การจัดส่งคนงาน แรงงานไทย แรงงานต่างด้าวไปทำงานประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงอาจเป็นแรงดึงดูดแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมแรงงานต่างด้าวของญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นจึงมีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว คือ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมือง และรับรองสถานะของผู้อพยพ (Immigration Control and Refugee Recognition Act 1951) ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1999 และบรรดากฎกระทรวงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมือง และรับรองสถานะของผู้อพยพ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยทะเบียนคนต่างด้าว (The Alien Registration Law 1952) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การควบคุมการเข้าเมือง

ตามกฎหมายควบคุมการเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมือง และรับรองสถานะของผู้อพยพ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการเดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น และการเดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่นของคนต่างด้าว ได้บัญญัติห้ามบุคคลซึ่งมิใช่พลเมืองของประเทศญี่ปุ่นพำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น เว้นแต่มีสถานะเกี่ยวกับการพำนัก (Status of Residence) ซึ่งมีสถานะเกี่ยวกับการพำนักนั้น ได้แก่ วีซ่าประเภทต่าง ๆ และปราศจากสถานะต่าง ๆ เกี่ยวกับการพำนักแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Inspector) จะปฏิเสธมิให้คนต่างด้าวเข้าเมือง

ทั้งนี้ ตามกฎหมายเข้าเมืองของประเทศญี่ปุ่น ได้บัญญัติถึงสถานะพำนักไว้ 4 ประเภทเท่านั้น คือ ผู้มีสิทธิพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างถาวร สามีภริยาหรือบุตรของพลเมืองญี่ปุ่น สามีภริยาหรือบุตรของผู้มีสิทธิพำนักอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถาวร และผู้มีสิทธิพำนักอยู่ในญี่ปุ่นระยะยาว

2. การเข้าเมืองเพื่อทำงานและพำนักในญี่ปุ่น

การเข้าเมืองเพื่อทำงานในประเทศญี่ปุ่นนั้น กระบวนการของสถานะพำนัก ประเภทการทำงานภายใต้ระบบขอแบบปกตินั้น จะมีขั้นตอนยุ่งยากหลายขั้นตอน ผู้ขอวีซ่าจะต้องรอคำตอบจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเป็นเวลานานถึง 2 – 3 เดือน ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยการเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 19 – 2 ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมือง และรับรองสถานะของผู้อพยพ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรา 19 – 2 วรรคแรก บัญญัติถึงกรณีที่คนต่างด้าวซึ่งพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงยุติธรรม ออกหนังสือรับรองว่าตนสามารถประกอบกิจกรรม ซึ่งมีค่าตอบแทนได้ หรือถูกจ้างงานได้ (Certificate of Authorization for Employment) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มาตรา 19 – 2 วรรคแรกเกือบทั้งหมด จะเป็นกรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น จะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการถูกจ้างแทนลูกจ้างต่างด้าวได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นกระบวนการที่อิงอยู่กับระบบ (Pre Arranged Job) ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างและลูกจ้างได้ทำการติดต่อสมัคร และตกลงรับทำงานกัน โดยมีสัญญาจ้างกันแล้ว ซึ่งสัญญาจ้างนี้ถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ที่แสดงต่อเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมคนเข้าเมืองระดับภูมิภาค ภายใต้กระบวนการภายใต้ระบบการออกหนังสือรับรองว่า คนต่างชาติมีสิทธิถูกจ้างงานได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นตอนที่ 1 นายจ้างซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ บริษัทญี่ปุ่น จะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองว่าคนต่างชาติมีสิทธิถูกจ้างงานได้แทนลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยการแสดงหลักฐานที่จำเป็น เช่น หนังสือสัญญาจ้างงาน หลักฐานเกี่ยวกับบริษัทผู้ว่าจ้างต่อเจ้าหน้าที่
  2. ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่ของกรมตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานภูมิภาค ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทนายจ้างจะทำการตรวจสอบหนังสือสัญญาจ้างงาน หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทผู้ว่าจ้าง เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการจ้างงานกันจริง และตรงตามประเภทของสถานะพำนักจริงหรือไม่ แล้วจะแจ้งผลว่า จะออกหนังสือรับรองว่า มีสิทธิจ้างงานคนต่างด้าวได้หรือไม่ โดยในกรณีที่ออกหนังสือรับรองการจ้างงานคนต่างด้าวให้เจ้าหน้าที่จะแจ้งเรื่องไปยัง
    1. เจ้าหน้าที่แจ้งเรื่องไปยังบริษัทนายจ้างในประเทศญี่ปุ่น แล้วบริษัทนายจ้างจะแจ้งเรื่องไปยังคนต่างด้าวในประเทศ ขอให้รับไปยื่นเรื่องขอวีซ่าประเภททำงานได้ ณ สถานทูต หรือสถานกงสุลที่คนต่างด้าวมีภูมิลำเนา และ
    2. แจ้งเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรมแจ้งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งเรื่องไปยังสถานทูต หรือสถานกงสุล ที่คนต่างด้าวมีภูมิลำเนาอยู่ ซึ่งหนังสือรับรองว่า มีสิทธิถูกจ้างงานได้มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
      1. หนังสือรับรองว่า มีสิทธิถูกจ้างงานประเภทบุคคล และ
      2. หนังสือรับรองว่า มิสิทธิถูกจ้างงานประเภทกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย คนต่างด้าวหลายคนที่จะไปทำงาน ณ บริษัทแห่งเดียวกัน
  3. ขั้นตอนที่ 3 คนต่างด้าวยื่นเรื่องขอเข้าเมือง ในสถานะพำนักที่สามารถทำงานมีรายได้ตอบแทน (วีซ่าทำงาน) โดยยื่นเรื่อง ณ สถานทูต หรือสถานกงสุล ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ สถานทูตญี่ปุ่นจะตรวจสอบว่า ได้รับอนุมัติให้ทำงานในญี่ปุ่นได้จริงหรือไม่ไปยังสำนักตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานภูมิภาค เจ้าของเรื่องโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม สำนักตรวจคนเข้าเมืองภูมิภาคเจ้าของเรื่อง กลับไปยังสถานทูตหรือสถานกงสุลโดยผ่านกระทรวงยุติธรรม
  4. ขั้นตอนที่ 4 สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุล ณ ประเทศที่คนต่างด้าวยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาอยู่ จะแจ้งผลการพิจารณาว่าได้หรือไม่ได้รับอนุญาตไปยังคนต่างด้าวที่ยื่นคำร้อง

ทั้งนี้ กระบวนการตัดสินใจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และขั้นตอนในกระบวนการภายในระบบของมาตรา 19 – 2 วรรคแรกจะสั้น และน้อยกว่ากระบวนการ และขั้นตอนภายในระบบปกติ จึงทำให้ระยะรอคอยคำตอบลดลงไปอย่างมาก

3. องค์กรบังคับใช้กฎหมาย

กฎหมายควบคุมคนเข้าเมืองของประเทศญี่ปุ่น ให้อำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และนำกฎหมายไปปฏิบัติให้เกิดผลแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั้งให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมคนเข้าเมือง เช่น ขั้นตอน การยื่นคำร้อง เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา เอกสารหลักฐานประกอบคำร้องของสถานะพำนักที่ทำงานได้ เป็นต้น

ญี่ปุ่นมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมือง และรับรองสถานะของผู้อพยพ และกฎหมายว่าด้วยทะเบียนคนต่างด้าว ดังนั้น บุคคลซึ่งมิใช่พลเมืองของประเทศญี่ปุ่นจะพำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น จะต้องมีสถานะเกี่ยวกับการพำนัก ได้แก่ วีซ่าประเภทต่าง ๆ หากปราศจากสถานะเกี่ยวกับการพำนัก เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จะปฏิเสธมิให้คนต่างด้าวเข้าเมือง

การเข้าเมืองเพื่อทำงานในประเทศญี่ปุ่น คนต่างด้าวซึ่งพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงยุติธรรม ออกหนังสือรับรองว่า ตนสามารถทำงานหรือถูกจ้างงานได้ ในทางปฏิบัตินายจ้างซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น เป็นผู้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการจ้างแทนลูกจ้างต่างด้าว นายจ้าง และลูกจ้างตกลงรับทำงานโดยมีสัญญาจ้าง สัญญาจ้างเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมคนเข้าเมืองระดับภูมิภาค ภายใต้กระบวนการภายใต้ระบบการออกหนังสือรับรองว่า คนต่างชาติมีสิทธิถูกจ้างงานได้ ดังนั้น ในญี่ปุ่นการเข้าไปทำงานจะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นกรณีที่นายจ้างกับลูกจ้างคนต่างด้าวตกลงจ้างกันแล้ว จึงยื่นสัญญาจ้างขออนุญาตพำนักเพื่อทำงานในญี่ปุ่น โดยกระบวนการภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งถือว่า เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ควบคุม ทั้งการเข้าเมือง และกระบวนการขออนุญาตทำงานในญี่ปุ่น ซึ่งกระบวนการนี้ นายจ้างกับลูกจ้างต่างด้าวจะต้องตกลงทำสัญญาจ้างกันก่อน แล้วยื่นเรื่องขอไปยังทางราชการเมื่อได้รับอนุญาตก็ยื่นเรื่องขออนุญาตเข้าเมืองเพื่อทำงาน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นระบบของประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง นายจ้างหรือสถานประกอบการในญี่ปุ่นจะเคารพกฎหมาย จะไม่นิยมนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาทำงานในประเทศ เพราะอาจกระทบต่อมาตรฐานแรงงานในการส่งออกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *