ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเมล่อน

ปัจจัยส่วนประสมด้านการตลาด หมายถึง เครื่องมือทางการตลาดที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งกิจการสามารถผสมผสานเครื่องมือเหล่านี้ให้สามารถตอบสนองความต้อกงารและสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้

อิทธิพลส่วนบุคคล หมายถึง ตัวแปรทางด้านจิตวิทยาที่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้า

อิทธิพลทางสังคม หมายถึง การที่พฤติกรรมของบุคคลหนึ่ง ๆ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของบุคคลอื่นในลักษณะทางเดียว

ผลิตภัณฑ์ หมายถึง ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ และแนวความคิด เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการและจำเป็นของผู้บริโภค

ราคา หมายถึง สิ่งที่บุคคลยอมสละในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งในความหมายทั่วไปแล้ว ราคาก็คือ จำนวนเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือบริการ

การส่งเสริมการตลาด หมายถึง การตลาดทั้งหมดเพื่อให้ได้มาซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับองค์กรธุรกิจ โดยการตอบสนองต่อความพอใจ ความต้องการของผู้บริโภค

การจัดจำหน่าย หมายถึง โครงสร้างทางธุรกิจขององค์กรที่มีความสัมพันธ์กันนับตั้งแต่แหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ไปจนถึงผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงคในการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคคนสุดท้าย

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ประกอบด้วย 10 ปัจจัย มีรายละเอียดดังนี้

  1. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านสังคม พบว่า อิทธิพลจากคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อนมากที่สุด เนื่องจาก ครอบครัวจัดเป็นกลุ่มอ้างอิงพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อบุคคลในการที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคขึ้นได้ โดยคนในครอบครัวเดียวกันจะมีแนวโน้มที่จะประพฤติปฏิบัติในแบบเดียวกัน
  2. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนควรจะเน้นในเรื่องของการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย สะดวก รวดเร็ว และมีความเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อเมล่อนของผู้บริโภค เนื่องจาก การมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่สะดวก ส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน
  3. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านคุณภาพ พบว่า การให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพและการสร้างคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องจำเป็น เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนควรให้ความใส่ใจในเรื่องของการมีผลผลิตที่มีคุณภาพ อาจรวมไปถึงผลผลิตมีความปลอดภัยจากสารเคมี มีความสะอาด และถูกหลักอนามัย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ถึงแม้ราคาสูงขึ้นแต่หากได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว ผู้บริโภคจะยังคงเลือกซื้อเมล่อน กล่าวได้ว่า หากเมล่อนมีคุณภาพมากจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้ออยู่ในระดับมาก
  4. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านราคา พบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องของราคาที่มีความเหมาะสมกับขนาดของผลเมล่อนและคุณภาพที่จะได้รับ ความหลากหลายของสายพันธุ์เมล่อนที่ทำให้มีราคาที่แตกต่างกันจะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อเมล่อนตามความสามารถในการเข้าถึงของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น
  5. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านการตลาด พบว่า ควรจะเน้นในเรื่องของการโฆษณาถึงประโยชน์ คุณสมบัติที่ดี และการทำให้ผู้บริโภคทั่วไปได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเมล่อนมากขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนควรมีการชี้แจงเรื่องประโยชน์ของเมล่อนว่ามีต่อสุขภาพอย่างไร จะช่วยทำให้เมล่อนเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ รวมทั้งการทำบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล่อนมากยิ่งขึ้น และยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการเลือกซื้อเมล่อนอยู่ในระดับปานกลาง
  6. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านการเรียนรู้ พบว่า การที่ผู้บริโภคได้เรียนรู้หรือทำความรู้จักกับเมล่อนจะส่งผลให้มีการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อนในครั้งต่อไป หากเคยเลือกซื้อหรือรับประทานเมล่อนมาก่อนแล้วจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมการซื้ออยู่ในระดับปานกลาง
  7. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านความเชื่อ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้อจากความเชื่อในตัวผลิตภัณฑ์ ในด้านของฐานะทางการเงิน ชนชั้น รวมทั้งการให้ความสนใจกับชื่อเสียงของฟาร์ม จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อนอยู่ในระดับน้อย กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่ให้ความสนใจเรื่องของปัจจัยด้านความเชื่อ
  8. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านวัฒนธรรม พบว่า วัฒนธรรมจะกระทบต่อพฤติกรรมขั้นพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างกว้างและลึกที่สุด เป็นตัวก่อให้เกิดค่านิยม การรับรู้ความอยากได้ แต่จากการศึกษา พบว่า การเลือกซื้อเมล่อน ใช้ปัจจัยด้านวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดพฤติกรรมซื้อเมล่อนของผู้บริโภค อยู่ในระดับน้อย
  9. ปัจจัย่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านการรับรู้ พบว่า การรับรู้ถึงรสชาติ สี กลิ่น และการรับรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีของเมล่อน เช่น การได้เห็นและได้ทดลองชิมเมล่อนก่อนการเลือกซื้อ จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้ออยู่ในระดับน้อย
  10. ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน ด้านทัศนคติ พบว่า ทัศนคติที่ดีหรือความพึงพอใจต่อเมล่อนก่อนการเลือกซื้อ เช่น มีทัศนคติว่า หากซื้อเมล่อนจะเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนได้ จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อเมล่อนอยู่ในระดับน้อยที่สุด

ที่มาบทความ นภัสนันท์ ชาติวัฒนานนท์. (2558). การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อเมล่อน. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *