ทำอย่างไรให้เจ้ากรรมนายเวรเป็นมิตร

การแก้กรรมตัดกรรมไม่เหมือนกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน การขอขมาหรืออโหสิกรรมเพื่อสิ้นสุด ยุติการจองเวรซึ่งกันและกัน ล้วนขึ้นอยู่กับเจ้ากรรมนายเวรทั้งสิ้น เจ้ากรรมนายเวรอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะทวงคืนจากเราเมื่อไหร่ก็ได้ หรืออาจเมตตายกหนี้ให้เราเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน การขอโทษหรือขออภัยแก่เจ้ากรรมนายเวรจึงต้องทำด้วยเจตนาที่จริงใจ มิใช่ทำเพื่อให้พ้นตัวเท่านั้น วิธีทำให้เจ้ากรรมนายเวรเป็นมิตรตามแนวทางพุทธศาสนา ดังนี้

แผ่เมตตาอย่างมีเมตตา

พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะมารด้วยการแผ่เมตตา พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำอย่างมากคัมภีร์ วิสุทธิมรรคได้บันทึกวิธีปฏิบัติเพื่อลดการจองเวรไว้ว่า

“เริ่มต้นให้ฝึกวางจิตเป็นกลางเท่า ๆ กัน ในคน 4 จำพวก คือ ในตัวเอง ในคนที่ตัวเองรัก ในคนที่ตัวเองรู้สึกกลาง (ไม่รักไม่เกลียด) และในคนที่มีเวร (โกรธแค้น) ต่อกัน จนเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองกับคนเหล่านั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

การแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้แผ่เมตตาต้องมีเมตตาในจิตใจเสียก่อน วิธีปฏิบัติ คือ ในกรณีที่เรารู้ชัดว่า เจ้ากรรมนายเวรเป็นใคร ให้ตั้งจิตเป็นสมาธินึกถึงบุคคลนั้นจนเห็นภาพของเขาชัดเจนแล้วแผ่เมตตาไปให้

สำหรับในกรณีที่ไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นใคร ให้พยายามทำจิตเป็นสมาธิแล้วแผ่เมตตาไปทีละทิศ เริ่มจากทิศไหนก่อนก็ได้ทำไปให้สม่ำเสมอ เจ้ากรรมนายเวรที่เป็นคน สัตว์และโอปปาติกะ ในแต่ละทิศจะได้รับพลังเมตตาของเราอย่างทั่วถึง

กรรมใดที่ทำแล้วไม่ทำให้เดือดร้อนใจภายหลัง กรรมนั้นจัดเป็นกรรมดี

กรรมใดที่ทำแล้วทำให้เดือดร้อนใจภายหลัง กรรมนั้นจัดเป็นกรรมชั่ว

การทำกรรมเริ่มจากใจ จิตหรือวิญญาณ คนเราคิดด้วยใจแล้วจึงทำกรรมทางกายและทางวาจาเมื่อทำกรรมแล้ว ผลของกรรมก็ตกค้างอยู่ในใจนั่นเอง การทำให้เกิดความสุขใจหากเป็นกรรมดี และทำให้เกิดความทุกข์ใจหากเป็นกรรมไม่ดี

อาจมีบางคนแย้งว่า แน่หรือที่กรรมดีทำให้เกิดความสุขใจ แน่หรือที่กรรมไม่ดีทำให้เกิดความทุกข์ใจ เพราะจากประสบการณ์ของพวกเขา การทำความดีไม่ได้ทำให้เกิดความสุขในทุกครั้งไป บางครั้งกลับทุกข์ใจเพราะไม่อยากทำ หรือไม่มีศรัทธาแต่ต้องฝืนใจทำ การทำความชั่วก็ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใจทุกครั้งเช่นกัน วิธีคลี่คลายข้อโต้แย้งนี้ คือ ต้องกลับไปดูเจตนา ทั้งเจตนาก่อนทำ เจตนาขณะทำและเจตนาหลังทำ

ในทางพุทธศาสนา เจตนาก่อนทำ เรียกว่า “ปุพพเจตนา” จะเกิดนานหรือไม่นานก็แล้วแต่ ถือว่า เป็นเจตนาก่อนทำทั้งหมด เจตนาขณะทำ เรียกว่า “มุญจนเจตนา” เน้นไปที่ขนาดลงมือทำ เช่น ขณะตักข้าวใส่บาตร ขณะยื่นของให้คนอื่น ส่วนอปราปรเจตนา (อะ ปะ รา ปะ ระ เจตนา) แปลว่า เจตนาหลังและหลัง หมายถึง หลังลงมือทำแล้ว ครอบคลุมทั้งหลังทำใหม่ ๆ และหลังทำไปแล้วเป็นเวลานาน

การให้ผลของกรรมแบ่งเป็น 2 ชั้นด้วยกัน คือ ผลชั้นในกับชนชั้นนอก

ผลชั้นใน คือ ผลทางใจที่เกิดขึ้นทันทีที่ทำกรรม อาจให้ผลเป็นบาปหรือคุณธรรม ผลกรรมชั้นในนี้ ทำเมื่อไรให้ผลเมื่อนั้นทำที่ไหนให้ผลที่นั่น ทำที่บ้านให้ผลที่บ้าน ทำที่วัดให้ผลที่วัดทำที่โรงพยาบาลให้ผลที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ผู้ทำกรรมสามารถสร้างผลกรรมให้แก่ตัวเองได้ เพราะเกิดผลทางใจแก่ตนเอง คนไหนทำความดี คนนั้นก็มีความสุข

ผลชั้นนอก คือ ผลกรรมชั้น 2 ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ หรือในทางกลับกันอาจให้ผลเป็นความเสียหาย เสื่อมลาภ เสื่อมยศ มีคนติฉินนินทา ผลกรรมชั้นนอกนี้ เมื่อทำกรรมแล้วไม่รู้เวลากรรมส่งผลที่แน่นอน ทำเช้าอาจให้ผลเย็น ทำวันนี้อาจให้ผลวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไปก็เป็นได้ทั้งนั้น อีกทั้งไม่รู้ว่ากรรมจะให้ผลที่ไหนขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่หรือสถานะ ร่างกายบุคลิกภาพ และการทำต่อเนื่อง องค์ประกอบเหล่านี้สามารถมาสนับสนุนหรือขัดขวางการส่งผลของกรรมชั้นนอก

เวลาเกี่ยวข้องกับการให้ผลของกรรมชั้นนอก เปรียบเสมือนชาวสวนปลูกพืชผัก เมื่อปลูกแล้วต้องรอเวลาให้พืชผักเติบโต หรือสุกงอมไปตามธรรมชาติ พืชผักแต่ละชนิดมีเวลาสุกงอมแตกต่างกัน บางชนิดสุกเร็ว บางชนิดสุกช้า เวลาที่กำจะให้ผลก็เช่นกัน กรรมแต่ละชนิดย่อมมีเวลาให้ผลแตกต่างกัน บ้างเร็วบ้างช้า บางจังหวะเวลาก็สนับสนุนการให้ผลของกรรมบางอย่าง แต่ทั้งนี้การส่งผลของกรรม มิได้ขึ้นอยู่กับเวลาแต่อย่างเดียว

สถานที่และสถานะ ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการให้ผลของกรรมด้วยเช่นกัน เปรียบเหมือนที่ดิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปลูกพืชผัก พืชผักบางชนิดปลูกในดินได้ทุกพื้นที่ แต่บางชนิดเหมาะกับดินบางแห่งเท่านั้น เช่นเดียวกับกรรมแต่ละชนิดย่อมมีสถานที่ หรือสถานะรองรับการให้ผลของกรรม ซึ่งเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง บางสถานที่หรือบางสถานะก็สนับสนุนให้กรรมบางอย่างส่งผล แต่บางสถานที่หรือบางสถานะก็ขัดขวางการให้ผลของกรรมบางอย่าง

ร่างกายและบุคลิกภาพ ของผู้ทำกรรมเกี่ยวข้องกับการให้ผลของกรรมทั้งดีและไม่ดีด้วยเช่นกัน ร่างกายและบุคลิกภาพบางอย่างสนับสนุนการให้ผลของกรรมบางอย่าง บางอย่างก็ขัดขวางการให้ผลของกรรมบางอย่าง

การทำต่อเนื่อง ความต่อเนื่องของการทำกรรมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญมากทีเดียว การทำกรรมดีอย่างต่อเนื่องจะช่วยปรับเวลา สถานที่ หรือสถานะ ตลอดจนบุคลิกภาพให้พร้อมรองรับผลของกรรมดี แต่หากทำกรรมชั่วอยู่ไม่เคยเว้น ความต่อเนื่องจะเป็นตัวเริ่มให้กรรมชั่วให้ผลเร็วขึ้น

องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ หากเกื้อกูลให้กรรมดีส่งผลเรียกว่า สมบัติ หมายความว่า พร้อมด้วยกาลสมบัติ เวลา คติสมบัติ (สถานที่และสถานะ) อุปธิสมบัติ (ร่างกายและบุคลิกภาพ) และปโยคสมบัติ (การกระทำต่อเนื่อง) กรรมดีจึงให้ผล แต่หากไปเกื้อกูลให้กรรมชั่วส่งผลจะเรียกว่า วิบัติ ประกอบด้วยกาลวิบัติ คติวิบัติ อุปธิวิบัติ และปโยควิบัติ หมายความว่า มีปัจจัยเกื้อหนุนให้เลวร้ายไปหมด จึงส่งผลอย่างรุนแรงจนเจ้าของกรรมพบกับความวินาศเดือดร้อน

ความผลัดพลาดที่เกิดจากกรรมและกรรมที่ทำให้ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

จากเรื่องราวของ ดร.บรรณจบ บรรณรุจิ เรื่องที่เขาเป็นคนขยันทำมาหากินทำการค้าหลายอย่างจนฐานะมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ และยึดอาชีพเพาะพันธุ์ปลาขายเป็นหลัก เมื่อผสมพันธุ์แม่ปลาจนได้ลูกปลาแล้วเขาจะแย่งลูกปลามาเลี้ยงไว้ต่างหาก เพื่อเตรียมขาย กิจการเพาะพันธุ์ปลาเฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา เขาจึงเพิ่มบริการส่งลูกปลาไปตามบ่อเลี้ยงปลาและตามร้านอาหารด้วย

เจ้าของบ่อต่างซื้อลูกปลาไปเลี้ยง ส่วนร้านอาหารก็ซื้อลูกปลาเล็ก ๆ ไปปรุงขายให้ลูกค้า วิธีการปรุงค่อนข้างน่าหวาดเสียว เมื่อลูกค้าสั่งแกงส้มผักบุ้ง ทางร้านจะจุดหม้อไฟต้นน้ำแกงจนเดือดพอน้ำแกงเดือดก็จะใส่ลูกปลาเป็น ๆ ลงไปพร้อมกับผักบุ้ง เจ้าลูกปลาตัวเล็กจิ๋วเมื่อเจอความแสบร้อนของน้ำแกงที่กำลังเดือดพล่าน พวกมันรีบว่ายน้ำเข้าไปหลบอยู่ในโพรงก้านผักบุ้งด้วยคิดว่าปลอดภัยแต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือ ที่ตาย ลูกปลาเล็ก ๆ ที่ตายอัดกันอยู่ในก้านผักบุ้งกลายเป็นอาหารมื้อพิเศษสำหรับนักกินหรือนักชิมทั้งหลาย แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่า ความทรมานของลูกปลาได้ก่อความอาฆาตพยาบาทไว้เพียงใด

กิจการเพาะลูกปลาขายทำกำไรงามมาก ในที่สุดผู้เป็นเจ้าของกิจการจึงซื้อรถบรรทุกมาให้ ลูกชายขับไปส่งลูกปลาตามร้านต่าง ๆ เขารักลูกชายคนนี้มาก เพราะขยันทำมาหากิน เชื่อฟังพ่อแม่ ไปเที่ยวเตร่หรือหมกมุ่นอบายมุข เขาวางแผนอย่างตั้งอกตั้งใจว่าจะให้ลูกชายบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ จากนั้น จะจัดการให้ลูกชายได้แต่งงานกับหญิงสาวที่หมายหมั้นกันไว้ แต่แล้ววันหนึ่งความหวังที่วาดไว้ก็พังทลายขณะขับรถไปส่งลูกปลาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ลูกชายของเขาขับรถไปประสานงากับรถสิบล้อที่วิ่งลวนมาและเสียชีวิตในทันที

หลังจาก งานศพลูกชายผ่านพ้นไป เขาตัดสินใจเลิกอาชีพเพาะลูกปลาขายอย่างเด็ดขาด เพราะได้รู้ซึ้งแล้วว่า การพลัดพรากจากลูกนั้นทุกข์ทรมานเพียงใด แม่ปลาไม่รู้กี่ร้อยพันตัวที่ต้องทุกข์เพราะพลัดพรากจากลูกอันเนื่องจากการกระทำของตน เขาเชื่ออย่างสุดใจว่า เหตุร้ายครั้งนี้เป็นเรื่องของกรรมให้ผล เจ้ากรรมนายเวรทำให้เขาต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักเพื่อชดใช้กรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องราวของ ดร.บรรณจบ บรรณรุจิ เรื่องที่กรรมที่ทำให้ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก อาชีพที่เป็นการก่อกรรมทางอ้อมแล้วอาจมีเจ้ากรรมนายเวรโดยไม่รู้ตัว คือ การค้าขายสุราหรือของมึนเมา เจ้าของร้านเหล้ารายหนึ่ง เขามีครอบครัวที่รักกันมา ทุกคนในครอบครัวต่างเป็นคนดีและเข้าใจกันดี แต่เวลาคิดทำอะไรมักจะประสบปัญหาตลอด บางครั้งวางแผนอย่างรอบคอบแล้ว แต่ก็มีเหตุให้ผิดแผนอย่างไม่น่าเป็นไปได้

เจ้าของร้านเหล้าคิดว่า ปัญหาจิปาถะที่มาจากอาชีพขายเหล้า เพราะลูกค้าที่มากินเหล้ามักจะเมามาย บ้างทะเลาะกันเองในหมู่เพื่อน บ้างกลับบ้านไปอาละวาดกับลูกเมีย บ้านรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตบตีกัน ทั้งหมดเป็นกรรมที่ตัวเขาเองในฐานะเจ้าของร้านเหล้าก็มีส่วนเพราะทำให้ครอบครัวคนอื่นเดือดร้อน ไม่มีความสุข

การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ครอบครัวต้องรับมือกับปัญหาต่าง ๆ นานา นับเป็นการเบียดเบียนของเจ้ากรรมนายเวรในรูปแบบของผลกรรม หลังจากหมดภาระส่งเสียลูกชาย เจ้าของร้านเหล้าจึงตั้งใจจะเลิกกิจการอย่างเด็ดขาด เพราะไม่อยากสร้างเจ้ากรรมนายเวรจากการประกอบอาชีพข้องเกี่ยวกับอบายมุข และเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาในครอบครัว

เรื่องราวทั้งสอง สามารถอธิบายได้ด้วยพระสูตจูฬากัมมวิภังคสูตร จูฬกัมมวิภังคสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งในจำนวนสิบสูตรของวิภังครวรรค ในมัชฌิมนิกาย พระสูตรนี้ว่าด้วยคนทำกรรมแล้วได้รับผลต่าง ๆ ที่มา พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สุภมานพโตเทยบุตร ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี เพื่อทรงตอบปัญหาของสุภมานพ เรื่องเหตุที่ทำให้สัตว์มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย

รูปแบบของพระสูตร รูปแบบของจูฬกัมมวิภังคสูตรเป็นการสนทนาแบบถาม – ตอบ มีอุปมาอุปไมย ประกอบใจความสำคัญของพระสูตร สุภมานพ โตเทยบุตร ทูลถามถึงเหตุที่ทำให้สัตว์มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคน้อย เป็นต้นและกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมจึงจำแนกสัตว์ให้ เลวและดีต่างกัน เมื่อมาณพกราบทูลให้อธิบาย จึงตรัสอธิบายเป็น 7 คู่ คือ

  1. เหตุที่ทำให้อายุสั้น เพราะฆ่าสัตว์ เหตุที่ทำให้อายุยืน และไม่ฆ่าสัตว์
  2. เหตุที่ทำให้มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ เหตุที่ทำให้มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
  3. เหตุที่ทำให้มีผิวพรรณทราม เพราะเป็นผู้มักโกรธ เหตุที่ทำให้ผิวพรรณผ่องใส เพราะเป็นผู้ไม่โกรธ
  4. เหตุที่ทำให้มีอำนาจน้อย เพราะมีใจริษยา เหตุที่ทำให้มีอำนาจมาก เพราะมีใจไม่ริษยา
  5. เหตุที่ทำให้เป็นคนยากจน เพราะเป็นคนตระหนี่ ไม่เคยบริจาค เหตุให้เป็นคนร่ำรวย เพราะเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น
  6. เหตุที่ทำให้เกิดในตระกูลต่ำ เพราะเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ เหตุที่ทำให้เกิดในตระกูลสูง เพราะเป็นคนมีสัมมาคารวะอ่อนน้อมถ่อมตน
  7. เหตุที่ทำให้เกิดเป็นโง่เขลา เพราะเป็นคนไม่ใฝ่ศึกษา เหตุที่ทำให้เกิดเป็นคนมีปัญญา เพราะเป็นคนใฝ่หาความรู้ สนใจเรื่องบาปบุญ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *