“เจ้ากรรม นายเวร ส่งผลให้ชีวิตพลิกผัน” มารู้จักกับเจ้ากรรมนายเวรกันเถอะ

หากชีวิตที่กำลังดำเนินมาอย่างสุขสบายมีหน้าที่การงานทำ มีรายได้ดีเข้ามาเพียงพอต่อความต้องการ มีเงินเดือนประจำ ไม่ตกงาน อาชีพการงานกำลังก้าวหน้า จะติดต่อลูกค้า ทำสัญญาค้าขายก็มีความราบรื่น ชีวิตครอบครัวอยู่กันตามปกติสุข ร่างกายสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงประจำตัว หากไม่สบายเพียงแค่เจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไข้หวัดตามฤดูกาล

แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตที่แสนปกติสุขของเราเกิดสะดุดกลางคัน เช่น ตกงาน อกหัก เพราะแฟนบอกเลิก สามีมีเมียน้อย ภรรยาไปมีชู้ ท้องก่อนแต่ง โดยเพื่อนกลั่นแกล้ง ถูกจับ ถูกใส่ร้าย เกิดอุบัติเหตุทำให้ร่างกายพิการเกิดเป็นโรคร้ายกะทันหัน ติดเชื้อโรคร้าย คนในตระกูลเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้บ้าน หน้ามือชั่ววูบคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่ไม่ตายกลับพิการ มีคนมากล่าวร้ายให้โทษโดยที่เราไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ เกิดภัยธรรมชาติ สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว จนบ้านพังเสียหาย ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่ทำให้ชะตาชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดขึ้นเพราะ “กรรม” และ “เจ้ากรรมนายเวร” ที่ตามมาทวง ทำให้คนส่วนใหญ่กลัวคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” มาก

สำหรับชาวพุทธทุกคนล้วนรู้จัก “เจ้ากรรม – นายเวร” ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหู คุ้นใจ ของเรามาตั้งแต่จำความได้ เพราะได้ยินจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ทุกครั้งที่เราทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด โดยหลังจากที่ปฏิบัติสวดมนต์ภาวนา หรือแม้แต่หลังสวดมนต์ก่อนนอน เราจะตั้งจิตแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งปวงและอุทิศผลบุญกุศลที่ได้กระทำมาทั้งวันในแต่ละวัน รวมถึงผลบุญกุศลทั้งหมดทั้งปวงที่เคยทำมาแล้วในอดีตชาติ ขออุทิศผลบุญนั้นให้กับ “เจ้ากรรมนายเวร” ทุกภพทุกชาติ ตามบท “แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล” ที่คุ้นเคยกันดี

เรื่องของกรรม ยากแท้หยั่งถึง

เมื่อเราไปทำบุญที่วัด ก่อนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร หลวงพ่อเจ้าอาวาสที่นั่งเป็นประธานสงฆ์ ท่านให้โอวาทคำสั่งสอนเรื่องของกรรมและเจ้ากรรมนายเวรว่า “กัมมุนา วัตติ โลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และกรรมนี้ไม่ใช่ใครเป็นคนทำ เราเป็นคนทำกรรมขึ้นมา ซึ่ง “กรรม” แปลว่า “การกระทำ” ที่เรากระทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่วมามากมายหลายชาติ เพราะคนเราและเหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง ล้วนเกิดมานับชาติไม่ถ้วนได้ทำกรรมต่าง ๆ มามากมาย

กรรมก็เหมือนเงาที่ติดตามตัวเรา สลัดไม่พ้น งานของเรา คือ หันมาทำความเข้าใจว่า กรรมคืออะไร เล่นงานเราอย่างไร แล้วเจ้ากรรมนายเวรนี้ไม่ไปผุดไปไม่เกิดหรืออย่างไร จึงตามตัวเรามาตลอด หรือถ้าเจ้ากรรมนายเวรไปผุดไปเกิดแล้ว ให้อภัยเราแล้ว ทำไมเรายังได้รับกรรมอีก

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า “เรื่องของกรรมเป็นเรื่องซับซ้อนเหมือนกองด้ายที่พันกัน”

“กรรม” เป็นเรื่องที่อจินไตยยากจะหยั่งถึง เพราะมันพัวพันกันมาหลายร้อยหลายพันชาติ ยากที่จิตปุถุชนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นพุทธทายาทซึ่งปฏิบัติสืบสายธรรมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล อบรมสั่งสอนประสบการณ์ของนิมิตธรรม นิมิตกรรมต่าง ๆ ขณะปฏิบัติภาวนาเพื่อพ้นทุกข์

พระสงฆ์เหล่านั้นได้รับคำแนะนำ อุบายธรรมจากพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ ในเรื่องของการแก้ไขสภาวธรรม สืบมารุ่นต่อรุ่น จนเกิดมีพระอริยสงฆ์ติดต่อกันจนมาถึงปัจจุบัน แต่ละท่านได้อบรมสั่งสอนทายาทธรรมต่อ ๆ กันลงมาในสายการปฏิบัติภาวนา

การสอนดังกล่าว เป็นการสอนที่บอกจากประสบการณ์ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์จากสายต่าง ๆ ซึ่งเราจะได้รับฟังคำสอนเหล่านี้ ก็ต่อเมื่อไปวัดปฏิบัติฟังธรรมจากท่าน ทำให้พอจะรวบรวมคำอธิบายความหมายของ “เจ้ากรรมนายเวร” ได้

มารู้จักกับเจ้ากรรมนายเวรกันเถอะ

สรรพสัตว์ล้วนเกิดมาแล้วมากมายหลายชาติ เวียนวนอยู่ในภพภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ สวรรค์ชั้นกามาจรและพรหมไป ๆ มา ๆ อยู่แค่นี้ แต่ละชาติทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เราอาจจะสร้างความทุกข์กาย ทุกข์ใจให้กับคนอื่น สรรพสัตว์อื่น ให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรืออาจจะทรมานฆ่า สังหาร เมื่อเรามาเกิดใหม่เราก็จะจดจำอดีตชาติไม่ได้ แต่กรรมนั้นไม่ได้หายไปไหน เพราะกรรมเหมือนเงาตามตัว ไม่ว่าจะเกิดกี่ชาติ กรรมนั้นจะต้องได้รับการชดใช้ ชำระหนี้สิน จึงจะล้างกรรมนั้นได้

ก่อนอื่นเราจะต้องแยกแยะระหว่าง “เจ้ากรรมนายเวร” กับ “กรรม” ที่เรากระทำ เพราะในบางครั้งแม้เจ้ากรรมนายเวรจะไม่ติดใจอาฆาตพยาบาท แต่กรรมนั้นก็ยังชดใช้อยู่ ยกตัวอย่าง ถ้าเราทำกรรมไม่ดีกับแม่แม้แม่ของเราจะไม่อาฆาตพยาบาทก็ตาม แต่กรรมนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และรอส่งผลเมื่อกรรมอื่น ๆ ในชีวิตเบาบางลง

เพื่อความเข้าใจให้ชัดเจน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ท่านได้ทรงให้ความหมายของเจ้ากรรมนายเวรไว้ในหนังสืออำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรมไว้ว่า “เจ้ากรรมนายเวร คือ ผู้ที่ถูกทำร้ายก่อนและผูกอาฆาตจองเวร แม้ไม่อาฆาตจองเวรก็ไม่เป็นเจ้ากรรมนายเวร คือ ไม่เป็นผู้คิดร้าย ไม่ติดตามทำร้ายตอบสนองที่เรียกว่า “แก้แค้น”

ส่วน “พระธรรมกิตติวงศ์” ได้เขียนความหมายของเจ้ากรรมนายเวรไว้ในหนังสือ “คำวัด” ว่า เจ้ากรรมนายเวร หมายถึง บุคคล 2 พวก คือ

  1. พวกแรก เป็นผู้ที่มีกรรมมีเวรติดตัวไป กล่าวคือ ขณะมีชีวิตอยู่ได้ทำความชั่วไว้ ตายไปจึงได้รับผลเป็นทุกข์อยู่ภพภูมิที่ตนเกิด เช่น นรก เปรต เป็นต้น
  2. พวกที่สอง คือ ผู้ที่เคยผูกเวรจองกรรมกันไว้ เช่น เคยฆ่ากันไว้ เคยฉ้อโกงกันไว้ เคยผิดใจกันหรือเคยอาฆาตกันไว้

ส่วนในหนังสือ “อภัยทาน” ที่เขียนโดย “พระปิยโสภณ” ได้ให้ความหมายของเจ้ากรรมนายเวร ไว้ว่า

“เจ้ากรรมนายเวร” คือ สัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเป็นอาหาร เราชอบกินหมู เจ้ากรรมนายเวรของเราก็คือ หมู เราชอบกินไข่ เจ้ากรรมนายเวรของเราก็คือ ไก่ เราชอบกินเป็ด เจ้ากรรมนายเวรของเรา คือ เป็ด แม้ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เรากินมาตั้งแต่เกิดกระทั่งวันนี้นับไม่ถ้วนว่า กี่ร้อยกี่พันชีวิตก็คือ เจ้ากรรมนายเวรของเราทั้งสิ้น

จะเห็นว่า เมื่อเราทำความเข้าใจความหมายของเจ้ากรรมนายเวรจะหมายถึง คนหรือสัตว์ที่เราสร้างความยากลำบากให้พวกเขาทั้งที่ตั้งใจ ไม่ตั้งใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จัดลำดับได้ดังนี้

  1. อยู่ในภพภูมิเดียวกัน เจ้ากรรมนายเวร คือ คนหรือสัตว์ ที่เราทำร้ายให้ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจโดยตรง ซึ่งพวกเขาได้ผูกอาฆาตจองเวร และยังอยู่ในภพภูมิเดียวกับเรา ซึ่งมีโอกาสของผลกรรมที่จะส่งผลให้พวกเขามาพบเจอแล้วทำให้เราจะต้องชดใช้กรรมต่อพวกเขา
    1. เหล่าสัตว์ต่าง ๆ ที่เรามีส่วนทำให้พวกเขาลำบาก เพราะไปเบียดเบียนชีวิตเขา เช่น พวกสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเป็นอาหาร วัว ควาย หมู ปลา ไก่ สัตว์บางตัวจิตก่อนตายอาจจะอาฆาตพยาบาท แบบนี้เรียกว่า กรรมสะสมรวมของสังคมทั้งระบบ
  2. อยู่คละภพภูมิ เจ้ากรรมนายเวร ที่เราทำร้ายพวกเขา แล้วพวกเขาอาฆาตพยาบาท แต่เนื่องจาก พวกเขาไม่ได้มาเกิดในภพภูมิเดียวกับเรา เช่น อยู่ในนรก สวรรค์ พรหม เปรต เป็นต้น จึงไม่มีโอกาสพบเจอเพื่อแก้แค้น แต่ความอาฆาตพยาบาทยังอยู่
  3. เจ้ากรรมนายเวรที่เป็น “กรรมชั่ว” ที่เราสร้างเอง เช่น อิจฉาริษยา ไปกลั่นแกล้งคนอื่น แม้พวกเขาจะไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ได้ให้อภัย ไม่จองเวร แต่ถ้ากรรมยังไม่เป็นอโหสิกรรม กรรมนั้นย่อมรอส่งผลให้ชดใช้ในวันใดวันหนึ่ง

เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า ใครบ้างที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา พวกเขาเหล่านั้น อาจจะเป็นคนใกล้ตัว เช่น แฟน ลูก ๆ ญาติ เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ สัตว์อื่น ๆ หรือวิญญาณตนอื่นที่เราไปเที่ยวแล้วพบเจอ แล้วพวกเขาสร้างความทุกข์ทางกาย เช่น ทำร้าย ฆ่า รถชน อุบัติเหตุ สัตว์วิ่งเข้ามากัดวิญญาณตามมาอาฆาต บางครั้งก็คือ กรรมของเราเองที่ทำให้งาน ชีวิต การเงิน สะดุดจนถึงขั้นล้มละลาย

แต่ไม่ว่าชีวิตจะเจอเรื่องรุนแรงใด ๆ หรือพลิกผันอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหนทางรับมือเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา หรือแก้ไขสลายความอาฆาตพยาบาทของเจ้ากรรมนายเวรได้ เพียงแต่ต้องมีลำดับขั้นตอน และกระทำไปอย่างถูกต้อง และไม่ขัดต่อหลักพุทธศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *