การไปทำงานในสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงมาก เศรษฐกิจของสิงคโปร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีเศษที่ผ่านมา มีการขยายตัวของการค้าและบริการมาก ทั้งมีการขยายตัวของการลงทุนมาก การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานมาก จึงมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อทดแทนแรงงานขาดแคลน

มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมแรงงานต่างด้าวของสิงคโปร์

มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลของสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวในฐานะที่มีส่วนช่วยให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ และการขยายตัวของการลงทุนในสิงคโปร์อย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลสิงคโปร์จึงได้มีการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานชั่วคราวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีการจัดหาแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม ตามความจำเป็นของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ นายจ้างได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวได้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยจะต้องมีการทำสัญญาจ้างแรงงาน และห้ามมิให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ นำครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยในสิงคโปร์

ถึงแม้ความจำเป็นในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว จะเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน แต่ว่านโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์นั้น รัฐบาลยังคังต้องการให้แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานประเภทชั่วคราวเท่านั้น โดยจะสังเกตได้จากการออกใบอนุญาตให้ทำงาน สำหรับแรงงานต่างด้าวมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี แต่สามารถขยายระยะเวลาได้ และยังมีข้อจำกัดไม่ให้แรงงานต่างด้าวแต่งงานกับชาวสิงคโปร์ หรือจำกัดการมีครอบครัว มีการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมจำนวนประชากรของแรงงานต่างด้าว 2 มาตรการ คือ การตั้งข้อบังคับจัดเก็บภาษีรายเดือน และมาตรการไม่ให้ความอิสระแก่แรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตาม จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ ก็ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่า จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งปี พ.ศ. 2509 มีการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นจำนวน 34,599 คน จนถึงปี พ.ศ. 2537 จำนวนแรงงานที่ถูกว่าจ้างได้สูงขึ้นถึง 108,820 คน

การเข้าไปทำงานในสิงคโปร์ของแรงงานต่างด้าวมีอยู่ 3 แบบ คือ การเข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตการทำงาน และมีการทำสัญญาจ้างกับนายจ้าง และการเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายซึ่งแบ่งได้ดังนี้

  1. ประการที่หนึ่ง แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศสิงคโปร์โดยผิดกฎหมาย และอยู่ทำงานต่อแรงงานต่างด้าวประเภทนี้จะลักลอบเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ โดยไม่มีหนังสือเดินทาง ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวเป็นชาวมาเลเซีย ที่เข้ามาโดยอาศัยช่องทางการเข้าออกประเทศสิงคโปร์ได้โดยง่าย โดยเข้ามาตามแนวชายแดนเพื่อเข้ามาลักลอบทำงาน
  2. ประเภทที่สอง แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศสิงคโปร์ โดยถูกกฎหมายในฐานะนักท่องเที่ยวและอยู่ทำงานต่อในวิซ่านักท่องเที่ยว หลังจากวีซ่าหมดอายุ 14 วัน ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศสิงคโปร์ในลักษณะนี้ เป็นแรงงานผิดกฎหมายด้วยความสมัครใจ แต่แรงงานประเภทนี้จะอยู่ในประเทศสิงคโปร์ได้ไม่เกิน 90 วัน มิฉะนั้น จะต้องรับโทษหนักตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะต้องโดนเฆี่ยนหรือโบยตีด้วย
  3. ประเภทที่สาม แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศสิงคโปร์โดยมีใบอนุญาตทำงาน แต่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วก็ยังทำงานต่อ โดยเมื่อใบอนุญาตทำงานหมดอายุก็จะกลายเป็นแรงานที่ผิดกฎหมายทันที หรืออาจเป็นแรงงานที่ใช้เอกสารปลอม เช่น ใบอนุญาตทำงานปลอม รวมถึงผู้อพยพซื้อ ซึ่งหมายถึง แรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จนครบกำหนดที่ให้ใบอนุญาตทำงาน คือ ครบ 4 ปีเรียบร้อยแล้ว และกลับเข้ามาในประเทศสิงคโปร์อีกครั้ง ภายใต้ชื่อใหม่และใช้หนังสือเดินทางปลอม

ประเทศสิงคโปร์ได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว คือ กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและกฎหมายการจ้างงาน (The Employment Act) ซึ่งบังคับใช้กับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

  1. ระบบการอนุมัติจ้างแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวที่ต้องการจะทำงานในประเทศสิงคโปร์ จะต้องยื่นคำขอต่อทางการของประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตให้เข้าประเทศสิงคโปร์ การยื่นคำขออนุญาตทำงานในประเทศสิงคโปร์ จะต้องยื่นคำขอก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในประเทศสิงคโปร์มี 2 แบบ คือ
    1. ใบอนุญาตการจ้างงาน ใช้สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีคุณสมบัติทางอาชีพ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความชำนาญทางด้านเทคนิค โดยแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตการให้ทำงาน ซึ่งเป็นใบอนุญาตสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานต่างด้าวได้เดินทางเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจ อาชีพ หรือการงานใดที่ได้รับอนุมัติจากทางการของประเทศสิงคโปร์แล้ว หรือเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำงานกับบริษัท หรือกิจการที่ได้รับอนุมัติแล้ว
    2. ใบอนุญาตการให้ทำงาน (Work Permit) ใช้สำหรับแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในประเทศสิงคโปร์ภายใต้พระราชบัญญัติข้อบังคับการจ้างงาน
  2. ระยะเวลาการอนุญาตการจ้างงาน ใบอนุญาตการจ้างงานของแรงงานต่างด้าว ที่เป็นผู้มีความชำนาญทางด้านเทคนิคมีอายุไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่จะมีการต่อใบอนุญาตซึ่งเป็นการอนุมัติเป็นคราว ๆ ไป ส่วนใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือมีอายุ 2 ปี และสามารถต่อใบอนุญาตได้เพียงครั้งเดียวอีกไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ หลังจากระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง หรือสิ้นสุดการทำงาน หรือแรงงานต่างด้าวได้ลาออกจากการทำงาน ให้แรงงานต่างด้าวผู้นั้นรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อ ผู้อนุมัติใบอนุญาตการจ้างงาน หรือใบอนุญาตการทำงานภายใน 7 วัน นับแต่วันเสร็จสิ้นหรือสิ้นสุดการจ้างงาน หรือการลาออกจากการจ้างงาน และในกรณีที่แรงงานต่างด้าวต้องการจะทำงานต่อ ก่อนใบอนุญาตจะหมดอายุให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อผู้อนุมัติใบอนุญาตและยื่นคำร้องขอต่อใบอนุญาต ก่อนที่จะหมดกำหนดของใบอนุญาต
  3. สิทธิในการเปลี่ยนแปลงงานหรือนายจ้าง ในระหว่างอายุใบอนุญาตการจ้างงาน หรือใบอนุญาตการให้ทำงานยังมีกำหนดใช้ได้อยู่ ผู้ถือใบอนุญาตไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน อาชีพ การประกอบการงาน นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตดังกล่าว โดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรของผู้มีสิทธิอนุญาต
  4. การทำสัญญาจ้างงาน การทำงานของแรงงานต่างด้าว ทั้งแรงงานที่เป็นผู้ที่มีความชำนาญทางด้านเทคนิค และแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ จะต้องมีการทำสัญญาจ้างแรงงาน ข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาจ้างจะต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานสิงคโปร์ รวมทั้งอัตราค่าจ้างที่ให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง ดังนี้
    1. สำหรับแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ จะมีการกำหนดระยะเวลาทดลองงาน 90 วน โดยถ้าแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือไม่ผ่านการทดลองงาน จะถูกส่งกลับประเทศต้นสังกัด
    2. หากแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ ทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง นายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ
    3. แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจะต้องทำการตรวจโรคภายใน 6 วัน นับแต่วันที่เดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ เมื่อตรวจโรคผ่านนายจ้างจะไปขอใบอนุญาตการทำงาน
  5. สาเหตุที่แรงงานต่างด้าวอาจถูกเลิกจ้างได้ นายจ้างสามารถเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้
    1. แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือไม่ผ่านการทดลองงาน 90 วัน
    2. แรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน หรือความปลอดภัยในการทำงาน
    3. แรงงานต่างด้าวกระทำผิดกฎหมายของสิงคโปร์
    4. แรงงานต่างด้าวมีสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสมกับการทำงาน ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความเห็นทางการแพทย์เท่านั้น
    5. แรงงานต่างด้าวทำงานให้กับนายจ้างอื่น นอกเหนือจากที่ระบุในสัญญาจ้างแรงงาน
    6. แรงงานต่างด้าวประท้วงนัดหยุดงานหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในประเทศ
    7. แรงงานต่างด้าวถูกยกเลิกใบอนุญาตการทำงาน หรือไม่ให้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไป
    8. แรงงานต่างด้าวแต่งงานอยู่กินกับชาวสิงคโปร์
    9. แรงงานต่างด้าวได้รับการต่อสัญญาจ้างงานกับนายจ้าง และกลับไปพักผ่อนที่ประเทศของตนแล้ว ไม่เดินทางกลับมาทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ตามเวลาที่กำหนด
    10. แรงงานต่างด้าวหลบหนีนายจ้าง
    11. แรงงานต่างด้าวนำครอบครัวมาพำนักอยู่ด้วย
    12. ตรวจพบเชื้อเอดส์ กามโรค วัณโรค (โรคปอด) ไวรัสตับอักเสบบี ไข้มาเลเรีย ทั้งนี้ ผู้เข้าประเทศสิงคโปร์จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้มาเลเรียภายใน 6 วัน นับแต่วันที่เดินทางจากเขตที่มีไข้มาเลเรียระบาด
    13. ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวดังกล่าวเมื่อถูกเลิกจ้างแล้วจะต้องถูกสงกลับประเทศตนเองด้วย
  6. งานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือทำ งานที่แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือทำได้ คือ งานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง งานบริการ เช่น เป็นแม่บ้านตามบ้าน หรือตามร้านอาหาร ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ชาวสิงคโปร์ไม่นิยมทำงาน
  7. การจ่ายค่าธรรมเนียม กฎหมายกำหนดให้นายจ้างทำประกันให้กับแรงงานต่างด้าวทุกคน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อเข้ากองทุนเงินทดแทน ซึ่งถ้าหากแรงงานต่างด้าวประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตในขณะทำงาน หรือขณะปฏิบัติงานให้กับนายจ้างได้รับความคุ้มครอง ดังนี้
    1. กรณีประสบอันตรายขณะทำงานจนไม่สามารถทำงานได้ ต้องพักรักษาตัวไม่เกิน 14 วัน จะได้รับค่าจ้างตามปกติ หากเกิน 14 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน จะได้รับค่าทดแทนเท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าจ้างปกติจนกว่าจะหาย และหากไม่สามารถทำงานได้เกิน 60 วัน แต่ไม่เกิน 5 ปี จะได้รับค่าทดแทนไม่เกิน 195 เหรียญสิงคโปร์ หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของรายได้ปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดจะน้อยกว่ากัน ก็ให้ได้รับจำนวนที่น้อยกว่า
    2. กรณีประสบอันตรายขณะทำงานหรือเนื่องจากการทำงาน จนต้องสูญเสียสมรรถภาพในการงานบางส่วนหรือทำงานไม่ได้ เช่น ขาขาด ตาบอด ฯลฯ จะได้รับค่าทดแทนระหว่าง 15,000 – 60,000 เหรียญสิงคโปร์ แล้วแต่กรณีการสูญเสียขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
    3. กรณีประสบอันตรายเสียชีวิต จะได้รับค่าทดแทนประมาณ 60,000 – 80,000 เหรียญสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้าง เมื่อแรงงานต่างด้าวประสบอันตราย จะต้องปฏิบัติดังนี้
    4. ต้องแจ้งให้นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้างทราบทันทีด้วยวาจา หรือแจ้งเป็นหนังสือนับแต่วันเกิดเหตุ หากไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจทำให้เสียสิทธิที่ตนจะพึงได้ตามกฎหมายอายุความไม่เกิน 1 ปี
    5. นายจ้างมีหน้าที่จะต้องนำแรงงานต่างด้าวส่งโรงพยาบาล โดยเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
    6. หากแรงงานต่างด้าวจงใจให้ตนเองได้รับอุบัติเหตุ หรือประสบอันตราย เนื่องจาก การดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด จะไม่ได้รับค่าทดแทน
    7. หากแรงงานต่างด้าวเสียชีวิตด้วยโรคที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน เช่น หัวใจวาย โรคไต หรือถูกรถชนนอกเวลางาน จะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย
    8. ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน คือ สามี หรือบุตร หรือบิดามารดาของแรงงานต่างด้าว
  8. การจ่ายเงินวางมัดจำค้ำประกัน นายจ้างที่ได้ทำสัญญาจ้างงานแรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์ จะต้องจ่ายเงินมัดจำค้ำประกันสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยระเบียบของรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลการรักษาการส่งแรงงานต่างด้าวกลับคืน หรือส่งออกนอกประเทศสิงคโปร์ หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งครอบครัวของแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศสิงคโปร์ ในเวลาภายใน 2 ปี หลังจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในประเทศสิงคโปร์
  9. ข้อกำหนดและบทลงโทษ ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเขาทำงานในประเทศสิงคโปร์ เป็นปัญหาที่ทางการสิงคโปร์ให้ความสำคัญ และบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งบทกำหนดโทษสำหรับแรงงานต่างด้าวในกรณีนี้ มีดังนี้
    1. แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง และยังคงอยู่ในประเทศสิงคโปร์โดยผิดกฎหมายเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน จะต้องได้รับโทษปรับ 16,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือจำคุก 2 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
    2. แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง และยังคงอยู่ในประเทศสิงคโปร์โดยผิดกฎหมายเป็นเวลามากกว่า 90 วัน จะต้องได้รับโทษจำคุกมากกว่า 1 – 8 ปี และถูกเฆี่ยนด้วยหวายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง
    3. สำหรับนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย ก็จะได้รับโทษปรับหรือจำคุกซึ่งมากกว่าโทษที่แรงงานต่างด้าวจะได้รับ
  10. การเสียภาษีเงินได้ แรงงานต่างด้าวทุกคนจะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาล เว้นแต่ในสัญญาจ้างแรงงานจะระบุไว้เป็นอย่างอื่นว่านายจ้างเป็นผู้ออกค่าภาษีให้โดยมีการคำนวณภาษีในอัตรา ดังนี้
    1. แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์เกินกว่า 183 วัน ใน 1 ปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ได้รับในประเทศสิงคโปร์ โดยไม่มีสิทธิได้รับลดหย่อน
    2. แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์เกินกว่า 183 วัน ใน 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม อัตราภาษีเงินได้ขึ้นอยู่กับรายได้หลังจากหักค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลแล้ว ดังนี้
    3. รายได้เมื่อหักค่าลดหย่อนแล้ว เช่น สำหรับตนเอง 3,000 เหรียญสิงคโปร์มีเงินเหลือไม่เกิน 5,000 เหรียญสิงคโปร์ เสียภาษีร้อยละ 4
    4. ถ้ามีเงินเหลือระหว่าง 5,000 – 7,000 เหรียญสิงคโปร์ เสียภาษีร้อยละ 7 และถ้ามีเงินได้เหลือในอัตราที่มากกว่านี้ ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัตินายจ้างจะหักภาษีเงินได้จากค่าจ้างเดือนละ 30 เหรียญสิงคโปร์ เพื่อนำส่งรัฐบาลตามกฎหมาย ซึ่งถ้าหากภายหลังมีภาษีคืนแรงงานต่างด้าวก็สามารถติดต่อขอรับคืนได้

จากการศึกษามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมแรงงานต่างด้าวของประเทศสิงคโปร์ พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมสูง ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนประชากรที่น้อย และพื้นที่ของประเทศมีจำกัด ประเทศสิงคโปร์จึงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาก และต่อเนื่องโดยมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัดมาก ทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายที่เคร่งครัด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด มีโทษทางอาญาที่เด็ดขาดและรุนแรงตั้งแต่ปรับ จำคุก และเฆี่ยนตีด้วยหวายไฟฟ้า และเมื่อพ้นโทษแล้ว ก็จะถูกส่งกลับประเทศต้นสังกัดทันที นอกจากนี้ ยังห้ามแรงงานต่างด้าวนำครอบครัวเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ และห้ามแต่งงานกับชาวสิงคโปร์

มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมแรงงานต่างด้าวของประเทศสิงคโปร์แล้ว ก็น่าจะนำมาตรการทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มาใช้กับการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการผ่อนผัน ไม่มีการใช้หลักมนุษยธรรม ต่างจากประเทศไทยที่มีกฎหมายมาก แต่สภาพบังคับทางกฎหมายแต่ละฉบับตั้งอยู่บนพื้นฐานการผ่อนผันการบังคับใช้ จนปัญหาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหาเรื้อรังที่นับวันจะมีแต่สร้างปัญหาสังคม ที่กระทบไปสู่ทุกภาคส่วนของประเทศอย่างประเทศไทยในเวลานี้ ที่ไม่มีคำตอบว่าในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้หรือไม่

มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวของสิงคโปร์

ข้อกำหนดในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์โดยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนี้

  1. เวลาทำงานของแรงงานต่างด้าววันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง
  2. ค่าทำงานล่วงเวลา ถ้าทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ ในอัตรา 1.5 เท่าของค่าจ้างในชั่วโมงปกติ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อ 1 วัน
  3. ค่าทำงานในวันหยุด 2 เท่าของค่าจ้างปกติ
  4. วันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วัน คือ วันอาทิตย์
  5. วันหยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 11 วัน
  6. วันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 7 – 14 วัน
  7. วันลาปีละไม่เกิน 14 วัน
  8. การเลิกจ้าง หากนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวจะบอกเลิกสัญญาการจ้างงาน ก็ให้แจ้งแก่อีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ หรือตามที่ระบุไว้ในสัญญา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *