ปัญหาเกี่ยวกับ “บุญ” เครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ศาสนาหรือตัวเอง

เมื่อพูดถึง “บุญ” บางคนอาจคลางแคลงใจว่า “บุญ” คืออะไร “บุญ” มีจริงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ศาสนาแต่งขึ้นมาหลอกคน บางคนอาจมองว่า คำสอนเรื่อง “บุญ” ในศาสนาเป็นเรื่องของการมอมเมาที่ผู้นำศาสนานำมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ศาสนาหรือตัวเอง บางคนพอได้ยินคำว่า “บุญ” ต้องรีบหนี เพราะกลัว “บุญ” ปัญหาเหล่านี้มิใช่เป็นปัญหาเล็กน้อยและไม่ควรมองข้าม เนื่องจาก มีผลต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาประการหนึ่งด้วย การศึกษาเกี่ยวกับการทำบุญของชาวพุทธ อาจต้องมองในหลาย ๆ ด้าน เพราะจะทำให้เราเห็นถึงมูลเหตุสำคัญของปัญหา

ปัญหา “บุญ” ที่เกี่ยวกับประชาชน

ปัญหา “บุญ” ที่เกี่ยวกับประชาชนที่มีมูลเหตุมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักคำสอนเรื่อง “บุญ” จัดเป็นมูลเหตุหลักของปัญหา แม้ว่า พระพุทธศาสนาจะมีหลักการที่มุ่งให้พุทธศาสนิกชนศึกษาทำความเข้าใจ หลักคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ (ปฏิบัตินิยม) ไว้ก็ตาม แต่ภาพที่เราเห็นมักจะตรงกันข้าม กล่าวคือ มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจศึกษาทำความเข้าใจหลักคำสอนในแง่ความหมาย วิธีปฏิบัติ วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของหลักคำสอนข้อนั้น ๆ ส่วนใหญ่จะประกอบกิจทางศาสนาแบบตาม ๆ กัน จนกลายเป็นประเพณี หรือค่านิยม ยิ่งนานวันยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น นับว่า เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก ถ้าหากปล่อยไปตามเวรตามกรรมอย่างที่แล้วมาก็ไม่ทราบว่า พระพุทธศาสนาจะอยู่ยืนยาวถึง 5,000 ปี เหมือนพุทธทำนายหรือไม่ ซึ่งจะขอประมวลปัญหาเกี่ยวกับการทำบุญที่เกิดจากมูลเหตุข้อนี้พอสังเขปดังต่อไปนี้

1. การทำบุญโดยยึดค่านิยมทางสังคม

การทำบุญโดยยึดค่านิยมทางสังคมในลักษณะนี้ มักออกมาในรูปของการทำเพื่อความมีหน้าตาทางสังคม เข้าทำนองที่ว่า “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” มีการจัดงานใหญ่โต สังเกตได้จากงานบวชพระ งานแต่งงาน ในงานบุญดังกล่าวจะมีมหรสพสมโภชน์ และที่ขาดไม่ได้ คือ “อบายมุข” ได้แก่ สุราที่เจ้าภาพนำมาเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมงาน มองในแง่หนึ่งเสมือนเป็นวัฒนธรรมการต้อนรับแขกที่ตกทอดมาช้านาน แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นถึงผลเสีย กล่าวคือ สุราเป็นสิ่งที่บั่นทอนสติปัญญา แม้บางคนอาจมองว่า การเลี้ยงสุราเป็นทานชนิดหนึ่ง แม้แต่พระโพธิสัตว์ คือ พระเวสสันดรก็ยังทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว แต่ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบว่า ผลบุญที่ได้จากการเลี้ยงสุรามีน้อยกว่าบาป สรุปง่าย ๆ ก็คือ งานบุญดังกล่าวเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งบาป บางครั้งในงานบุญที่กล่าวมาจะมีการฆ่าสัตว์ เพื่อนำมาทำอาหาร เป็นการนำชีวิตของผู้อื่นมาเป็นสะพานเชื่อมต่อบุญที่คิดว่า จะได้รับการจัดงานครั้งนี้ ผลกระทบที่ติดตามมาของการจัดงานบุญในลักษณะนี้ เช่น การเป็นหนี้สิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการทำบุญที่เป็นไปตามค่านิยมทำนองนี้อีกมากมาย เช่น ทำบุญต้องจารึกชื่อหรือประกาศให้คนอื่นได้รับทราบ หรือการทำบุญแบบประชันขันแข่งกัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม การจัดงานบุญเพื่อหาเสียงให้คนอื่นชื่นชมยกย่องว่า เป็น “คนใจบุญ” หรือหวังเงิน หรือของขวัญที่จะได้จากผู้ที่มาร่วมงาน เป็นต้น

2. การหวังผลตอบแทนจนเกินความจริง

ปัญหาการหวังผลตอบแทนจนเกินความจริงนี้ เกิดจากการไม่เข้าใจถึงหลักการ และวัตถุประสงค์ของบุญในแง่ที่ว่า บุญเป็นเรื่องของการลดความต้องการ แต่การทำบุญในลักษณะนี้กลับเพิ่มความต้องการมากขึ้น ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง การตักบาตรของสมชาย เกิดแก้ว (2537) พบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างบางส่วนระบุว่า ตักบาตร เพราะเชื่อว่า จะทำให้มีโชคลาภ หมดเคราะห์ ไม่ยากจน สอบได้หายโรค ซึ่งความปรารถนาทำนองนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอรรถกถาชาดก หรืออรรถกถาธรรมบทที่กล่าวถึง การตั้งความปรารถนาของบุคคลของบุคคลตัวอย่างไว้มากมาย แม้แต่ ในบทสัมโมทนียกถาหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า บทยถา…จะมีคำที่ส่งเสริม สนับสนุนการอธิษฐานไว้โดยสรุปว่า …“ขอให้ความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้วจงสำเร็จ”… และในบทให้พร คือ บทสัพพี.. ก็จะพบคำสนับสนุนเรื่องนี้อีกว่า ขอให้ได้พร 4 ประการ คือ อายุ (อายุยืน) วรรณะ (ผิวพรรณหมดจด ผ่องใส) สุขะ (สุขภาพจิตดี) และพละ (สุขภาพทางกายดี) จนเกิดเป็นค่านิยมของการตั้งความปรารถนา แต่ความปรารถนาของบุคคลตัวอย่างในอรรถกถาเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นความปรารถนาที่ลงมือกระทำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การตั้งสัจจาธิษฐานของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ที่ว่า …“จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็นและกระดูก เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ จักไม่หยุดความเพียร”… (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2539) จากข้อความนี้ จะเห็นถึงสาระสำคัญของการอธิษฐานที่แท้จริง คือ เป็นการอธิษฐานเพื่อจะกระทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป มิใช่เป็นการขอให้บุญดลบันดาลให้ได้สิ่งนั้น สิ่งนี้เหมือนอย่างที่ชาวไทยบางคนอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ได้สิ่งต่าง ๆ ตามที่ต้องการ

3. การพนันเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานบุญ

การพนักเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานบุญ เช่น งานบำเพ็ญกุศลศพในบางท้องที่จะมีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เป็นการนำอบายมุขที่พระพุทธศาสนา กล่าวว่า เป็นบาปไปปะปนกับงานบุญที่มีวัตถุประสงค์ให้คนเข้าใจ ชีวิต และอุทิศส่วนกุศล หรือความดีให้แก่บุคคลที่ตายไปแล้ว

4. การทำบุญตามประเพณีโดยปราศจากความเข้าใจสาระของพิธีกรรมนั้น ๆ

การทำบุญตามประเพณีโดยปราศจากความเข้าใจสาระของพิธีกรรมนั้น ๆ เช่น การตักบาตรเฉพาะวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา การแห่เทียนเข้าพรรษา การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การบวชในระยะสั้น ๆ เพียงแค่ 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน โดยผู้เข้าไปบวชส่วนหนึ่งไม่ได้ตั้งใจเข้าไปศึกษาหลักคำสอน แต่บวชกันตามประเพณีเพื่อให้ได้ชื่อว่า บวชตามค่านิยมของชาวไทยพุทธในอดีตก็เพียงพอแล้ว ทำให้ไม่ได้หลักการที่เป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตที่มีเป้าหมาย คือ ความสุขในปัจจุบันและอนาคต กลายเป็นการสูญเปล่าโดยไม่ได้สิ่งที่ดีงามติดตัวมาเหมือนอย่างคนไทยในอดีตปฏิบัติ

2. ปัญหาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์

ปัญหาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ อาจเรียกว่า “บุญญักเขตที่ไม่ดี” หมายถึง พระสงฆ์ที่ชาวพุทธเชื่อกันว่า เป็นเนื้อนาบุญ (พระสงฆ์ในที่นี้ หมายถึง พระอริยบุคคล 4 จำพวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) แต่พระสงฆ์ในปัจจุบันเรียกว่า “สมมุตสงฆ์” จะอย่างไรก็ตามก็ถือว่า พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดอริยวงศ์ของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดจากมูลเหตุข้อนี้ ดังต่อไปนี้

  1. การประพฤติผิดพระธรรมวินัย ซึ่งเราจะพบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของพระภิกษุ หรือสามเณรบางรูปที่ตกเป็นข่าวสร้างความมัวหมองให้แก่พระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้ชาวพุทธบางส่วนที่เปราะบางเสื่อมศรัทธา และมองพระสงฆ์อย่างคลางแคลงใจ บางคนอาจมองว่า พระสงฆ์ไม่ใช่บุญญักเขตอย่างที่กล่าวอีกต่อไป
  2. การสอนหลักบุญที่ผิด ๆ เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามกันอย่างผิด ๆ ตัวอย่างเช่น การสอนให้คนบริจาคมาก ๆ หรือสร้างสิ่งที่ใหญ่โตโดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ได้บุญมากเป็นพิเศษ ประเด็นนี้ ถ้ามองในแง่ของวัตถุหมือนจะถูกต้อง เหมือน ๆ กับว่า ถ้าใครทำงานมาก หรือทำงานชิ้นใหญ่ ๆ ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่กรณีเรื่องบุญในพระพุทธศาสนามิได้จำกัดอยู่เพียงแค่วัตถุเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ เกี่ยวข้องด้วย เช่น วัตถุที่นำมาบริจาค หรือทำบุญได้มาอย่างบริสุทธิ์หรือไม่ สิ่งที่จะสร้างเป็นประโยชน์หรือไม่ และที่สำคัญ คือ เจตนาของผู้ทำบริสุทธิ์หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า บุญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของวัตถุว่า มากหรือน้อย แต่เพียงองค์ประกอบเดียว การทำบุญในลักษณะนี้ ส่งผลให้เกิดค่านิยมเรื่องการแข่งขันกันสร้างสิ่งใหญ่โต เช่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด กลองใบใหญ่ที่สุด เป็นต้น
  3. การโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง เรื่องหนึ่งที่จะนำมากล่าวในที่นี้ คือ การติดป้ายโฆษณางานบุญปิดทองฝังลูกนิมิต ความจริงวัตถุประสงค์ของการผูกพัทธสีมา หรือที่เรียกกันว่า งานฝังลูกนิมิต เป็นสังฆกรรมที่ต้องการชี้ว่า สถานที่ตรงนี้เป็นเขตของพระสงฆ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่พระสงฆ์ (พระราชทานวิสุงคามสีมา) แต่ทุกวันนี้จะมีการโฆษณาว่า ทำให้ได้บุญอย่างนั้นอย่างนี้ อีกตัวอย่าง คือ พิธีพุทธาภิเสกที่มีการโฆษณาชวนเชื่อถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ที่ผิดไปจากหลักการทางพระพุทธศาสนา ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ แม้ว่า พระพุทธศาสนาจะกำหนดคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกาไว้ข้อหนึ่ง คือ “อย่าเชื่อมงคลตื่นข่าว” ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรอง พิจารณาให้รอบคอบก่อนเชื่อก็ตาม แต่เท่าที่สังเหตเห็นชาวพุทธจำนวนมากมักใช้ศรัทธามากกว่าปัญญา
  4. การแสวงหาผลประโยชน์เกี่ยวกับบุญ กล่าวคือ งานบุญ หรือพิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่างเน้นการแสวงหาเงินเข้าวัดมากเกินไป เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น ซึ่งก็มีทั้งผลดีผลเสีย ผลดีที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ วัดมีรายได้ และนำรายได้เหล่านั้นไปบูรณะซ่อมแซม สร้างสิ่งต่าง ๆ หรือใช้จ่ายในกิจกรรมอื่น ๆ ของวัด ผลเสียที่ติดตามมาคือ มีประชาชนบางส่วนที่มองภาพพิธีกรรมที่กล่าวมาในแง่ลบและเกิดความเบื่อหน่ายในบุญ เนื่องจาก ในเทศกาลงานบุญดังกล่าวจะมีการแจกซองกฐิน ซองผ้าป่า เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริจาค
  5. การแอบแฝงเข้าไปหาผลประโยชน์ของกลุ่มคนหรือบางคน เช่น การปลอมตัวบวชเข้าไปบิณฑบาต เรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน หรือหาวิธีการหลอกลวงชาวบ้านด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เช่น หลอกให้ดูดวง สะเดาะเคราะห์ต่อชะตาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ เป็นต้น จนทำให้มีผู้หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่ออยู่บ่อยครั้ง หรืออาจใช้พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาผสมผสานกับลัทธิอื่น ๆ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การจัดสวดภาณยักษ์ การไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น เฉพาะที่เป็นการกระทำเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวหรือเห็นพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าวก็พลอยเสื่อมศรัทธาจากพระพุทธศาสนาพากันเบื่อหน่ายเรื่องบุญไป

ข้อสรุปของปัญหาเกี่ยวกับ “บุญ” ที่กล่าวมาทั้งหมดมีมูลเหตุมาจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักคำสอนที่ว่า ด้วย “บุญ” ทั้งสิ้น มีคำถามที่ติดตามมาประการหนึ่ง คือ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ทำไมพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจคำว่า “บุญ” อย่างถูกต้อง คำตอบเรื่องนี้หลาย ๆ ประเด็น อาจเป็นเพราะพุทธศาสนิกชนเหล่านั้น ไม่สนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจหลักคำสอน มองว่า การศึกษาหลักคำสอนเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ส่วนตนมีหน้าที่เพียงให้การทำนุบำรุงเท่านั้น จึงทำให้การปฏิบัติกิจทางศาสนาขึ้นอยู่กับผู้นำศาสนาและค่านิยมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *