ปัญหาเด็กวัยเรียนเริ่มอ้วนและอ้วนมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย

โรคอ้วนในเด็กวัยเรียนซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เป็นความท้าทายในศตวรรษที่ 21 และไม่เฉพาะประเทศที่มีรายได้สูง (high – income country) เท่านั้น แต่ก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (low and middle income countries) โดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งสถานการณ์ภาวะอ้วน ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทั่วโลกจาก 31 ล้านคนในปี พ.ศ. 2533 เป็น 44 ล้านคนในปี พ.ศ. 2555 และภายในปี พ.ศ. 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า จะมีเด็กเป็นโรคอ้วนทั่วโลก 70 ล้านคน ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 65 (2012 World Health Assembly) ประเทศสมาชิกได้รับข้อตกลงที่จะดำเนินการุม่งสู่การจัดการภาวะอ้วนในเด็กไม่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ข้อของเป้าหมายโลกด้านโภชนาการ (Six global nutrition targets) ที่จะพัฒนาภาวะโภชนาการแม่และเด็กให้สำเร็จภายในปี 2568

เด็กที่เริ่มอ้วนและอ้วนจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ โอกาสเสี่ยงของเด็กอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ร้อยละ 25 คือ เด็กอ้วน 4 คน จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน 1 คน และหากเป็นวัยรุ่นอ้วนโอกาสเสี่ยงจะสูงถึง ร้อยละ 75 คือ วัยรุ่นอ้วน 4 คน จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 3 คน ผลเสียที่ตามมาจากการเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่วัยเด็ก คือ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่า เด็กที่อ้วนมากจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงถึง ร้อยละ 40 มีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าร้อยละ 60 และทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงซึ่งอยู่ในรูปของ VLDL (Very Low Density Lipoprotein) เป็นไขมันชนิดไม่ดี ซึ่งจะทำหน้าที่พาเอาไขมันไปสะสมอยู่ในบริเวณหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแข็ง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูง นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจาก เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ ปอดจะขยายตัวน้อย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต เด็กที่อ้วนมักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อและกระดูก ทำให้ปวดหัวเข่า ปวดข้อเท้า กระดูกงอและขาโก่ง เพราะต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากอยู่ตลอดเวลา เด็กจะมีปัญหาทางด้านพัฒนาการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ คือ จะทำให้เด็กเดินไม่คล่องตัว เมื่อเดินหรือวิ่งก็จะเหนื่อยง่าย สำหรับในเด็กโตอาจพบอาการปวดสะโพก จะทำให้เดินไม่ได้ และมีผลกระทบต่อสุขภาพเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเรื้อรัง อันจะเกิดจากโรคอ้วนหลายพันล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ด้วยการส่งเสริมที่ให้เด็กวัยเรียนมีพฤติกรรมการบริโภค และมีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม

ดังนั้น การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของโรคอ้วน ความผิดปกติของเมตาบอลิซึมในเด็กอ้วน ภาวะแทรกซ้อน และผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคอ้วน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะ เริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

สาเหตุของโรคอ้วน

“โรคอ้วน” โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่จะได้รับกับพลังงานที่เผาผลาญ และทำให้เกิดการสะสมพลังงานในรูปของ Triglycerides ในเนื้อเยื่อไขมันอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของผู้ใหญ่และเด็กจะเป็นตัวชี้วัดที่สามารถบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบพื้นฐาน (Fundamental Shift) ของการได้รับ และการใช้พลังงานที่จะมีผลต่อความสมดุลของพลังงาน

การจำแนกโรคอ้วนในเด็ก

โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งเด็กและวัยรุ่นที่อ้วน ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กลุ่มเด็กที่อ้วนและเตี้ย (Pathological obesity)
  2. กลุ่มเด็กที่อ้วนและสูง (Simple obesity, nutritional obesity)

กลุ่มเด็กที่อ้วนและเตี้ย (Pathological obesity)

  1. กลุ่มอ้วนและเตี้ยที่มีระดับสติปัญญาปกติ มักพบในเด็กและวัยรุ่นที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth hormone deficiency) ขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน (Acquired hypothyroidism) มีฮอร์โมนกลูโคคอร์ตินอยด์เกิน (Cushing syndrome)
  2. กลุ่มอ้วนเตี้ยที่มีระดับสติปัญญาด้อยกว่าปกติ มักพบในเด็กที่เป็นโรคจำเพาะบางอย่าง เช่น Prader Willi syndrome, Laurance – Moon – Beidl syndrome หรือ Psuedohypoparathyroidism เป็นต้น ซึ่งเด็กและวัยรุ่นที่เข้าข่ายสงสัยใน 2 กลุ่มนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรค และรักษาต่อไป

กลุ่มเด็กที่อ้วนและสูง (Simple obesity, nutritional obesity)

ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อ้วนและสูงนั้น เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุของเด็กที่อ้วนกลุ่มนี้มาจากความไม่สมดุลของพลังงาน คือ ได้รับพลังงานจากสารอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายใช้ไป ทำให้มีพลังงานเหลือสะสมเป็นไขมันในร่างกายเกิดเป็นภาวะอ้วนขึ้น

ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการเป็นโรคอ้วน

  1. ผลกระทบด้านสังคมและจิตใจ เด็กอ้วนจะเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เพราะการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันในร่างกาย การศึกษา พบว่า เด็กที่เป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง (Self – esteem) ต่ำ เด็กที่อ้วนมักจะตัวโต กว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้มักจะถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่เพราะตัวโตเกินกว่าอายุจริง ซึ่งเด็กผู้หญิงจะมีปัญหามากกว่าเด็กผู้ชายมองว่า ตนเองไม่เก่ง ไม่มีความสามารถทางกายภาพ จะมีผลกระทบด้านลบต่ออารมณ์ การพัฒนาความคิด และทางร่างกาย ภาพลักษณ์ต่อร่างกายของเด็กวัยรุ่น ความรู้สึกด้านลบ มีผลกระทบต่อสถานะทางสังคม การศึกษาของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น พบว่า เด็กที่น้ำหนักเกินมักถูกเพื่อนมองในแง่ลบมากกว่า เป็นตัวถ่วง ไม่น่าคบ ทำให้เด็กอ้วนมองตนเองด้านลบ เกิดปัญหาในการเข้าสังคม จะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การศึกษาในต่างประเทศ พบว่า เด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนมีผลการเรียนต่ำ เมื่อเป็นผู้ใหญ่มักได้ทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มเพื่อนที่ไม่เคยอ้วน และถูกกีดกันจากบางอาชีพส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตได้
  2. ผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกาย
    • การเจริญเติบโตและภาวะเป็นหนุ่มสาวเร็ว เด็กที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าปกติ มักจะเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติกับเพื่อนในวัยเดียวกันและเมื่ออายุถึงวัยมีประจำเดือน พบว่า มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณไขมันในร่างกาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก และความสม่ำเสมอต่อการมีประจำเดือน ผลที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีน้ำหนักมากหรืออ้วนกับการมีประจำเดือนเร็วขึ้นกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ ซึ่งเด็กอาจจะยังไม่พร้อมที่จะดูแลตนเองได้ ในเด็กไทยที่ผ่านมาพบเด็กหญิงอ้วนหลายรายมีประจำเดือน เมื่ออายุ 9 – 10 ปี ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่มีประจำเดือนอายุเฉลี่ย 11 – 12 ปี
    • โรคเบาหวาน โรคอ้วนทำให้มีการต้านฤทธิ์ฮอร์โมนอินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งพบความผิดปกติในเด็กอ้วน คือ ระดับอินซูลินสูงกว่าเด็กปกติ เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ซึ่งพบความซุกมากในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา ในเด็กและวัยรุ่นพบโรคเบาหวานมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างมีน้ยสำคัญทางสถิติ
    • โรคไขมันเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดของเด็กและวัยรุ่นอ้วน โดยมี LDL – C (Low Density Lipoprotein – cholesterol) สูง แต่ HDL (High Density Lipoprotein – cholesterol) ต่ำ กลไกเหมือนกับผู้ใหญ่ที่อ้วน ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบแข็งและโรคหัวใจ เมื่อเด็กอ้วนกินอาหารที่มีไขมันมาก และร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ทำให้มีไขมันมากในกระแสเลือดไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแข็ง มีผลทำให้เป็นโรคหัวใจและอัมพาตได้ เพราะเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองไม่เพียงพอ
    • โรคความดันโลหิตสูง เด็กที่ตรวจ พบว่า มีความดันโลหิตสูงมากกว่าร้อยละ 60 มักจะมีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 120 เด็กอ้วนจะมีความดันโลหิตสูงกว่าเด็กที่ไม่อ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง (abdominal obesity) เด็กอ้วนมีความดันโลหิตสูง จะมีปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ (cardiac output) และปริมาณเลือดในหลอดเลือด (intravascular volume) เพิ่มขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติ sympathetic ทำงานเพิ่มขึ้นทำให้มีการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย การที่ระดับของอินซูลินในเลือดสูงขึ้น และความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
    • โรคข้อและกระดูก เด็กและวัยรุ่นที่อ้วน พบว่า มีความผิดปกติของกระดูกและข้อ ร้อยละ 50 – 70 เด็กอ้วนจะมีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า มีการเคลื่อนไหวลดลง เท้าแบน ทำให้เดินลำบากและมีท่าเดินที่ผิดปกติ น้ำหนักตัวที่มากเกินวัยจะลดลงบนกระดูกอ่อนและแผ่นเยื่อเจริญ (growth plate) ของกระดูกขาของเด็ก ทำให้เกิดความผิดปกติของข้อที่รับน้ำหนัก โดยเฉพาะข้อเข่าพบบ่อยที่สุด ได้แก่ ขาโก่ง ซึ่งเด็กเล็กที่เป็นโรคอ้วนจะมีขาโก่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากน้ำหนักตัวทำอันตรายต่อแผ่นเยื่อเจริญกระดูกเข่าด้านใน ส่วนวัยรุ่นโรคอ้วนมักมีขาท่อนบนใหญ่ ทำให้เกิดอันตรายต่อหัวกระดูกและตันขา (femur) เกิดโรคหัวกระดูกสะโพกเลื่อน และ knock knees เกิดจากน้ำหนักที่กดลงบน growth plate ของกระดูกที่ยังไม่บิด การแก้ไขทำได้โดยการลดน้ำหนักและอุปกรณ์ช่วยเดิน
    • โรคระบบทางเดินหายใจ พบได้ในเด็กที่น้ำหนักเกินร้อยละ 150 ของเด็กวัยและเพศเดียวกัน ระยะแรกจะเหมือนการนอนกรน ต้องพลิกตัวไปมา ถ้ายังอ้วนต่อไปก็จะเกิดภาวะคล้ายอาการสำลัก สะดุ้งตื่นเป็นผลจากการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะที่นอนหลับมีผลทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ง่วงนอนตอนกลางวัน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำ ถ้าเป็นมากทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อการควบคุมการหายใจเกิดภาวะที่เรียกว่า “พิควิคเกียน” (Pick Wichkian syndrome) ควรรีบให้การดูแลรักษา หากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้
    • อาการทางผิวหนัง ที่พบได้บ่อย คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กอ้วนที่เป็นโรคเบาหวานทำให้ผิวหนังอักเสบรุนแรง และลุกลามจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *