มรรคาแห่ง “บุญกิริยาวัตถุ” การทำให้คุณภาพของจิตดีขึ้นเรียกว่า “ทำบุญ”

มูลเหตุของปัญหา คือ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจในหลักการเกี่ยวกับ “บุญ” เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในเรื่อง “บุญ” นี้ อันดับแรกขอให้ทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “บุญ” สักเล็กน้อย ซึ่งความหมายของคำว่า “บุญ” โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ

1. บุญที่เป็นเหตุ

“บุญที่เป็นเหตุ” หมายถึง ภาวะที่ขจัดหรือลดกิเลส ขอให้ดูความหมายที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2529)[i] ได้กล่าวไว้ว่า ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจิตสันดานแล้ว ชำระจิตสันดานนั้นให้หมดจดผ่องแผ้ว ชื่อว่า “บุญ” ถ้าพิจารณาถึงประเด็นนี้ จะได้ข้อสรุปว่า การทำบุญในพระพุทธศาสนาจะต้องลดความต้องการหรือลดกิเลส มิใช่เพิ่มกิเลส เห็นได้จากข้อสรุปของปิ่น มุทุกันต์ (2527)[ii] ที่ว่า การทำให้คุณภาพของจิตดีขึ้นเรียกว่า “ทำบุญ” ดังนั้น การทำบุญในลักษณะใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อเพิ่มความต้องการหรือเพิ่มพูนกิเลส เช่น การทำบุญเพื่อความมีหน้ามีตา ชื่อเสียงหรือหวังผลตอบแทน เช่น ผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งไปสร้างสะพาน บริจาคเงินสร้างวัดเพื่อให้ประชาชนในเขตนั้นเห็นความดีของตนแล้วเลือกเข้าไปบริหารบ้านเมือง เป็นต้น จัดเป็นการทำบุญที่ผิดหลักการข้อนี้

2. บุญที่เป็นตัวผล

“บุญที่เป็นตัวผล” หมายถึง ความสุขที่เกิดจากการลดความต้องการหรือกิเลสลงตามข้อ 1 เป็นความสุขที่มิอาจชั่งหรือวัดตวงได้เหมือนวัตถุอื่น ๆ แต่เราจะเห็นว่า มีชาวพุทธบางคนพยายามวัดบุญด้วยวัตถุ กล่าวคือ โดยบริจาคเงินมาก สร้างสิ่งใหญ่ ๆ หรือจัดงานได้ยิ่งใหญ่ จะถือว่า ได้บุญมากเป็นพิเศษ ซึ่งผิดจากหลักการข้อนี้ ดังนั้น “บุญ” ในความหมายนี้ จึงมิใช่เรื่องที่น่ากลัวเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กลัวบุญเลย คำว่า “บุญ” นั้น เป็นชื่อของความสุข หรือ “หากบุคคลทำบุญก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้” ”[iii] (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) แต่ปัจจุบันชาวพุทธบางส่วนได้ทำให้บุญเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับชาวพุทธบางคน ตัวอย่างเช่น นาย ก. นายกเทศมนตรีไปร่วมงานทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง เมื่อจะบริจาคเงินทำบุญก็เกรงไปว่าว่า ถ้าบริจาคน้อยจะทำให้คนติฉินนินทา ไม่สมกับฐานะทางสังคมของตน จึงจำเป็นต้องบริจาคมาก ๆ เพื่อให้คนในสังคมนั้นยอมรับ

จากความหมายของบุญทั้ง 2 ข้อสามารถสรุปเป็นหลักการที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติง่าย ๆ ตามแนวคิดของ สุชีพ ปุญญานุภาพ[iv] (2535) ที่ได้กล่าวถึงความหมายของบุญแยกออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. กล่าวโดยสภาพ ได้แก่ ภาวะที่ชำระสันดานให้ผ่องใส
  2. กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ การทำความดี
  3. กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข

พิจารณาจากความหมายที่กล่าวข้างต้นอาจสรุปถึงภาพรวมได้ว่า “บุญ” คือ ผลที่เกิดจากการกระทำทาง กาย วาจา ใจ ที่ประกอบด้วยเจตนาดีอันเป็นเครื่องชำระใจให้สะอาด ผ่องใส บริสุทธิ์โดยมีความสุขเป็นผล จะเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจความหมายของคำว่า “บุญ” ดังกล่าวมาแล้ว จะทำให้เราได้แนวทางปฏิบัติต่อเรื่องบุญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมีข้อสรุปดังนี้

  1. การทำบุญจะต้องลดความชั่วร้ายภายในจิตใจ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น
  2. การทำบุญจะต้องได้ความสุข มิใช่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งแก่ผู้ทำ ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคม

แนวทางปฏิบัติต่อเรื่อง “บุญ” ทั้ง 2 ข้อ นับว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวพุทธโดยเฉพาะผู้นำ คือ “พระสงฆ์” และผู้นำพิธีหรือมัคนายกที่จะเป็นผู้กำหนดวิธีปฏิบัติและกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคำว่า “บุญ” มิใช่ทำไปเพื่อหวังผลตอบแทนหรือทำตามกันเป็นประเพณี เพื่อสืบต่อให้คงอยู่เท่านั้น

มรรคาแห่ง “บุญ

คำว่า “มรรคา” ในที่นี้ หมายถึง ที่มาของบุญ คือ หลักคำสอนที่เกี่ยวกับบุญ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ขอยกตัวอย่างของหลักคำสอนที่เกี่ยวกับที่มาของบุญซึ่งท่านกล่าวสรุปไว้ 3 ประการ เรียกตามชื่อหัวข้อว่า “บุญกิริยาวัตถุ” หมายถึง ที่ตั้งแห่งบุญหรือบ่อเกิดของบุญมี 3 ประการ คือ

  1. ทาน หมายถึง การให้
  2. ศีล หมายถึง ข้อฝึกหัดกาย วาจาให้เป็นปกติ
  3. ภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความตั้งมั่น (สมาธิ) และเกิดความรู้ที่ถูกต้อง (ปัญญา)

จากหลักการ 3 ข้อนี้ สามารถโยงไปสู่ความจริงประการหนึ่งที่ปรากฏในสังคมไทยและกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ ชาวพุทธบางคนไม่เข้าใจว่า มีวิธีการใดบ้างที่ทำให้เกิดบุญหรือความดี เพื่อให้เห็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับ “บุญ” (ไวพจน์) ที่พระเจ้าวรวงศ์ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า[v] (2530) ทรงรวบรวมไว้ 6 ประการ คือ

  1. กุศล แปลตามรากศัพท์ว่า ความฉลาด หมายถึง ความฉลาดในการกระทำ ตัวอย่าง เช่น กุศลมูล 3 คือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เป็นต้น จัดเป็นบุญชนิดพิเศาที่ยิ่งทำยิ่งได้มาก
  2. สุกฏะ หมายถึง การกระทำที่ดีงาม ตัวอย่างเช่น การกระทำดีทางไตรทวาร คือ กายกรรม มี 3 เรื่อง คือ ไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนชีวิตอื่น ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น และไม่ล่วงละเมิดทางเพศกับบุคคลที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตน วจีกรรม มี 4 เรื่อง คือ ไม่พูดเท็จ พูดแต่เรื่องทีเป็นจริง ไม่พูดคำหยาบคาย พูดแต่คำที่ไพเราะที่สุภาพชนใช้พูดกัน ไม่พูดคำส่อเสียด คือ คำพูดที่ยุยงให้คนอื่นแตกแยกกัน แต่คำพูดที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นเกิดความปรองดองสามัคคีรักใคร่กลมกลืนกัน และไม่พูดเพ้อเจอ หมายถึง คำพูดที่หาสาระประโยชน์ไม่ได้ พูดแต่คำพูดที่มีสารประโยชน์ต่อผู้ฟัง และมโนกรรม มี 3 เรื่อง คือ ไม่โลภอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรผู้อื่น และมีความคิดเห็นที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เป็นต้น จะเห็นว่า การกระทำทั้ง 10 เรื่อง จากหัวข้อใหญ่ 3 ข้อเป็นการกระทำที่ฉลาด ก่อให้เกิดความดีงามที่เรียกว่า “บุญ” ทั้งสิ้น
  3. สุกกะ หมายถึง “ธรรมขาว” ซึ่งก็ได้แก่ “กุศลธรรม”ทั้งหมด
  4. บุญ หมายถึง สภาวะที่ชำระจิตของคนให้สะอาดและความสุขที่เกิดจากภาวะที่จิตสะอาดนั้น
  5. ธัมมะ หมายถึง ความถูกต้องดีงาม หรือสภาวะที่รักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่วและความชั่ว
  6. สุจริต หมายถึง ความประพฤติที่ถูกต้อง เรียกว่า กุศลกรรมบถ 10 ประการ  

จากชื่อที่เกี่ยวข้องกับ “บุญ” จะเห็นว่า การทำบุญมีความหมายที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อลดกิเลสที่เป็นอำนาจใฝ่ต่ำทั้งสิ้น มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะสมหรือพอกพูนกิเลสแต่อย่างใด เพื่อให้เห็นที่มาแห่งบุญชัดเจนยิ่งขึ้น


[i] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2529) สารานุกรมพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

[ii] ปิ่น มุทุกันต์ (2527). พุทธศาสตร์ ภาค 3. กรุงเทพฯ กมลการพิมพ์.

[iii] มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณืราชวิทยาลัย.

[iv] สุชีพ ปุญญานุภาพ (2535) พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ เรือนแก้วการพิมพ์

[v] พระเจ้าวรวงศ์ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (2530) พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *