วัดนาคกลางวรวิหาร

ประวัติวัดนาคกลางวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมอญฝั่งใต้ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ วัดนาคกลางเป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่า เป็นวัดที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนาคกลางมีความสำคัญสืบเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏหลักฐานว่ารัชกาลที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดนาคกลาง ต่อเนื่องมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนาคกลาง และได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้ด้วย

รูปแบบหน้าบันภาพเครื่องตั้งหรือเครื่องบูชาแบบจีนที่วัดนี้ ปรากฏเป็นหน้าบันของศาลาการเปรียญเก่าของวัด ศาลาการเปรียญหลังนี้ก่ออิฐฉาบปูน อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศตะวันออก ศาลาการเปรียญนี้ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยรูปทรงแล้วคล้ายกับวิหารวัดราชโอรสาราม สำหรับหน้าบันทำเป็นภาพเครื่องตั้งหรือเครื่องบูชาแบบจีนที่เรียกว่า “หมู่ซัด” คือ โต๊ะหมู่ 4 ตัว ตัวรองหนึ่งเป็นหัวตั้งจากสูงลงมาหาต่ำ อยู่ในรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ภาพภายในประกอบด้วย รูปสัตว์ เช่น ปู รูปผลไม้ ดอกพุดตาน ดอกโบตั๋น รูปเครื่องใช้ เช่น กาน้ำพัด กล่องสี่เหลี่ยม เชิงเทียน กระถางรูป น้ำเต้า นอกจากนี้ ยังมีลายดอกไม้ ใบไม้ ประกอบด้วย

หน้าบันของวัดทั้งสองนี้มีข้อเหมือน คือ ทำเป็นภาพเครื่องตั้งหรือเครื่องบูชาแบบจีนทั้งสองที่อีกประการหนึ่ง คือ หน้าบันทั้งสองที่ปรากฏภาพลักษณ์มงคลของลายโป๊ยเซียน ซึ่งมักแกะสลัก หรือประดับไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า เซียนทั้งแปดมักช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์และปราบปีศาจร้าย ดังนั้น เมื่อนำคติการออกแบบด้วยสัญลักษณ์ของเซียนมาใช้กับลวดลายบนหน้าบันจึงมีความหมายในการปกป้องคุ้มครองสถานที่มิให้ภูติวิญญาณหรือสิ่งชั่วร้ายเข้ามากล้ำกลายสถานอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ โบสถ์ วิหาร ทั้งนี้เป็นการใช้ในความหมายเดียวกับลวดลายหน้าบันโบสถ์ วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 ที่ใช้คติการออกแบบรูปเทวดา มีผู้ศึกษาว่าลวดลายบนหน้าบันโบสถ์ วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 จะมีการใช้สัญลักษณ์ของโป๊ยเซียนเพียง 5 อย่าง คือ น้ำเต้า พัด กระบี่ กระเช้าดอกไม้ และดอกบัว ฉะนั้นภาพที่ปรากฏบนหน้าบันทั้งสองก็สามารถสนับสนุนความคิดนี้ได้

หน้าบันรูปมังกรและหงส์

เป็นคติการออกแบบสำหรับวัดที่เป็นของกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ทั้งนี้เพราะมังกรในคติจีน เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจเหนือสัตว์ทั้งปวง มักเปรียบกษัตริย์เหมือนดังมังกร ส่วนหงส์นั้น ตามคติจีนถือว่า เป็นเครื่องหมายของราชินีคู่กับมังกร เพราะฉะนั้นหงส์และมังกรจึงเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมและพบเสมอในงานศิลปกรรมของจีน

บนหน้าบันโบสถ์ วิหารในสมัยรัชกาลที่ 3 พบว่า รูปมังกรและหงส์ ถูกนำมาใช้ร่วมกันและมักทำคู่กัน จะไว้ในตำแหน่งประธานของหน้าบัน ซึ่งอนุมานได้ว่าการใช้สัญลักษณ์ของสัตว์ทั้งสองเป็นการบ่งบอกถึงสถานที่ที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงเป็นผู้สร้าง

หน้าบันโบสถ์วัดราชโอรสาราม พบว่า เป็นลายมังกรคาบแก้ว มังกรมี 5 เล็บ ซึ่งมีผู้เสนอว่า มังกร 5 เล็บ หมายถึง กษัตริย์ ทั้งนี้เพราะเป็นวัดประจำพระองค์ ส่วนหน้าบันของวัดนวลนรดิศ ปรากฏรูปมังกร 4 เล็บ ซึ่งหมายถึง ขุนนางสร้าง อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่า การใช้ภาพมังกรในไทยอาจไม่ได้รับแนวคิดการใช้จำนวนเล็บมังกรแสดงฐานะบุคคลก็ได้ เนื่องจาก วัดที่กษัตริย์ไม่ได้ทรงสร้างหรือบูรณะก็ปรากฏมังกรที่มี 5 เล็บได้เช่นกัน

หน้าบันรูปหน้าดอกพุดตานหรือโบตั๋น

คตินิยมของจีนเชื่อว่า ดอกโบตั๋นเป็นราชินีของดอกไม้ และมีความหมายเป็น ฮก อัน หมายถึง โชคลาภ ความมั่งคั่ง เมื่อนำมาใช้กับหน้าบัน จึงอาจแปลความหมายได้ว่า เป็นการอำนวยพรให้แก่ผู้ที่เข้ามาในพุทธสถาน หน้าบันในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ใช้รูปดอกพุดหรือโบตั๋นประกอบบนหน้าบัน เช่น วัดนางชี วัดสามพระยา วัดเฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ

ที่มาภาพ https://www.papaiwat.com/th/story/category/detail/id/8/iid/85

ที่มาบทความ http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/d58fd336-521e-49dc-93e2-2ec8eea883d1/Fulltext.pdf?attempt=2

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *