ประเภทของตราสินค้า

ตราสินค้าสำหรับสินค้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทด้วยกัน[i] ได้แก่

  1. ตราสินค้าของผู้ผลิตหรือตราระดับประเทศ (Manufacture’s Brand or National Brand) ตราสินค้าชนิดนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดขึ้น เพื่อเป็นลักษณะประจำของสินค้าทางโรงงานเป็นผู้ผลิตขึ้น สินค้าที่ผลิตขึ้นจะถูกส่งออกไปขายยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ เช่น โคคา – โคล่า เบียร์ไทยตราสิงห์ เนชั่นแนล และฮาร่า เป็นต้น
  2. ตราสินค้าของผู้จำหน่ายหรือพ่อค้าคนกลาง (Private Brand) ได้แก่ ตราสินค้าที่ผู้จำหน่ายหรือพ่อค้าคนกลางสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิต ส่วนใหญ่ตราสินค้าเหล่านี้มักจะเป็นผู้ค้าส่งหรือผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น เทสโก้ โลตัส และคาร์ฟูว่าจ้างผู้ผลิตที่เป็นที่ยอมรับของไทย เพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ น้ำยาล้างจาน ยาสระและครีมนวดผม กระดาษชำระ น้ำตาล น้ำปลา และอื่น ๆ โดยติดตรา “เทสโก้” และ “คาร์ฟู” ตามลำดับ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลก็สั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหลายแห่งแล้วมาใส่ชื่อตราสินค้าของตนเอง เช่น ชุดนอนและอุปกรณ์ครัวเรือน “เซ็นทรัล” เป็นต้น การที่คนกลางกำหนดตราสินค้าขึ้นมาเองนี้ ช่วยสร้างคุณประโยชน์แก่คนกลางเหล่านี้ โดยสามารถเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าของตนได้ง่ายกว่าสินค้าที่มีตราสินค้าของผู้ผลิต (Manufacturer’s Brand) ซึ่งทำให้คนกลางสามารถได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น นอกจากนี้ คนกลางยังสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ผลิตสินค้าได้ หากผู้ผลิตไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการหรือมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง
  3. ตราสินค้าร่วม (Family Brand) เป็นตราสินค้าที่ถูกนำไปใช้กับสินค้าหลาย ๆ ประเภทที่ผู้ผลิตเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น ถึงแม้ว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่จะอยู่ภายใต้ตราสินค้าเดียวกันเท่านั้น เช่น สินค้าที่อยู่ภายใต้ตราสินค้า “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ทั้งสบู่ แป้ง และเสื้อผ้าเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ ตราสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่นำมาจากชื่อขององค์กร ในกรณีนี้จึงอาจเรียกว่า เป็น “Corporate Brand” ได้เช่นกัน
  4. ตราสินค้าเอกเทศ (Individual Brand) ตราสินค้าชนิดนี้จะถูกนำไปใช้กับสินค้าแต่ละประเภทแตกต่งกันไป สินค้าอย่างหนึ่งก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง เช่น สินค้าของบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล จำกัด ซึ่งทำการตลาดภายใต้ตราสินค้าหลายตรา เช่น วิสเปอร์ (Visper) ไอวอรี่ (Ivory) เครส (Crest) เฮคแอนด์โชว์เดอร์ (Head and Shoulder) หรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors) ที่ผลิตรถยนต์ออกมาโดยใช้ยี่ห้อต่าง ๆ กัน เช่น เซฟโรเลต (Chevrolet) ปอนเทียก (Pontiac) บิวอิค (Buick) โอลสโมบิลส์ (Oldsmobils) และคาดิแลค (Cadillac) เป็นต้น
  5. ตราสินค้าชนิดผสมระหว่างตราสินค้าร่วมกับตราสินค้าเอกเทศ (Family Brand and Individual Brand) ตราสินค้าชนิดนี้จะออกมาในลักษณะที่มีชื่อใหม่ อย่างไรก็ดี ชื่อของตราสินค้าใหม่นั้นมีลักษณะที่สามารถมองออกได้ว่า มาจากการผสมชื่อของตราสินค้าเก่ากับตราสินค้าใหม่ เช่น บริษท Eastman Kodak ผู้ผลิตอุปกรณ์และฟิล์มถ่ายภาพก็มักจะมีคำว่า Eastman มาผสมกับชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตกผลิตขึ้นมา เช่น กรณีของสินค้าใหม่มีชื่อว่า Eastman Varifax
  6. ตราสินค้าชนิดหลากหลาย (Multiple Brand) ตราสินค้าชนิดนี้เป็นตราสินค้าที่ออกมาในรูปตราต่าง ๆ กัน แต่สินค้าที่ผลิตขึ้นมานั้นมีลักษณะอย่างเดียวกัน เช่น กางเกงยีนส์จะใช้ตราต่าง ๆ กัน โดยที่กางเกงยีนส์นั้นมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ ในกรณีนี้มีความแตกต่างกับตราสินค้าเอกเทศตรงที่ตราสินค้าเอกเทศจะมีตราสินค้าอย่างหนึ่งกับสินค้าอย่างหนึ่ง แต่ตราสินค้าชนิดหลากหลายจะมีตราสินค้าหลายอย่าง เช่น บริษัท General Electric ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นบริษัทหนึ่งที่ใช้นโยบายตราสินค้านี้ เช่น นอกจากจะใช้คำว่า G.E. แล้วยังใช้ชื่ออื่นออกมาแข่งขันกันเองอีกด้วย เช่น Hotpoint เป็นต้น
  7. ตราสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Brand) เป็นตราสินค้าที่ใช้ในแต่ละเขต กล่าวคือ เขตหนึ่งใช้ชื่ออย่างหนึ่ง อีกเขตหนึ่งก็ใช้ชื่ออีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะตราสินค้าที่ออกมาจะเป็นเครื่องช่วยในการเฉลี่ยความเสี่ยงภัยในสินค้าของผู้ขาย/ผู้ผลิตให้ลดลงได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ตราสินค้าหนึ่งเป็นที่นิยมในเขตหนึ่ง แต่ตราสินค้าอีกตราหนึ่งอาจไม่เป็นที่นิยมในอีกเขตหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะช่วยให้สินค้านั้นขายได้ ทำให้ผู้ผลิต/ผู้ขายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

[i] ชฎาพร บางกรวย. การสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยผ่าน Thailand’s Brand สู่ตลาดต่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *