ความเชื่อพื้นบ้านมงคลวัตถุ เครื่องรางของญี่ปุ่น มะเนะกิเนะโกะ (แมวกวัก) ตุ๊กตา

นับตั้งแต่สมัยโบราณ เกือบทั่วทุกมุมโลกต่างมี “ความเชื่อพื้นบ้าน” อยู่ประจำในแต่ละท้องถิ่น ในอดีตกาลเมื่อความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ยังไม่พัฒนา ดังเช่น ในปัจจุบันมนุษย์ผู้เกรงกลัวต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ เช่น ลมพายุ ฝน และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จึงเชื่อว่า มีเทพเจ้าอยู่ในสรรพสิ่งต่าง ๆ และขอพรจากเทพเจ้าเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ตน ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ได้รับการพัฒนา “ความเชื่อ” ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ยังคงสืบทอดและดำรงอยู่ร่วมกับการดำเนินชีวิตประจำวันมาจนถึงปัจจุบันในฐานะประเพณีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของประเทศ เช่น ในคืนพระจันทร์เต็มดวง (ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน) ชาวไทยมีประเพณีลอยกระทงในแม่น้ำ เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา เป็นต้น

“มงคลวัตถุ” ถือเป็นหนึ่งในความเชื่อพื้นบ้าน ชาวญี่ปุ่นเองก็มีการประดับ “มงคลวัตถุ” เพื่อช่วยให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ค้าขายรุ่งเรืองและมั่งมีศรีสุข เป็นต้น นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนผ่านแต่ละฤดูกาลการรับประทานอาหาร เช่น พืชผัก 7 ชนิดหรือปลาไหล ยังถือเป็นอาหารมงคล เนื่องจาก มีสารอาหารที่ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง มีฤทธิ์เป็นยา ทำให้มีชีวิตยืนยาว

มะเนะกิเนะโกะ (แมวกวัก)

“มะเนะกิเนะโกะ” หรือ “แมวกวัก” มีลักษณะคล้ายคลึงกับนางกวักของประเทศไทย เชื่อว่า จะช่วยกวักความสุขและความเจริญรุ่งเรือง กล่าวกันว่า มะเนะกิเนะโกะที่ชูมือกวักข้างขวาจะช่วยเรียก “โชคลาภด้านการเงิน” ส่วนตัวที่ชูมือกวักข้างซ้าย เชื่อว่า จะช่วยเรียก “คน” และ “โชคลาภ” ไม่ว่า จะเป็นแมวกวักมือข้างขวาหรือซ้าย ต่างก็นิยมประดับในร้านค้าต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอพรให้ค้าขายรุ่งเรือง เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น

ตุ๊กตาดะรุมะ

ตุ๊กตาดะรุมะมีสีแดงสดคล้ายกับสีผิวของพระโพธิธรรม (Bodhi dharma) พระสงฆ์ชาวอินเดียผู้ก่อตั้งนิกายเซน ในช่วงศตวรรษที่ 6 ตามตำนานเล่าขานว่า ท่านได้นั่งสมาธิอยู่ภายในถ้ำเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ขาของท่านสูญเสียการทำงาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตุ๊กตาดะรุมะเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ไม่มีขา เมื่อล้มเอียงไปทางด้านใดก็จะลุกกลับมายังที่เดิม นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเป็นเครื่องรางนำโชคลาภมาให้ผู้คนสำเร็จตามที่ได้อธิษฐาน เนื่องจาก เมื่อล้มหรือผิดหวังก็ขอให้พยายามลุกขึ้นใหม่เหมือนดั่งตุ๊กตาดะรุมะและก้าวต่อไปจนกว่าจะสำเร็จดั่งจุดมุ่งหมายที่หวังไว้

โอะมะโมะริ (เครื่องราง)

นับตั้งแต่ในสมัยโบราณ “โอะมะโมะริ” คือ เครื่องรางที่ผู้คนพกติดตัวไว้เพื่อขอพรให้เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยขจัดปัดเป่าโชคร้ายหรือภัยพิบัติออกไป และเรียกโชคลาภเข้ามาสู่ตน “โอะมะโมะริ” มีลักษณะเป็นยันต์กระดาษพับให้มีขนาดเล็กใส่ลงในซองผ้าพกติดตัวเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองจากโชคร้าย

ฮะมะยะ

“ฮะมะยะ” มงคลวัตถุที่ใช้ถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าช่วงเทศกาลปีใหม่ ลักษณะเป็นลูกศรมีกระดิ่งและเอะมะ (กระดานไม้เล็ก) ห้อย ใช้ในการประดับเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในพิธียกเสาเอก มีประเพณีประดับลูกศร (ฮะมะยะ) พร้อมคันธนู (ฮะมะยุมิ) เพื่อขอพรให้การก่อสร้างอาคารใหม่ และหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปลอดภัยปราศจากอุบัติเหตุ

โอะมิคุจิ

“โอะมิคุจิ” ใช้เสี่ยงทายโชคลาภมีลักษณะเช่นเดียวกับ “เซียมซี” ของประเทศไทย เมื่อเสี่ยงได้ติ้วหมายเลขใดจะได้รับกระดาษที่เขียนคำทำนายโชคชะตาของหมายเลขนั้น การเสี่ยงโอะมิคุจิไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดสินใจเรื่องโชคชะตาที่จะเกิดขึ้น แต่ใช้เนื้อหาของคำทำนายเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ด้วยความไม่ประมาทเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมการผูกกระดาษคำทำนายของโอะมิคุจิไว้กับเสาไม้ภายในบริเวณศาลเจ้า

เอะมะ

“เอะมะ” กระดานไม้ขนาดเล็กมีภาพเขียนอยู่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีพื้นที่ว่างเพื่อใช้เขียนขอพร เมื่อเวลาไปขอพร ณ ศาลเจ้าหรือวัดในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังใช้ถวายเพื่อแสดงความขอบคุณเมื่อพรที่ได้ขอไว้ประสบผลสำเร็จ ถึงแม้ว่า คำว่า “มะ” ในภาษาญี่ปุ่นจะแปลว่า “ม้า” แต่ภาพเขียนบนแผ่นกระดานไม้ “เอะมะ” ไม่ได้มีเพียงภาพม้าเท่านั้น แต่ยังมีภาพต่าง ๆ นานา เช่น ภาพของนักษัตรประจำปีนั้น หรือภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดหรือศาลเจ้านั้น เป็นต้น

ที่มาบทความ https://www.th.emb-japan.go.jp/files/100327130.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *