ระงับเวรด้วยการอโหสิกรรม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

คำว่า “บุญทำ – กรรมแต่ง” เป็นสุภาษิตคำสอนของปู่ย่าตายาย ใช้สอนอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ทำไมแต่ละคนเกิดมามีหน้าตา นิสัย บุคลิก เส้นชะตาชีวิตที่แตกต่างกันไป พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า กรรมเก่านั้นไม่ต้องไปหาดูให้ยาก เพราะกรรมเก่าที่เราเคยทำไว้ในอดีตชาติ เมื่อเราเกิดเป็นคนได้แสดงว่า เรามีบุญที่สร้างมาดีและจะถูกกรรมนั้นตกแต่งมาก็คือ หน้าตารูปร่างนิสัยบุคลิกภาพของเรานั้นเอง

การที่เราทำอะไร ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ คือ การทำในมุมมองของกรรมเก่าและกรรมใหม่ คือ จิตที่ตัดสินใจดีหรือชั่ว จะเป็นตัวเปลี่ยนชะตาทันที การเปลี่ยนชะตากรรมขึ้นอยู่กับการตัดสินทำกรรมดีฝืนนิสัยไม่ดี ซึ่งกรรมใหม่ที่ดีนั้นจะต้องใช้เวลาในการสะสมเพื่อล้าง ปรับสภาพสมดุลกรรมเก่า

บางคนเคยทำกรรมดีสร้างบุญกุศลมามากในอดีต รอเพียงแค่ให้ในชาติใหม่ทำกรรมดีที่ยิ่งใหญ่สักครั้งก็เพียงพอจะพลิกชะตาชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ และกรรมดีที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงกรรมตนเองนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมสั่งสอนไว้ ซึ่งคำสอนนี้ได้สืบทอดกันลงมาผ่านพระภิกษุสงฆ์ นั่นคือ “วิธีปฏิบัติภาวนา” นั่นเอง อีกทั้งยังมีสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน นั่นคือ คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับการ “ขอขมา” และ “อโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวร” นั่นเอง

วิธีการที่จะขอลดหย่อนผ่อนโทษ ต่อเจ้ากรรมนายเวรนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ ๆ ที่ต้องยึดถือ คือ

  • เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
  • ตั้งใจจะไม่ทำ ไม่ร้าย ไม่ทำบาป ต่อมนุษย์รวมถึงสรรพสัตว์อื่น ๆ
  •  ทำความดี ปฏิบัติภาวนา อย่างจริงจัง
  • สร้างบารมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

นางยักษ์โสดาบัน

สังคมไทยได้ซึมซับเอาธรรมะของพระพุทธศาสนามาอยู่ในวิถีชีวิตอุปนิสัยของชาวไทยมาตั้งแต่เนิ่นนานมาแล้ว นิสัยในด้านที่ดีของชาวพุทธ คือ ตื่นเช้าไปวัดทำบุญ ฟังธรรม นิสัยโอบอ้อมอารีย์ ใส่ใจผู้อื่น การให้อภัย คนที่สำนึกผิด ในบางครั้งที่จะเห็นภาพในสื่อทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์บ่อย ๆ คือ ตำรวจจับคนร้ายที่เป็นฆาตกรไปกราบเท้าขอขมาของพ่อแม่ผู้ตาย แม้พ่อแม่ผู้ตายจะเสียใจทรมานขนาดไหนก็ตาม พวกเขาก็ระงับความ “อาฆาตพยาบาทจองเวร” ซึ่งสิ่งนี้เองที่ชาวพุทธปฏิบัติตามคำสอนอขงพระพุทธเจ้า แม้แต่ในเรื่องที่ยาก คือ การยกโทษให้อภัยกับคนที่ทำร้ายเรา หรือทำร้าย ฆ่าคนที่เรารัก ด้วยการอโหสิกรรมตามหลักคำสอน “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

คำสอน คำอธิบายของสมเด็จพระญาณสังวรที่ทรงสอนไว้ว่า เจ้ากรรมนายเวรจะไม่มีเมื่ออีกฝ่ายเลิกอาฆาตพยาบาทจองเวร สอดคล้องกับเรื่อง “นางยักษิณี” ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล

ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับที่พระเชตะวันมหาวิหาร มีอยู่วันหนึ่งก็สตรีนางกุลธิดาอุ้มทารกน้อยวิ่งหนีอย่างหวดกลัวมากราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วนางวางทารกน้อยไว้ ร้องขอให้พระพุทธองค์ทรงช่วยชีวิตลูกน้อยของนางจากนางยักษิณี พระพุทธเจ้าทรงรับช่วยเหลือนางสองแม่ลูกแล้วได้กล่าวถึงอดีตชาติระหว่าง “นางกุลธิดากับนางยักษิณี” ได้อาฆาตพยาบาทกัน จองล้างจองผลาญกันไม่เลิกราไว้ดังนี้

ในอดีตชาติมีครอบครัวตระกูลหนึ่ง บ้านนี้ประกอบด้วย บิดา มารดา และลูกชาย เมื่อบิดาเสียชีวิต มารดาก็จัดหาสตรี ลูกสาวบ้านอื่นที่ลูกชายรักมาแต่งงานเป็นภรรยา แต่ภรรยาคนแรกนี้เป็นหมันไม่สามารถมีทายาทได้ ผู้เป็นแม่จึงหาภรรยาคนที่สองเพื่อจะได้ตั้งครรภ์มีทายาทสืบสกุล

ภรรยาคนแรกคิดในใจว่า หากภรรยาคนที่สองที่แม่สามีจัดหาให้สามารถให้กำเนิดทายาทของตระกูลได้ ตนเองก็จะตกอันดับกลายเป็นนางทาสคนรับใช้ไป จึงวางแผนไปขอหญิงสาวบ้านอื่นตัดหน้า และเมื่อได้นำภรรยาคนที่สองมาอยู่บ้านเดียวกัน ต่อมา ไม่นานภรรยาคนแรกที่เป็นหมันก็วิตกกังวลว่า “ถ้านางคนนี้ จักได้บุตรหรือบุตรีไซร์ จักเป็นเจ้าของสมบัติของตระกูลแต่ผู้เดียว ควรเราจะทำนางอย่าให้ได้ทารกเลย”

ภรรยาคนแรกจึงตีสนิทเอาใจสอบถามสารทุกข์สุขดิบ เมื่อภรรยาคนที่สองตั้งครรภ์ก็บอกกับภรรยาคนแรก และนางได้จัดหาข้าวต้มอาหารโดยใส่ยาทำแท้งลงไปด้วย ทำให้ภรรยาคนที่สองแท้งบุตรถึง 2 ครั้ง ด้วยความสงสัยว่า ทำไมตนเองถึงแท้งบุตรถึงสองครั้งติดกัน ภรรยาคนที่สองจึงไปปรับทุกข์กับเพื่อนสนิท หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวแล้ว เพื่อนสนิทจึงบอกว่า “เธอโดนภรรยาคนแรกของสามีหลอกวางยาทำแท้งให้เข้าแล้ว ดังนั้น คราวหน้า เพื่อนก็อย่าบอกว่า ตั้งครรภ์ มันจะได้แกล้งใส่ยาให้เราไม่ได้”

นับตั้งแต่วันนั้น ภรรยาคนที่สองก็ไม่เคยไว้วางใจ แม้จะตั้งครรภ์ก็ไม่บอกกับใครจนกระทั่งท้องครรภ์อายุมาก จนใคร ๆ ก็ทราบว่า ภรรยาคนที่สองของบ้านนี้กำลังจะมีทายาท ทำให้ภรรยาคนแรกตกใจมาก รอจนภรรยาคนที่สองใกล้คลอด เมื่อสบโอกาสจึงใส่ยาทำแท้งในอาหาร ทำให้ทารกนอนขวางมดลูก ไม่สามารถคลอดออกมาได้ จึงเสียชีวิตทั้งแม่และลูก ก่อนจะดับจิตภรรยาคนที่สองอาฆาตพยาบาทไว้ว่า “มันทำร้ายเราได้ถึงเพียงนี้ ไม่เพียงฆ่าเรา ยังฆ่าบุตรของเราทั้งสามที่ยังไม่เคยเกิดมาอีกด้วย อย่ากระนั้นเลย เราจะตั้งจิตอาฆาต เกิดเป็นนางยักษ์เพื่อจะได้จับลูกมันกินบ้าง” แล้วนางก็ตายไปเกิดเป็นแมวของบ้านนี้

ฝ่ายสามีสุดท้ายก็ทราบเรื่องว่า ภรรยาคนแรกทำลายลูกและภรรยาคนที่สองเสียชีวิต จึงลงโทษทุบตีภรรยาคนแรกที่ตนเองรักจนทนพิษบาดแผลไม่ได้ เสียชีวิตและมาเกิดเป็น “แม่ไก่ในเล้า” ของบ้านหลังนี้เช่นกัน

เมื่อภรรยาคนแรกมาเกิดเป็นแม่ไก่ ส่วนภรรยาคนที่สองมาเกิดเป็นแมว ทุครั้งที่แม่ไก่ออกไข่ แมวก็จะมาขโมยทำลายไข่จนหมดเป็นแบบนี้ครบ 3 ครั้ง แม่ไก่ก็คิดในใจว่า เดี๋ยวแมวมันก็คงจะมาฆ่ากินเรา ดังนั้น เมื่อเราเกิดใหม่ เราจะต้องเกิดเป็นเสือโคร่ง เพื่อจะได้กินลูกมันบ้าง เมื่อแม่ไก่ตายก็ไปเกิดเป็นเสือโคร่งตามจิตอาฆาต

ส่วนแมว (ภรรยาคนที่สอง) ก็ไปเกิดเป็นกวางตัวเล็ก แล้วทุกครั้งที่แม่กวางมีลูก ก็จะถูกเสือมาฆ่าลูกกวางไปกินถึงสามครั้ง แล้วแม่กวางก็คิดว่า ในไม่ช้าเสือโคร่งก็คงจะมากินเรา ดังนั้น เราจะเกิดใหม่ในชาติหน้า เราจะมากินลูกของมันแก้แค้น เมื่อแม่กวางตายลงไป ชาติใหม่ก็มาเกิดเป็น “นางยักษิณี”

ฝ่ายเสือโคร่ง (ภรรยาคนแรก) เมื่อตายลงก็ไปเกิดเป็นลูกสาวบ้านครอบครัวหนึ่งชื่อ “กุลธิดา” เติบโตแต่งงานออกเรือนไปอยู่บ้านสามี และได้ตั้งครรภ์คลอดบุตรคนแรก ฝ่ายนางยักษิณีปลอมตัวเป็นเพื่อน ทำทีมาเยี่ยมหลาน เมื่อเห็นทารกก็จับกินทันที แม้กระทั่งคลอดบุตรคนที่สองก็ถูกนางยักษ์จับไปกิน

ทำให้นางกุลธิดาเป็นทุกข์มาก เมื่อคลอดบุตรคนที่สามนางกุลธิดาจึงพาบุตรตนเองพร้อมสามีออกเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวตนเองที่เมืองอื่น ระหว่างนี้นางยักษิณีเกิดมาเป็นทาสของท้าวเวสวัณ มีหน้าที่หาบน้ำจากสระอโนดาตเป็นเวลา 4 – 5 เดือน จึงจะพ้นเวร เมื่อนางพ้นจากหน้าที่แล้วรีบรุดมายังบ้านของนางกุลธิดา ก็ทราบว่า ทั้งครอบครัวเดินทางไปแล้ว นางยักษิณีโมโหรีบรุดเดินทางตามให้ทัน

ระหว่างทางเดิน นางกุลธิดา สามีและบุตรหยุดพักอาบน้ำที่สระโบกขรณีระหว่างทางใกล้กับวิหารเชตะวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ขณะที่สามีของนางกำลังอาบน้ำ ส่วนนางกุลธิดากำลังอุ้มให้นมบุตร นางยักษ์ตามมาทัน ทำให้นางกุลธิดาต้องอุ้มลูกตรงเข้าไปยังมหาวิหารเชตะวันทันที

นางกุลธิดาวิ่งด้วยความหวาดกลัว ตรงไปยังแท่นประทับของพระพุทธเจ้าที่ห้อมล้อมด้วยเหล่าพุทธบริษัท นางกุลธิดาวางบุตรเอาไว้ แล้วกราบทูลถวายว่า “บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลถวายบุตรให้กับพระพุทธองค์ ขอให้พระพุทธองค์ทรงเมตตาประทานชีวิตให้กับบุตรของหม่อมฉันด้วย”

ฝ่ายนางยักษิณีวิ่งติดตาม แต่ต้องหยุดที่หน้าประตูวิหารเข้าไม่ได้ เพราะสมุนเทพบุตรขวางทางไม่ให้เข้าวิหารพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์อนุญาตนำนางยักษ์เข้ามา

พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาตรัสกับทั้งสองว่า “นางยักษิณีจงมาเถิด” จากนั้นก็ปลอบโยนนางกุลธิดาว่า “เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย”

จึงตรัสสั่งสอนทั้งคู่ดังนี้ “เหตุไรเจ้าจึงทำอย่างนั้น ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าผู้เช่นเราแล้ว เวรของพวกเจ้าจักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้สะคร้อ และของกากับนกเค้า เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน? เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่”

แล้วพระพุทธเจ้าตรัสคาถาว่า “น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺ ตีธ กุทาจนํ อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน” ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับ ด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร

ครั้งพระพุทธเจ้ากล่าวคาถาจบ นางยักษิณีที่ยืนอยู่บรรลุ “พระโสดาปัตติผล” ทันที พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับนางกุลธิดาให้อุ้มบุตรไปให้นางยักษิณีได้อุ้ม ครั้งนางยักษิณีอุ้มเด็กทารกแล้วก็ร้องไห้เป็นการใหญ่ เพราะบัดนี้ใจของนางยักษ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถลงมือฆ่าสัตว์ใดได้อีก

พระพุทธเจ้าจึงถามว่า ร้องไห้ทำไม นางยักษ์ตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน ข้าพระองค์ แม้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย ไม่เลือกทาง ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง บัดนี้ ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร”

ลำดับนั้น พระศาสนาตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า “เจ้าอย่าวิตกเลย” ดังนี้ แล้ว ตรัสกับกุลธิดาว่า “เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตนแล้ว จงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี”

นางกุลธิดาจึงรับเอานางยักษ์ไปอยู่ด้วย ให้พักนอกบ้าน สถานที่อันสงบปราศจากการรบกวนของผู้คน แล้วจัดหาอาหารข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี เมื่อนางยักษ์เห็นว่า นางกุลธิดาดูแลตนเองเป็นอย่างดีจึงคิดจะตอบแทนบุญคุณ เพราะตนเองมีญาณอนาคตเรื่องสภาพภูมิอากาศ จึงแจ้งสภาพภูมิอากาศ บอกว่า ควรทำนาเมื่อใด น้ำมากหรือน้ำน้อยอย่างไร ทำให้ตระกูลของนางกุลธิดาประสบความสำเร็จในการทำนาอย่างมาก

ชาวบ้านแถวนั้นประหลาดใจมาก จึงมาสอบถามว่า ทำไมนางกุลธิดาจึงทราบล่วงหน้าว่า แต่ละปีจะต้องปลูกข้าวยังไงจึงอุดมสมบูรณ์ นางกุลธิดาจึงบอกเรื่องทั้งหมด ชาวบ้านจึงนำของมาสักการะแก่นางยักษ์ทำให้นางมีข้าวของอุดมสมบูรณ์และมีบริวาร จึงเริ่มตั้งกองทานเพื่อผู้อื่นสืบไป เรื่องราวการจองเวรระหว่าง “นางยักษ์กับนางกุลธิดา” ก็จบลงด้วยดี

ตัวอย่างของนางยักษ์กับนางกุลธิดา สะท้อนให้เห็นว่า สังสารวัฏนั้นเนิ่นนานยาวไกล แต่ละชาติล้วนมีกรรมสัมพันธ์กับคนและสัตว์ต่าง ๆ มากมาย เราอาจจะเป็นคนสร้างกรรมไม่ดีกับผู้อื่น ทำให้เกิดความอาฆาตพยาบาทจองเวรไม่ปล่อยวาง ยิ่งจองเวร ก็ยิ่งเริ่มทำกรรมหนักมากขึ้นในแต่ละชาติ หนทางเดียวที่จะตัดวงจรกรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วนั้น คือ “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

ดังนั้น “เจ้ากรรมนายเวร” คือ คน หรือสัตว์ ที่เราได้กระทำให้พวกเขาลำบากทั้งกายและใจ เช่น ด้วยการกลั่นแกล้ง ด่าว่า คดโกง ทรมาน ฆ่า อาจจะลงมือเองหรือสั่งให้คนอื่นทำ หรือเรากระทำด้วยความไม่ตั้งใจ แต่กรรมนั้นได้ส่งผล ทำให้เกิดเจ้ากรรม และเจ้ากรรมได้อาฆาตพยายามจองเวร เมื่อเจ้ากรรมได้โอกาสก็จะส่งผลต่อชีวิตหน้าที่การงาน สุขภาพหรือแม้แต่ต่อลูก ๆ หลาน ๆ ญาติพี่น้องในชาติใดชาติหนึ่ง

คำสอนของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทำให้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า เจ้ากรรมนายเวร คือ คนหรือสัตว์ที่เราเคยทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ จนพวกเขาผูกอาฆาตพยาบาทจองเวร และถ้าโชคดีเจ้ากรรมได้มาเกิดในชาติเดียวกับเรา แล้วทั้งเราและเจ้ากรรมมาพบเจอจนสร้างกรรมที่สะเทือนทั้งสองฝ่าย หากเราตั้งสติระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ให้ตั้งสติเอาไว้ว่า คนเราเกิดมาพบกันแล้วมีกรรมผูกพันพบเจอ นั้นเพราะเคยสร้างกรรมทั้งดีและไม่ดีมาด้วยกัน และถ้าในชาตินี้เขาสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ ให้ตั้งสติ “ไม่อาฆาตพยาบาทต่อ เพื่อหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” เท่ากับเราจะหลุดจากวงจรนี้ในชาตินี้ทันที

เราโชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในช่วงที่คำสอนของพระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรือง ทำให้เรามีโอกาสได้ฟังธรรมพบแสงสว่างทางแก้ไขเรื่อง “เจ้ากรรมนายเวร” เพราะตั้งแต่ที่เราเกิดมาจนถึงปัจจุบัน เราอาจจะพูดด้วยวาจา แสดงด้วยกิริยา ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ สร้างความลำบากให้กับผู้อื่น จึงเป็นธรรมปฏิบัติเมื่อผู้ชายจะออกบวช ก่อนจะบวชจะต้องกระทำการ “อโหสิกรรม” กับญาติพี่น้อง พ่อแม่ เพื่อน คนรู้จัก มีหนี้สินก็ไปชดใช้ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อไม่ให้มี “เจ้ากรรมนายเวร” มาขวางผ้าเหลือง การมี “เจ้ากรรมนายเวร” ที่ยังมีชีวิตยังง่ายที่จะลดอัตตาตัวเองลงไปขอขมาลาโทษ แต่ถ้าเจ้ากรรมนั้นไปอยู่ภพชาติอื่นก็ยากที่จะบอกกล่าวพวกเขาเหล่านั้นได้ นอกเสียจาก ใช้วิธีตั้งจิตอธิษฐาน เพิกถอนความอาฆาตต่อกัน เป็นการระงับเวร และบรรเทากรรมไปได้ในตัว

เวรย่อมระงับ : ด้วยการไม่จองเวร

เราควรตั้งจิตอธิษฐาน เพิกถอนจิตที่อาฆาตพยาบาทจองเวรต่อผู้อื่นที่เคยทำร้ายเราทุกภพทุกชาติ เพื่อเราจะได้ปลดปล่อยโซ่ตรวนของเราออกจะได้เป็นอิสระก่อน จากนั้นให้อธิษฐานขออโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวรที่เราเคยทำร้าย ทำลาย ร่างกายและจิตใจของสรรพสัตว์อื่น ๆ ที่เราเคยทำทุกภพทุกชาติ ให้อธิษฐานเช่นนี้บ่อย ๆ ทุกครั้งเมื่อทำบุญกุศลใด ๆ ก็ตาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *