แรงงานต่างด้าว การทำงานในสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ที่มีความเจริญในทุกด้าน เนื่องจาก ความเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงถือเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่เมื่อแต่ละคนเข้ามาเพื่อต้องการโอกาสต่าง ๆ ทั้งการทำงาน หรือโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะคนต่างด้าว หรือคนจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาศึกษาในระดับสูงที่เมื่อจบการศึกษาแล้วก็อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาต่อ เพื่อทำงานโดยไม่ยอมกลับประเทศตน กับทั้งคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานในลักษณะเป็นแรงงานในฟาร์ม แรงงานในภาคเกษตรกรรมตามฤดูกาล โดยเฉพาะมลรัฐที่อยู่ตามแนวชายแดนทางตอนใต้ที่มีดินแดนติดต่อกับลาตินอเมริกา ทั้งมลรัฐฮาวาย ฟลอริดา เท็กซัส ที่ติดกับประเทศเม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ ในลาตินอเมริกาประชาชนของประเทศเหล่านี้ จะเข้ามาทำงานในมลรัฐเหล่านี้มาก สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศที่มีปัญหาการอพยพ หรือหลบหนีเข้าเมืองมากประเทศหนึ่ง สหรัฐฯจึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอนุญาตให้ทำงาน เพื่อนำแรงงานเหล่านี้เข้ามาสู่สารบบให้มากที่สุด

มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมแรงงานต่างด้าวของสหรัฐอเมริกา

มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพของประเทศสหรัฐอเมริกา

กฎหมายควบคุมการเข้ามาทำงานของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Immigration and nationality Act กฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพ และสัญชาติของสหรัฐอเมริกา เป็นกฎหมายของรัฐบาลกลาง (US Government) เป็นกฎหมายควบคุมการเข้าเมืองที่เข้ามาในลักษณะต่าง ๆ ของผู้อพยพเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีบทบัญญัติในส่วนต่าง ๆ กำหนดให้ผู้ประสงค์จะเข้าเมือง หรือผ่านแดนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

กฎหมายเกี่ยวกับคนเข้าเมือง ผู้อพยพ คนต่างด้าว และการได้สัญชาติ การเข้ามาทำงาน การขออนุญาตทำงาน การเพิกถอนการอนุญาต ฯลฯ ที่บังคับใช้มายาวนาน และมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง จนถึงปี ค.ศ. 1997 มีบทบัญญัติในส่วนต่าง ๆ ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับการเข้าเมือง คนต่างด้าว ผู้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา การทำงาน การขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในกรณีต่าง ๆ โดยมีบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นบทบัญญัติทั่วไป เกี่ยวกับ คำจำกัดความ บทนิยาม การยื่นคำร้องขอเข้าเมืองอำนาจ และหน้าที่ของอธิบดีอัยการ และผู้ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับคนเข้าเมือง การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายใน (TITLE I)

ส่วนที่ 2 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการอพยพเข้าเมืองมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบัญญัติตั้งแต่ลักษณะของการเข้าเมือง การอพยพเข้าไปมีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา การขออนุญาต การลงสารบบผ่าน และประทับลงตราหนังสือเดินทาง การตรวจสอบ การยกเลิกการอนุญาต และการอนุญาตตามคำอุทธรณ์ ผู้ลี้ภัย ผู้หลบหนีเข้าเมือง ไปจนถึงการอพยพเข้ามาทำงานในลักษณะต่าง ๆ ในแรงงานตามฤดูกาลในภาคเกษตรกรรม แรงงานในสาขาอื่น ๆ คุณสมบัติของคนต่างด้าวที่ขอใบอนุญาตทำงานได้ ระดับการควบคุม ตรวจสอบประชากร คนต่างด้าว นักท่องเที่ยว การควบคุม และตรวจสอบการที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว และคนในครอบครัว การเข้าเมืองในฐานะลูกเรือ และลูกเรือของอากาศยาน การหลบหนีเข้าเมือง การเปลี่ยนสถานภาพผู้อพยพเป็นผู้อาศัย การเปลี่ยนสถานะของคนเข้าเมืองในสถานะต่าง ๆ เป็นผู้อาศัยในสหรัฐอเมริกา และการได้รับสิทธิเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา (TITLE II)

ส่วนที่ 3 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญชาติ การได้สัญชาติเป็นประชากรสหรัฐอเมริกาโดยการเกิด และสถานการณ์ได้สัญชาติในกรณีผู้ที่เกิดในดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคม หรืออยู่ในความครอบครองของสหรัฐอเมริกา หรือในมลรัฐชายแดนที่มีการหลบหนีเข้าเมืองมาก เช่น ผู้ที่เกิดในเปอร์โตริโกใน หรือหลังวันที่ 11 เมษายน 1899 ผู้ที่เกิดในคลองปนามา หรือในประเทศปานามา ในหรือหลังวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1904 ผู้ที่เกิดในอลาสก้า ในหรือหลังวันที่ 30 มีนาคม 1867 ผู้ที่เกิดในมลรัฐฮาวาย ผู้ที่อาศัยอยู่ หรือเกิดในหมู่เกาะเวอร์จิ้น ไอร์แลนด์ ผู้ที่อาศัยอยู่ หรือเกิดในเกาะกวม ชนชาติอื่นที่ไม่เป็นประชากรของสหรัฐอเมริกาโดยการเกิด การได้สัญชาติ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้สัญชาติ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้สัญชาติของสหรัฐอเมริกา การพิจารณาคุณสมบัติจากการมีความรู้และความเข้าใจภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ชาติ การยอมรับหลักการ และกฎหมายของสหรัฐอเมริกา การเคารพคำสั่ง หรือข้อห้ามของรัฐบาล หรือกฎหมาย ความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกา หลักเกณฑ์วิธีการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การถอนสัญชาติ ฯลฯ (TITLE III)

ส่วนที่ 4 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนการอนุญาตเข้าเมืองคนต่างด้าว ที่อาจเกี่ยวข้องกับลัทธิการก่อการร้าย การพิจารณาคดีเกี่ยวกับการถอนสัญชาติ การเพิกถอนการอนุญาตเข้าเมือง และการเพิกถอนการอนุญาตทำงาน โดยศาลและคณะผู้พิจารณาในกรณีต่าง ๆ (TITLE IV)

ส่วนที่ 5 เป็นบทบัญญัติภาคผนวก หรือบทบัญญัติส่งท้าย และบทกำหนดโทษในกรณีฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย (TITLE V)

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังมีกฎหมายแรงงานฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะมีทั้งกฎหมายของสหรัฐ (United State Law) ที่บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน (Department of Labor: DOL) กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน (Rehabilitation Act of 1973, (as amended)) กฎหมายคุ้มครองแรงงานตามฤดูกาลในภาคเกษตร (The Migrant and Seasonal Agricultural Worker Act, 1983) นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายมลรัฐ (Federal Law) ของมลรัฐที่มีปัญหาแรงงานต่างด้าว

ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองคนต่างด้าวจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาในสหรัฐอเมริกา

เงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าเมืองคนต่างด้าวจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาในสหรัฐอเมริกา จะต้องมีหนังสือผ่านแดน อันเป็นเอกสารที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่จะผ่านแดน โดยจะต้องแนบบัตรประจำตัว (ID Card) เพื่อเดินทางจากประเทศต่าง ๆ เข้ามายังสหรัฐอเมริกา หรืออพยพจากดินแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับสหรัฐอเมริกาเข้ามายังสหรัฐอเมริกา โดยเอกสารผ่านแดนจะต้องมีลายพิมพ์นิ้วมือ หรือลายพิมพ์มือของคนต่างด้าวที่ผ่านแดนเข้ามา ที่สามารถตรวจสอบโดยเครื่องตรวจสอบได้ โดยผู้ที่ผ่านแดนเข้ามายังดินแดนของสหรัฐอเมริกานั้น จะต้องแสดงตนประกอบด้วย (Immigration and Nationality Act, SEC. 101.13 (C ))

นอกจากนี้ หากคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังสหรัฐอเมริกา เข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างถาวร จะต้องดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการอพยพ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นอกจากกรณีต่อไปนี้

  1. ผู้ที่ถูกถอนสถานภาพการอนุญาตให้เข้าเมือง แต่ยังอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา
  2. ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายแต่ไม่อยู่ในสหรัฐอเมริการเกิน 180 วัน
  3. ผู้ที่เข้ามาทำงานโดยสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อหมดสัญญาจ้างแล้วอาศัยอยูในสหรัฐอเมริกาต่อไป โดยผิดกฎหมาย และอยู่ในสถานะที่อาจถูกผลักดันออกจากสหรัฐอเมริกาได้ตลอดเวลา
  4. ผู้ที่กำลังถูกผลักดันให้ออกจากสหรัฐอเมริกา โดยกระบวนการทางกฎหมาย หรืออยู่ในระหว่างกระบวนการค้นหาบุคคลเหล่านี้ เพื่อส่งกลับออกนอกประเทศ ภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  5. ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ได้ตามบทบัญญัติใน Section 212(a), 212(h) หรือ 240A (a) หรือ
  6. ผู้อพยพที่ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมในโครงการใดโครงการหนึ่ง ของเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนผู้อพยพของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการอนุญาตเช่นว่านั้น

สำหรับกฎหมายของสหรัฐอเมริกาใช้บังคับกับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้อพยพ คำว่า “Immigrant” ตามความหมายของกฎหมายผู้อพยพของสหรัฐอเมริกา หมายถึง ผู้ที่อพยพจากประเทศหนึ่ง เข้ามาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่รวมถึง

  1. เอกอัครราชทูต เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในสถานเอกอัครราชทูตสถานกงสุล หรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลต่างประเทศ เข้ามาประจำในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับความยินยอมจากประธานาธิบดี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสมาชิก หรือบุคคลในครอบครัวของบุคคลดังกล่าวด้วย
  2. ผู้ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามข้อตกลง ข้อแลกเปลี่ยน หรือได้รับการว่าจ้างทำงานระหว่างรัฐบาลต่างประเทศกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หรือโดยรัฐมนตรีวาการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวบุคคลเหล่านั้นด้วย และ
  3. ผู้ที่เข้ามาทำงานโดยได้รับค่าตอบแทน รับจ้าง หรือเข้ามาดูแลรับใช้ หรือลูกจ้าง ผู้ที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาเป็นการเฉพาะเจาะจง หรือสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด รวมทั้งข้าราชการพนักงานของบุคคลตาม (1) และ (2) จะไม่มีฐานะเป็นผู้อพยพ
  4. คนต่างด้าวที่เข้ามาศึกษา อบรม หรือแรงงานที่เข้ามากับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ หรือสื่อสารมวลชนแขนงอื่นที่เข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ที่มุ่งหมายเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเพื่อท่องเที่ยวต่อไปในสหรัฐอเมริกา หรือเพื่อธุรกิจบางอย่างเป็นการชั่วคราว
  5. คนต่างด้าวที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา หรือต้องเข้ามาติดต่อกับสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา หรือถูกเรียกตัวเข้ามาทำงานที่สำนักงานใหญ่เป็นการชั่วคราว
  6. คนต่างด้าวที่เข้ามาในฐานะลูกเรือเดินทะเล ลูกเรือและพนักงานที่มากับอากาศยาน
  7. คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในเกาะกวม (Guam) ที่ผ่านเข้าออกระหว่างเกาะกวมกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีดินแดนติดต่อกันและจะต้องอาศัยเส้นทางการเดินทางผ่านประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ หากคนต่างด้าวที่มิได้อยู่ในบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นดังกล่าวนี้ หากอพยพเข้ามาหรือเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา จะต้องเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย โดยจะต้องดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับคนเข้าเมือง

การยื่นคำร้องขอเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา

คนต่างด้าวสามารถยื่นคำร้องขอเข้าเมือง เข้ามาอยู่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่มีสถานะเป็นผู้อพยพ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายอื่น ๆ โดยยื่นคำร้องเพื่อแสดงความประสงค์โดยยื่นพร้อมหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัว (ID Card) และเอกสารอนุมัติที่ประทับตราบนหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลส่วนบุคคล หรือหนังสือเดินทางที่ผ่านการตรวจลงตรา โดยมีเหตุผลความจำเป็นที่ร้องขอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต

อำนาจหน้าที่ของอธิบดีอัยการหรือผู้ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมาย

กฎหมายบัญญัติให้อธิบดีอัยการ มีอำนาจบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการอพยพของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยกเว้นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบางอย่างที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ หรือภาระหน้าที่ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงหรือกรมอื่น ๆ ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล เพื่อควบคุมการอนุญาตเข้าเมืองเพื่อทำงานของคนต่างด้าว

นอกจากนี้ อธิบดีอัยการยังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุม การดูแลป้องกันให้เจ้าที่ดูแลเขตแดนและชายแดน เพื่อมิให้มีการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งพิจารณาอนุญาตการยื่นคำร้องของผ่านแดน เพื่อเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา ตามเหตุผลที่ยื่นคำร้อง โดยพิจารณาเหตุผลความจำเป็น เมื่อผู้นั้นแสดงตัวและแสดงเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทั้งกรณีที่มีความจำเป็นต้องประสานงานเพื่อขอข้อมูลประกอบการอนุญาต จากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (Directors of the Federal Bureau of investigation: FBI) และสำนักข้อมูลข่าวกรอง (Central Intelligence Agency: CIA) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางด้วย

ทั้งนี้ อธิบดีอัยการมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตเข้าเมืองเพื่อทำงาน ในเวลาใด ๆ ได้เมื่อมีเหตุผลที่เชื่อถืออย่างเพียงพอ ว่าผู้นั้นอาจจะมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในชุมชน หรืออาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยของรัฐ หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวฉบับนี้ ยังบัญญัติเกี่ยวกับแรงงานเฉพาะด้านที่เข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาไว้ด้วย โดยอธิบดีอัยการสามารถพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ผู้เชี่ยวชาญ ช่างเทคนิค หรืองานสาขาอื่น ๆ สามารถเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในสหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฎหมายได้ โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรตามฤดูกาล โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาล เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่อนุญาตแล้ว สามารถยื่นคำร้องขอผ่อนผันอยู่อาศัย เพื่อทำงานต่อไปได้ตามความจำเป็น โดยอธิบดีอัยการมีอำนาจที่จะพิจารณาอนุญาต หรือปฏิเสธก็ได้โดยพิจารณาจากเหตุผลต่าง ๆ

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่อาศัยในฐานะนักท่องเที่ยว อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว ในระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ โดยจะต้องได้รับอนุมัติให้มีใบอนุญาตทำงานด้วย โดยจะต้องยื่นขออนุญาตต่ออธิบดีอัยการตามที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตไว้

การส่งกลับคนงานต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายอาญาหรือถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิด

อธิบดีอัยการมีอำนาจส่งกลับคนงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยกระบวนการทางกฎหมายของมลรัฐ หรือกฎหมายของสหรัฐฯ ภายหลังจากได้รับโทษแล้ว หรืออาจถูกส่งกลับตามคำพิพากษาของศาลหลังจากได้รับโทษแล้ว ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายในส่วนนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ พิจารณาเพิกถอนการอนุญาตเข้ามาทำงานของคนงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา แล้วได้กระทำความผิดอาญาขึ้น เพื่อความปลอดภัยสาธารณะได้ ทั้งนี้ ศาลอาจพิพากษาสั่งให้ส่งกลับเมื่อพ้นโทษก็ได้ หรือหากอธิบดีอัยการเห็นว่าสมควรส่งตัวผู้นั้นกลับประเทศต้นสังกัดเมื่อพ้นโทษแล้วก็สามารถกระทำได้เช่นกัน

การขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา

คนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกาทุก ๆ คน เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนต่างด้าว (Alien Registration Act, 1940) ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปหรือระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้น มิฉะนั้น อาจจะต้องใช้มาตรการบังคับอย่างอื่นตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยูในสหรัฐอเมริกา อยู่ในสารบบของรัฐที่สามารตรวจสอบใด ๆ ได้ เมื่อมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

กฎหมายของสหรัฐอเมริกา พบว่า สหรัฐอเมริกามาตรการทางกฎหมายในการอนุญาตให้คนต่างด้าวหรือผู้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดขั้นตอนวิธีการและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในฐานะคนต่างด้าว ก็จะต้องไปขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังบัญญัติให้อำนาจอธิบดีอัยการที่จะเพิกถอนการอนุญาตแล้วส่งกลับเมื่อเห็นสมควร หรือเมื่อคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา กระทำผิดกฎหมายอาญาเมื่อพ้นโทษแล้วอาจถูกส่งตัวกลับประเทศต้นสังกัด ตามคำพิพากษา หรืออธิบดีอัยการเห็นสมควรจะส่งกลับก็ได้

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการทางกฎหมายให้คนต่างด้าวสามารถขออนุญาตเข้ามาอยู่อาศัย เข้ามาทำงานในบางอาชีพได้ ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราว อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตทำงานและได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *