤคเวทได้ระบุถึงแม่น้ำกาบุล ซึ่งในฤคเวทใช้ว่า Kubha แม่น้ำกูรรัม ซึ่งในฤคเวทใช้ว่า Krumu และแม่น้ำโคมัล ซึ่งในฤคเวทใช้ Gomati ในปากีสถานและอาฟกานิสถาน มีระบุถึงแม่น้ำ 7 สายในแคว้นปัญจาบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ปักหลักปักฐานของชาวอารยันที่อพยพเข้ามาใหม่ในอินเดีย ระบุถึงแม่น้ำคงคาและยมุนาซึ่งอยู่ภาคตะวันออกด้วย[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ วิวัฒนาการความเชื่อของลัทธิที่เชื่อว่า มีพระเจ้าสร้างโลกในสมัยพระเวทก่อนพุทธกาล โดยปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *