วัดนางนองวรวิหาร (1)

ประวัติวัดนางนองวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร วัดนางนองไม่ปรากฏประวัติการสร้างแน่ชัด แต่หลักฐานจากหนังสือวัดสำคัญกรุงเทพ ระบุว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้รื้อสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม

บานแผละของประตูอุโบสถด้านหน้า ปรากฏภาพเขียนลายทอง เป็นภาพมงคลอย่างจีน ซึ่งรวบรวมไว้หลายประเภท ทั้งภาพเทพฮก ลก ซิ่ว ภาพสัตว์ เช่น กวาง มังกร ตะขาบ ภาพพันธุ์พฤกษา ดอกไม้ และเครื่องใช้ เช่น แจกัน หมวกข้าราชการและอาวุธ

ภายในพระอุโบสถ ปรากฏภาพ ฮก ลก ซิ่ว เขียนขึ้นที่ผนังหุ้มกลองตอนล่าง ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างบานประตูพระอุโบสถ เป็นภาพกำมะลอเขียนบนแผ่นไม้ผนึกกับผนังเป็นภาพเครื่องมงคลอย่างจีน คือ ฮก ลก ซิว พร้อมทั้งเครื่องมงคลอื่น ๆ นอกจากนี้ ในพระอุโบสถ ยังพบภาพ ฮก ลก ซิ่ว ที่เขียนเป็นกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่ภายใต้ผ้าม่านห้อย

https://www.facebook.com/watnangnongworawihan/photos/a.612707625537792/1817171031758106/

ภาพฮก อยู่ตอนบนสุดแนวกลาง ถูกจัดวางในตำแหน่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ฮก แสดงภาพด้วยบุคคลรูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขึงขัง ไว้หนวดเครายาว แต่งกายสง่า สวมเครื่องประดับศีรษะสวยงาม ในมือถืออยู่อี่ มีความหมายความสมปรารถนา โชคลาภที่ข้างกายทั้งสองขนาบด้วย หญิงสาวขนาดเล็กถือพัดด้ามยาวประกอบอิสริยยศ

ภาพลก อยู่ขวามือตอนล่าง แสดงด้วยรูปบุคคลที่มีขนาดเล็กกว่าฮก รูปล่างหน้าตาไม่ขึงขังองอาจเหมือนภาพฮก ในทางตรงข้ามกับดูอ่อนโยน เครื่องประดับมีเพียงผ้าโพก มือข้างหนึ่งถือผลทับทิม เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม จุดเด่นของภาพอยู่ที่การมีบริวารล้อมรอบมากมาย ประกอบด้วย เด็ก ๆ สมเครื่องแต่งกายงดงาม 6 คน และผู้พิทักษ์หรือนายอารักษ์ยืนถือคฑาวุธ 2 นาย แสดงความหมายของเศรษฐีที่มีบริวารและลูกหลานมากมาย

ภาพซิ่ว อยู่ด้านซ้ายมือตอนล่าง แสดงด้วยภาพชายชรา ศีรษะล้าน หลังโก่ง มือหนึ่งถือต้นหลิงจือ มีลำต้นหงิกงอคล้ายไม้เถา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ อีกมือหนึ่งถือผลท้อ เป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงาน การผลิดอกออกผล และความมีอายุยืน

ภาพ ฮก ลก ซิ่ว ในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร เป็นการนำเสนอด้วยภาพบุคคลผสมกับภาพผลไม้ ต้นไม้ สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งมีความงดงามทั้งการองค์ประกอบการผูกลาย และฝีมือการวาดภาพที่ประณีต สำหรับสาเหตุในการประดับภาพ ฮก ลก ซิ่ว ในพระอุโบสถดังกล่าว หากมองในแง่ความนิยมศิลปะจีน อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ไทยกำลังนิยมเล่นกระบวนจีน ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม จึงนำเรื่องราวที่เป็นสิริมงคลของจีนมาเขียน ซึ่งนอกจากจะสร้างความวิจิตร แปลกใหม่แก่คนไทยที่พบเห็นแก่ตัว ยังมีเนื้อหาและความหมายที่สอดคล้องกับรสนิยมของคนไทยด้วย หากมองในแง่โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ถือได้ว่า เป็นการสร้างความกลมกลืนของบรรยากาศแบบจีนให้เข้ากันกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมภายนอก

ที่มาภาพ https://www.facebook.com/watnangnongworawihan/photos/pcb.2650553845086483/2650553688419832/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *