ความแตกต่างของตราสินค้าที่ผู้บริโภครับรู้ได้

ความแตกต่างของตราสินค้าที่ผู้บริโภครับรู้ได้นี้อาจเกี่ยวข้องกับตัวสินค้า และไม่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าก็ได้ เช่น แหล่งที่มาของสินค้า ผู้ใช้สินค้า และข่าวสารอื่น ๆ[i] เช่น

  1. คุณลักษณะของสินค้า (Product Attributes) เป็นการนำเอาลักษณะของสินค้ามาเป็นปัจจัยในการกำหนดภาพลักษณ์ตราสินค้า ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่พิเศษกว่าคู่แข่งขัน
  2. ผลประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับ (Customer Benefits) เป็นการนำเอาผลจากการใช้สินค้าหรือบริการนั้นมาเป็นปัจจัยในการกำหนดภาพลักษณ์
  3. ราคาของผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน (Relative Price) เป็นการใช้ประเด็นเรื่องราคาสินค้าหรือบริการที่ได้เปรียบคู่แข่งขันมาใช้ให้เป็นประโยชน์
  4. การใช้งาน (Use/Application) วิธีนี้เป็นการนำไปใช้งานหรือวิธีการใช้สินค้าหรือบริการนั้นมาเป็นปัจจัยในการกำหนดปัจจัยเชื่อมโยงหรือภาพลักษณ์ตราสินค้า เช่น ซุปเคมเบลล์วางตำแหน่งสินค้าเป็นอาหารกลางวัน
  5. ลูกค้าหรือผู้ใช้ (Customer/User) เป็นการเชื่อมโยงลูกค้าหรือสินค้าหรือบริการวิธีนี้เป็นการบ่งบอกชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เช่น เครื่องสำอางทเวลฟ์ พลัส เป็นเครื่องสำอางสำหรับวัยรุ่นที่สร้างปัจจัยเชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
  6. ผู้มีชื่อเสียงหรือบุคคล (Celebrity/Person) การใช้ผู้มีชื่อเสียงช่วยสร้างการเชื่อมโยงให้กับสินค้าได้ดีและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ยิ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทางอาชีพในสาขาใด ก็ยิ่งเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ (Credibility) ในด้านนั้นสูงไปด้วย นอกจากนี้ ยังอาจสร้างตัวการ์ตูนหรือสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่ก็ได้ เช่น เคนตักกี้ฟรายด์ชิกเก้นให้ผู้พันแซนเดอร์เป็นตัวเชื่อมโยงอย่างหนึ่ง
  7. บุคลิกภาพ (Personality) เป็นการนำเอาบุคลิกภาพของผลิตภัณฑ์และลูกค้ามากำหนดบุคลิกภาพของสินค้า แล้วนำปัจจัยนี้มากำหนดภาพลักษณ์ตราสินค้า เช่น เป๊ปซี่ของคนรุ่นใหม่
  8. ประเภทผลิตภัณฑ์ (Product Class) เป็นการระบุว่า ตราสินค้านั้นจัดอยู่ในประเภทผลิตภัณฑ์อะไร เพื่อให้ผู้บริโภคเทียบเคียงคุณสมบัติและจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ และให้ผู้บริโภคเชื่อมโยงกับตราสินค้าได้เด่นชัดขึ้น เช่น เครื่องดื่ม “เซเว่นอัพ” รณรงค์ว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่ไม่ใช่โคลา เพื่อลบภาพว่าเป็นตัวผสมเครื่องดื่ม (Mixer) สำหรับผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น
  9. คู๋แข่งขัน (Competitors) วิธีนี้เอาคุณสมบัติของคู่แข่งขันมาเป็นข้อเปรียบเทียบกับสินค้าหรือบริการของบริษัท เช่น บริษัท เอวิส จำกัด ผู้ให้บริการรถเช่าซึ่งเข้าสู่ตลาดช้ากว่าบริษัท เฮิร์ซ จำกัด เป็นผู้นำตลาด ดังนั้น จึงใช้ความเป็นหมายเลข 2 เป็นปัจจัยเชื่อมโยงด้วยคำกล่าวว่า “เราเป็นหมายเลข 2 เราจึงต้องพยายามมากกว่า” ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าบริษัทผู้นำตลาดใหญ่เกินไปที่จะบริการได้ทั่วถึงและมีคุณภาพ
  10. ประเทศหรือสภาพภูมิอากาศ (Country or Geographic Area) เป็นการนำเอาแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์มากำหนดภาพลักษณ์ของตราสินค้า ซึ่งจะเหมาะสมในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มาจากประเทศนั้นหรือแหล่งผลิตนั้นมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเป้าหมาย เช่น เบียร์จากเยอรมัน
  11. ความรู้สึกต่อตราสินค้า (Feeling towards the Brand) เมื่อมีความรู้บางอย่างเกี่ยวกับตราสินค้า ผู้บริโภคจะประเมินตราสินค้าโดยภาพรวม เกิดความรู้สึกต่อตราสินค้าในลักษณะต่าง ๆ เช่น ชอบ รังเกียจ ดูถูก ชื่นชม เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ผูกพัน ฯลฯ

ภาพลักษณ์เป็นความรู้และความคิดบางอย่างของผู้บริโภคที่เกี่ยวกับตราสินค้า ภาพลักษณ์ตราสินค้าจึงมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกต่อตราสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการสร้างปัจจัยเชื่อมโยงตราสินค้าที่ดีก็นำมาซึ่งความรู้สึกและทัศนคติที่ดีต่อตราสินค้า[ii]

ความรู้สึกเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทัศนคติและมีผลต่อกระบวนการจูงใจ ความรู้สึกดังกล่าวอาจเป็นความรู้สึกในเชิงบวก เช่น อบอุ่น ร่าเริง ความสุข มีพลัง กระตือรือร้น หรือความสุขจากการให้และอาจเป็นเชิงลบได้ เช่น ความรู้สึกกลัว หดหู่ รู้สึกผิด วิตกกังวล หรือขุ่นเคืองใจ และยังมีการพัฒนาชุดของอารมณ์และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโน้มน้าวใจและการโฆษณาไว้ถึง 40 อย่าง ในจำนวนนั้น ได้แก่ ท้าทาย (Defiant) ผจญภัย (adventurous) ขยะแขยง (Disgusted) ประหลาดใจ (Surprised) สนใจใคร่รู้ (Inquisitive) คาดหวัง (Expectant) กระตือรือร้น (Enthusiastic) ความรักใคร่ (Affectionate) อยากรู้อยากเห็น (curious) เปิดรับ (Receptive) อาย (Shy) สิ้นหวัง (Hopeless) เป็นทุกข์ (Unhappy) งงงวย (Perplexed) ลังเลใจ (Hesitant) กลัว (Afraid) ขุ่นเคือง (Annoyed) เศร้า (Sad) ร่าเริงสนุกสนาน (Cheerful) ยินดี (Joyful) ปิติ (Elated) และเป็นปฏิปักษ์ (Hostile)[iii]


[i] ชฎาพร บางกรวย. (2008) การสร้างความเอมั่นต่อสินค้าไทยผ่าน Thailand’s Brand สู่ตลาดต่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์.  https://oldweb.ditp.go.th/contents_attach/78333/78333.pdf

[ii] ชฎาพร บางกรวย. (2008) การสร้างความเอมั่นต่อสินค้าไทยผ่าน Thailand’s Brand สู่ตลาดต่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์.  https://oldweb.ditp.go.th/contents_attach/78333/78333.pdf

[iii] ชฎาพร บางกรวย. (2008) การสร้างความเอมั่นต่อสินค้าไทยผ่าน Thailand’s Brand สู่ตลาดต่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์.  https://oldweb.ditp.go.th/contents_attach/78333/78333.pdf

One Comment

  1. tennisi tj вход

    Полезная информация

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *