นิยาม แนวคิด และความหมายเกี่ยวกับแรงจูงใจ

แรงจูงใจ หมายถึง สิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ เกิดจากความต้องการ (Need) พลังกดดัน (Drives) ความปรารถนา (Desires) ที่พยายามดิ้นรนให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ อาจจะเกิดตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ก็ได้ แรงจูงใจเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกของตัวบุคคล ซึ่งแรงจูงใจในการซื้อสินค้านั้นมีมากมาย นักธุรกิจการตลาดจำแนกแรงจูงใจไว้ดังนี้ คือ แรงจูงใจด้านเหตุผล และแรงจูงใจด้านอารมณ์ โดยพิจารณาจากเหตุผลและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิดตี้ ในแบรนด์ซานริโอที่ตัวสินค้านั้นมีความหลากหลายมีประสิทธิภาพ ใช้งานได้หลากหลายบวกกับสินค้ามีเรื่องราวของตัวการณ์ตูนด้วยเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความเพลิดเพลิน หรือต้องการจะสะสมสินค้าตัวการ์ตูนที่ตนเองชื่นชอบไว้ ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิดตี้[i]

สุทธิพงศ์ วุฒิพราหมณ์ (2557) กล่าวว่า แรงจูงใจเกิดจากสาเหตุหรือสิ่งที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรม คือ เป็นสภาวะที่ถูกกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม โดยแรงขับ (Drive) ของแต่ละบุคคลให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ[ii]

เกษมพจน์ ธนากจวิสิฐสุ (2554) กล่าวว่า แรงจูงใจเป็นความต้องการ (Need) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงภายในจิตใจ และทำให้บุคคลเกิดความเครียด จึงพยายามหาวิธีเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น[iii]

พรทิพภาพ เตชะเลิศมณี (2555) กล่าวว่า แรงจูงใจเป็นความต้องการของบุคคลทางจิตวิทยา ซึ่งแสดงออกมาทางพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้อกงารของบุคคลนั้น เช่น ความหิว ความกระหาย ความต้องการทางเพศ ความต้องการที่อยู่อาศัย เป็นต้น เมื่อมนุษย์มีการเรียนรู้จากสังคมจะมีความต้องการสิ่งอื่นอีกเช่น เกียรติยศ ชื่อเสียง ต้องการการยอมรับ เป็นต้น[iv]

วิกานดา รัตนพงศ์ปกรณ์ (2558) กล่าวว่า แรงจูงใจเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งแรงจูงใจ คือ โครงสร้างภายในตัวบุคคลช่วยกระตุ้น ผลักดันบุคคลให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ระบุทิศทางเฉพาะเจาะจงเพื่อให้พฤติกรรมนั้นบรรลุเป้าหมาย และแรงจูงใจถูกใช้สลับกับความจำเป็นในการลดช่องว่างระหว่างสิ่งที่ปรารถนากับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันของบุคคล[v]

สิริภา กิจประพฤทธิ์กุล (2556) กล่าวว่า แรงจูงใจเป็นแรงขับภายในที่กระตุ้นให้ของบุคคลแสดงพฤติกรรมแรงขับมาจากความเครียด ซึ่งเกิดจากการไม่ได้รับการตอบสองความต้องการจากภายใน เมื่อบุคคลกระทำสิ่งใดย่อมมีแรงจูงใจภายใน คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นการจูงใจ[vi]

ฤทัย เตชะบูรณเทพภรณ์ (2554) กล่าวว่า แรงจูงใจ (Motivation) และสิ่งจูงใจ (Motives) หมายถึง สิ่งกระตุ้นหรือพลังกระตุ้นภายในบุคคลแต่ละคน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ โดยโมเดลของกระบวนการจูงใจ ประกอบด้วย สภาพความตึงเครียด (Tension) ซึ่งเกิดจากความจำเป็น (Needs) ความต้องการ (Wants) และความปรารถนา (Desire) ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unfulfilled) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่ไปสู่การบรรลุเป้าหมาย คือ การได้รับการตอบสนองในความต้องการ และสามารถลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้บริโภคแต่ละคนมีกระบวนการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกัน อีกทั้งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางจิตวิทยา ซึ่งรวมถึงแรงจูงใจ โดยแรงจูงใจในการซื้อ (Buying Motives)[vii] มีดังนี้

  1. แรงจูงใจพื้นฐาน คือ แรงจูงใจที่มีผลสู่การตัดสินใจสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง
  2. แรงจูงใจเลือกซื้อ คือ แรงจูงใจในการเลือกซื้อสินค้าในด้านตราสินค้า และชนิดของสินค้าและบริการ
  3. แรงจูงใจด้านเหตุผล คือ แรงจูงใจที่เกิดขึ้นโดยยึดหลักเหตุผลและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจาก ตามทฤษฎีเศรษฐกิจ (Economic Theory) กล่าวว่า ผู้บริโภคจะมีการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ให้อรรถประโยชน์สูงสุด หรือสร้างความพึงพอใจสูงสุด เช่น ความพึงพอใจในตัวผลิตภัณฑ์จากการส่งเสริมการตลาด สำหรับความมีเหตุผล หมายถึง การที่จุดมุ่งหมายที่ผู้บริโภคได้เลือกนั้น เกิดจากการถือเกณฑ์วัตถุประสงค์รวม เช่น ขนาด น้ำหนัก ราคา คุณภาพ
  4. แรงจูงใจด้านอารมณ์ คือ การใช้ดุลพินิจส่วนตัว หรือความรู้สึกส่วนตัวเลือกสรรสิ่งที่ตอบสนองความต้องการ เช่น ความภาคภูมิใจ ความกลัว ความเป็นมิตร เป็นต้น โดยผู้บริโภคจะใช้ทัศนคติในการเลือกเพื่อตอบสนองความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งมีผู้ที่วิจัยและเสนอแนะว่า ผู้ที่ซื้อสินค้ากะทันหันส่วนมากจะใช้สิ่งจูงใจด้านอารมณ์มากกว่าสถานการณ์ซื้อลักษณะอื่น
  5. แรงจูงใจอุปถัมภ์ คือ สิ่งที่เป็นเหตุของการซื้อสินค้าและบริการจากที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงของผู้บริโภค เช่น ความสะดวกของสถานที่ ความหลากหลายของสินค้า ราคาถูกชื่อเสียงของผู้ให้บริการ และการส่งเสริมการขาย เป็นต้น
  6. แรงจูงใจผสม หมายถึง การผสมระหว่างสิ่งจูงใจด้านอารมณ์และเหตุผล

แรงจูงใจ หมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความต้องการ อาจเกิดจากสิ่งเร้ากระตุ้นทำให้เกิดแรงผลักดันมากยิ่งขึ้น และทุ่มเทให้กับสิ่ง ๆ นั้น จนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ[viii]  

พิชชาภา กิตตินันท์วัฒนา (2555) กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดแรงจูงใจ[ix]ไว้ดังนี้

  1. แรงจูงใจที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ต้องการ จะซื้อสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนให้ได้รับความพอใจ
  2. แรงจูงใจที่เกิดจากเหตุผล (Rational Buying Motives) เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากการใคร่ครวญพินิจพิจารณาของผู้ซื้ออย่างมีเหตุผลก่อนว่า ทำไมจึงซื้อสินค้าชนิดนั้น
  3. แรงจูงใจที่เกิดจากอารมณ์ (Emotion Buying Motive)
  4. แรงจูงใจที่เกิดจากการอุปถัมภ์ร้านค้า (Patronage Buying Motive)

ปัจจัยด้านแรงจูงใจที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร พบว่า แรงจูงใจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์รายข้อพบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้มากที่สุดเป็นสามอันดับแรก ได้แก่ การมี Fan Page ทำให้ผลิตภัณฑ์คิตตี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผลิตภัณฑ์คิตตี้เฮลโหลสร้างกิจกรรมเพื่อสังคมบน Fan Page ของสินค้าและบริการ และผลิตภัณฑ์คิตตี้สร้างกิจกรรมเพื่อสังคมบน Fan Page ทำให้ท่านรู้สึกชื่นชอบ[x]


[i] ณัฐกฤตา นาคนิยม. (2558). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[ii] สุทธิพงศ์ วุฒิพราหมณ์. (2557). อิทธิพลของแรงจูงใจในการเล่นเกมส์ไลน์และภาพลักษณ์ตราสินค้าที่มีต่อการตัดสินใจเล่นเกมส์ผ่านทางไลน์. การศึกษาเฉพาะบุคคลปริญยามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[iii] เกษมพจน์ ธนากจวิสิฐสุ. (2554). ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดและแรงจูงใจภายในองค์กรที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อถุงมือยางเอสทีซีของลูกค้า ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. การศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[iv] พรทิพภา เตชะเลิศมณี. (2555). การศึกษาปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อทองของผู้บริโภคในเขตจตุจักร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

[v] วิกานดา รัตนพงศ์ปกรณ์. (2558). อิทธิพลของค่านิยม การบอกเล่าปากต่อปากและการโฆษณาที่ส่งผลต่อแรงจูงใจและการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. การศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[vi] สิริภา กิจประพฤทธิ์กุล. (2556). ส่วนประสมทางการตลาดบริการ ทัศนคติ และแรงจูงใจในการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศเกาหลีของนักท่องเที่ยวชาวไทยในกรุงเทพมหานคร. การศึกษาเฉพาะปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[vii]ฤทัย เตชะบูรณเทพาภรณ์. (2554). แรงจูงใจ และปัจจัยทางการตลาดบนเฟซบุค (Facebook) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. การศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[viii]ณัฐกฤตา นาคนิยม. (2558). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[ix] พิชชาภา กิตตินันท์วัฒนา. (2555). ทัศนคติและแรงจูงใจของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกใช้รถยนต์นิสสัน มาร์ช ในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[x] ณัฐกฤตา นาคนิยม. (2558). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เฮลโหลคิตตี้ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *