ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รำข้าว และน้ำมันรำข้าว เส้นใยอาหาร (Fiber) ข้าวกล้อง

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พันธุ์ข้าวนี้ได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่แล้วห้ามนำไปขยายพันธุ์เชิงการค้าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก วช. และม.เกษตรศาสตร์ มีคุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการ คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ได้แก่ แกมมาโอไรซานอล แทนนิน สังกะสี เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และโฟเลตสูง และมีดัชนีน้ำตาลต่ำ – ปานกลาง นอกจากนี้ในรำข้าว และน้ำมันรำข้าวยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดี ซึ่งจากคุณสมบัตินี้ นอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งแล้ว ในทางการแพทย์ยังสามารถนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารโภชนาการบำบัดอีกด้วย ซึ่งสารอาหารสำคัญที่อยู่ในข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ จะประกอบด้วย

  • โอเมก้า 3 ที่มีอยู่ 25.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรดไขมันจำเป็น มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้าง และการทำงานของสมอง ตับ และระบบประสาท ลดระดับคอเลสเตอรอล
  • ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 1 กิโลกรัมมีธาตุสังกะสี 31.9 มิลลิกรัม ที่ช่วยสังเคราะห์โปรตีน รักษาสิว สร้างคอลลาเจน กระตุ้นรากผม ป้องกันผมร่วง
  • ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 1 กิโลกรัม มีธาตุเหล็ก 13 – 18 มิลลิกรัม สร้างและจ่ายพลังงานในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนในร่างกาย และสมอง
  • มีวิตามินอี 678 ug ต่อ 100 กรัม ผิวพรรณสดใส ชะลอความแก่ ลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดสมองและหัวใจ จะทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น และ
  • มีวิตามินบี 1 มีอยู่ 0.42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ระบบย่อย ป้องกันโรคเหน็บชา ระบบประสาท
  • ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน (สารตั้งต้นของวิตามินเอ)  63 ug จะช่วยชะลอความแก่ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และบำรุงสายตา
  • ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 100 กรัม มีลูทีน 84 ug ช่วยบำรุงการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา และป้องกันจอประสาทตาเสื่อม
  • โพลิฟีนอล 113.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  • บำรุงการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา 1 กิโลกรัม มีแทนนิน 89.33 มิลลิกรัม ช่วยแก้ท้องร่วง แก้บิด และสมานแผล แผลเปื่อย
  • แกมมาโอไรซานอล 462 ug ต่อ 100 กรัม ลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเป็นปกติ และสมองเสื่อม ลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ เส้นใยอาหาร (Fiber) ในข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่มีอยู่ปริมาณมาก ช่วยลดระดับไขมันและลดคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมน้ำหนักช่วยระบบขับถ่าย ป้องกันโรคหัวใจ (สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2556)

“ข้าวกล้อง” มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูงมากกว่าในข้าวขาวหรือข้าวสาร เพราะ “ข้าวกล้อง” ยังคงมีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวและคัพภะ (Rice germ) ที่ประกอบด้วย เกลือแร่ วิตามิน โปรตีน ไขมัน และใยอาหารในปริมาณสูง และนอกจากนี้ ยังมีการพบสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายชนิด เช่น วิตามินอี แกมม่าออริซานอล (Gamma Oryzanol) ซึ่งเป็นสารประเภทต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ และกรดแกมม่าอมิโนบิวทิริก (Gamma Aminobutyric acid) หรือเรียกว่า กาบา (GABA) ซึ่งเป็นกรดอมิโนชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Zhou et al., 2003[1]: Tian et al., 2004[2]) แต่ข้าวกล้องมีปัญหาในเรื่องการเก็บรักษาได้ไม่นาน เสื่อมคุณภาพง่าย และข้าวกล้องเมื่อหุงสุกมีเนื้อสัมผัสที่แข็งกระด้างกว่าข้าวขาว จึงทำให้ผู้บริโภคจึงไม่ค่อยนิยมบริโภคข้าวกล้อง (พัชรี ตั้งตระกูล, 2548[3])

การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของข้าวโดยการทำข้าวกล้องงอก (Germinated Brown Rice) ซึ่งเป็นข้าวกล้องที่ผ่านการแช่น้ำ แล้วทำให้งอกโดยมีส่วนของต้นอ่อนงอกที่ออกจากส่วนที่เป็นคัพภะ มีความยาวประมาณ 0.5 – 1.0 มิลลิเมตร และพบการเพิ่มขึ้นของสารชีวกิจกรรม เช่น กรดเฟอร์รูลิก (Ferrulic Acid) สารประกอบฟินอลิก (Pheonolic Compound) กรดไฟติก (Phytic Acid) ใยอาหาร (Fibre) สาร GABA แกมมาออริซานอล (Gamma Oryzanol) อินโนซิทอล (Tnositol) โทโคไตรอีนอล (Tocotrienols) แมกนีเซียม โพแทสเซียมและสังกะสี (Tian et al., 2004[4] และวรรณา และคณะ, 2549[5]) ซึ่งข้าวกล้องที่นำมาทำให้งอกแล้วนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าในข้าวกล้องปกติ โดยเฉพาะบริเวณ GABA ซึ่งข้าวกล้องที่นำมาทำให้งอกแล้วนั้น มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าในข้าวกล้องปกติ โดยเฉพาะปริมาณ GABA พบว่า มีมากกว่าในข้าวกล้องถึง 10 เท่า และมีกรดอมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้ คือ ไนอะซีน (Niacin) และไลซีน (Lysine) เพิ่มขึ้น 4 เท่า รวมทั้งมี Dietary Fiber เพิ่มขึ้นมากกว่าข้าวกล้องปกติ (Bahadur, 2003[6]) จากงานวิจัย Osawa et al., (2004)[7] การศึกษาพบว่า การนำข้าวกล้องงอกให้ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงรับประทานใน 4 สัปดาห์ สามารถลดความดันโลหิตในคนไข้ได้ ซึ่งการทำข้าวกล้องงอกนอกจากจะได้ประโยชน์จากปริมาณ GABA ที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ข้าวที่หุงสุกมีเนื้อข้าวสัมผัสอ่อนนุ่ม และรับประทานได้ง่ายกว่าข้าวกล้องปกติ เนื่องจาก ขณะเกิดกระบวนการงอกของข้าว จะเกิดการย่อยสลายของน้ำตาลและโปรตีน และมีผลทำให้ข้าวมีรสหวานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกในรูปของข้าวกล้องงอกอบแห้ง และมีมูลค่าสินค้าสูงกว่าข้าวกล้องปกติ 3 – 5 เท่า จึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวได้ทางหนึ่ง


[1] Zhou, Y., Dahler, J. M., Underhill, S. J. R. and Wills, R. B. H. 2003. Enzymes associated with blackheart development in pineapple fruit. Food Chem., 80: 565 – 572.

[2] Tian, S., Jiang, A., Xu, Y. and Wang, Y. 2004. Respones of physiology and quality of sweet cherry fruit to different atmospheres in storage. Food Chem., 87: 43 – 47.

[3] พัชรี ตั้งตระกูล. 2548. นวัตกรรมข้าวเพื่อการส่งออก. ในเอกสารประกอบการสัมมนาเผยแพร่ ผลงานวิจัยนวัตกรรมข้าวไทย ธาตุเหล็กสูง, กองโครงการและประสานงานวิจัย ส้านักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

[4] Tian, S., Jiang, A., Xu, Y. and Wang, Y. 2004. Respones of physiology and quality of sweet cherry fruit to different atmospheres in storage. Food Chem., 87: 43 – 47.

[5] วรรณา ตั้งเจริญชัย กิตติพงษ์ ห่วงรักษ์ อุมา แสงคร้าม วิไลภรณ์ ตระกูลพิบูลชัย และทนาวุฒิ ปริญญาพัฒนบุตร. (2549). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจาก ข้าวกล้องงอก ด้วยกระบวนการเอกซ์ทรูชั่น, โครงการความร่วมมือไทย-เกาหลี (NRCTKOSEF). สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.56 หน้า.

[6] Bahadur, Hari KC (2003). “Useful sprouted Brown Rice”, The Rising Nepal. Available: http://www.nepalnews.com.np/ (April 9, 2003).

[7] Osawa, M.Z., K. Goto and K. Tsukahara. (2004). Clinical study of germinated brown rice on Sawapikari. World rice Research Conference 2004, 5-7 November, 2004. Tsukuba International Congress Center (Epochal Tsukuba) Tsukuba, lbaraki, Japan.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *