การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน

การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้านเป็นบริการที่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังต่อเนื่องจากโรงพยาบาลไปยังบ้าน โดยมีทีมสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านผู้ป่วยไปให้บริการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โรงพยาบาลที่มีบริการนี้จะมีการวางแผนการดูแล และจำหน่ายผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยรับการรักษาที่โรงพยาบาล มีการชี้แจง และอบรมญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยในเรื่องเทคนิค การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่น การให้อาหารทางสายยาง การดูแลสายสวนปัสสาวะ การเตรียมอาหารเหลวสำหรับให้ผู้ป่วยทางสายยาง การทำแผล และการดูแลอื่น ๆ ตามสภาพความต้องการของผู้ป่วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล ส่งเสริมสุขภาพจนทุเลา หรือหายจากภาวะเจ็บป่วยได้รวดเร็วขึ้น ไม่ถูกทอดทิ้ง หรือยืดระยะทุพพลภาพและความพิการที่จะเกิดขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายของญาติ ผู้ป่วย และโรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยที่มีบ้านอยู่นอกเขตบริการของโรงพยาบาลที่ไปรับการรักษา เมื่อกลับบ้านจะได้รับการดูแลโดยโรงพยาบาลจะส่งต่อผู้ป่วยตามระบบการส่งต่อไปยังสถานบริการของรัฐใกล้บ้าน

ชมรมผุ้สูงอายุ

ปัจจุบัน “ผู้สูงอายุ” หมายถึง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่ในบางครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย ก็อาจมีอายุต่ำกว่า 60 ปี และในชุมชนชนบทบางคนอายุไม่ถึง 60 ปี ก็ได้รับกล่าวขานว่า คนแก่บ้าง คนชราบ้าง การย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของด้านร่างกายโดยมีความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ส่งผลต่อภาวะอารมณ์และจิตใจ บทบาทหน้าที่การงานเปลี่ยนแปลงหรือลดลง แต่ในทางกลับกันผู้สูงอายุมักจะได้รับการยอมรับนับถือ มีบทบาททางสังคมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันผู้สูงอายุในชุมชนมักรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มจักสาน กลุ่มดนตรีพื้นบ้านถ่ายทอดภูมิปัญญาในคนวัยต่าง ๆ ในสังคม

ชมรมผู้สูงอายุเป็นอีกชมรมหนึ่งซึ่งผู้สูงอายุที่มีความสนใจและอุดมการณ์ร่วมกันมาทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น ออกกำลังกายร่วมกัน ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังการบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ ทำดอกไม้จันทน์ จักสาน ถ่ายทอดการนวด ประคบแผนโบราณ ช่วยดูแลและทำกิจกรรมร่วมกันในศูนย์เด็กเล็ก สอนดนตรีพื้นบ้านแก่เยาวชน เยี่ยมเยือนสมาชิกที่บ้าน ช่วยเหลือยามเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ สร้างคุณค่าของผู้สูงอายุในสังคม และส่งเสริมสุขภาพกายและจิตของผู้สูงอายุ

ปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในหลายชุมชนและหลายหน่วยงานสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการชมรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *