จริยธรรมกับสังคมไทย

ทฤษฎีจริยธรรมแทบทุกทฤษฎีจะกล่าวพาดพิงพึงประสบการณ์ทางสังคมของบุคคลว่า เป็นต้นเหตุที่สำคัญอย่างยิ่งของการก่อตั้งและเปลี่ยนแปลงจริยธรรมของบุคคล ถ้าบุคคลได้รับประสบการณ์ทางสัคมที่คล้ายคลึงกัน เช่น อยู่ในกลุ่มคนฐานะเดียวกัน หรือได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาคล้าย ๆ กัน แต่มีความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจประสบการณ์นั้นไม่เท่าเทียมกัน ผลกระทบที่เกิดจากประสบการณ์ทางสังคมอันเดียวกันย่อมจะแตกต่างกันไปได้

ลักษณะสาขาวิชานิสิตนักศึกษาที่เรียนแต่ละสาขาวิชา จะได้รับความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการเฉพาะด้านต่างกัน ความแตกต่างของประสบการณ์ทางวิชาการของแต่ละสาขาวิชาจะทำให้นิสิตนักศึกษาต่างสาขาวิชากันมีบุคลิกภาพและความสนใจต่างกัน ความแตกต่างนี้จะยิ่งมากขึ้นเมื่อศึกษาในชั้นปีที่สูงขึ้น ตรงข้ามกับนิสิตนักศึกษาในสาขาเดียวกัน จะมีความเหมือนกันมากขึ้นเมื่อการศึกษาในชั้นปีที่สูงขึ้น จากการประชุมวิชาการเกี่ยวกับจริยธรรมไทย ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิได้ปรับปรุงแล้ว ไว้ 11 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. ความรับผิดชอบ หมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพัน ด้วยความพากเพียร และความละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ทั้งพยายามที่จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ
  2. ความซื่อสัตย์ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมและตรงต่อความเป็นจริงประพฤติปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อหน้าที่การงานและต่อผู้อื่น เช่น ไม่สับปลักกลับกลอก ไม่คล้อยตามพวกที่ลากหรือชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย ไม่คดโกงมีความตั้งใจทำจริง ประพฤติตนตรงคำพูดและความคิด เตือนสติและแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
  3. ความมีเหตุผล หมายถึง ความสามารถในการใช้ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติรู้จักไตร่ตรอง พิสูจน์ให้ประจักษ์ ไม่หลงงมงาน มีความยับยั้งชั่งใจ โดยไม่ผูกพันกับอารมณ์และความยึดมั่นของตนเองที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจผิดได้ พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีเหตุผล เช่น ไม่ลุ่มหลงเพราะความเชื่อถืออย่างงมงาย อวิชชา ไม่ยึดถือตนเองหรือบุคคลเป็นใหญ่หรือการกระทำที่งมงาย ใช้วิธีแห่งประชาธิปไตย ประกอบด้วย การยอมรับ การคิด พิจารณาและการใช้วิธีการแห่งปัญญา ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วจึงตัดสินใจ และรู้จักควบคุมอารมณ์ คือ มีสติยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น
  4. ความกตัญญูกตเวที หมายถึง ความรู้สึกในการอุปการะคุณ หรือบุญคุณที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่มีต่อเรา กตเวที หมายถึง การแสดงออกหรือการตอบแทนบุญคุณ ดังนั้น ความกตัญญูกตเวทีจึงหมายถึง ความรู้บุญคุณและตอบแทนคุณต่อคนอื่นและสิ่งอื่นที่มีบุญคุณ พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม เช่น แสดงความเคารพนับถือ ยกย่องเชิดชู ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น ในการทำคุณความดีตอบแทนผู้มีพระคุณ ไม่ทำตนให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลและผู้มีพระคุณจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศาสนา เป็นต้น
  5. การรักษาระเบียบวินัย หมายถึง การควบคุมความประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสมกับจรรยามารยาท ข้อบังคับ ข้อตกลง กฎหมายและศีลธรรมพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นผู้รักษาระเบียบวินัย ได้แก่ การรักษาระเบียบภายนอก คือ รักษาระเบียบวินัยในการบริโภค ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัยและสุขวิทยา มีมารยาทเรียบร้อยในการรับประทานอาหาร เช่น ไม่รับประทานอาหารในที่ที่ไม่สมควร ไม่รับประทานมูมมาม ฯลฯ ส่วนการรักษาระเบียบภายใน คือ การแต่งและควบคุมท่วงทีกิริยา วาจา และใจ ให้หมดจดงดงามด้วยการเว้นชั่ว ประพฤติชอบทั้งต่อหน้าและลับหลัง ได้แก่ ระเบียบ ท่วงที ระเบียบ กิริยา ระเบียบวาจา และระเบียบใจ
  6. ความเสียสละ หมายถึง การละความเห็นแก่ตัว การให้ปันแก่คนที่ควรให้ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา รวมทั้งการรู้จักสลัดทิ้งอารมณ์ร้ายในตนเองด้วย พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเสียสละทั้งกาย วาจา สติปัญญา กำลังทรัพย์ และทางใจ
  7. ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมมือกันกระทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสามัคคี เช่น ปรับตนเองให้เข้ากับผู้อื่นได้ดี รับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เป็นผู้ประสานความสามัคคีในหมู่คณะ รักหมู่คณะมีใจหวังดีและช่วยเหลือเกื้อกูลในทางไม่ผิดศีลธรรมและมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ เป็นต้น
  8. การประหยัด หมายถึง การใช้สิ่งทั้งหลายพอเหมาะควรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ยอมให้มีส่วนเกินมากนักรวมทั้งการรู้จักระมัดระวัง รู้จักยับยั้งความต้องการให้อยู่ในกรอบและขอบเขตที่พอเหมาะพอควร พฤติกรรมที่แสดงออกถึงการประหยัดเวลา ประหยัดทรัพย์ เช่น พยายามจ่ายทรัพย์เท่าที่จำเป็นให้สมควรแก่อัตภาพ การรู้จักกำหนดรายจ่ายให้พอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ รู้จักเก็บรวบรวมรายได้ อันควรเก็บไว้เป็นทุนสำรอง และทำทรัพย์ที่มีอยู่ให้เจริญงอกงาม ไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อให้หมดเปลือง โดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น
  9. ความยุติธรรม หมายถึง การปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรงสอดคล้องกับความเป็นจริงและเหตุผลไม่มีความลำเอียง พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความยุติธรรม เช่น ไม่ลำเอียงเพราะความชอบพอรักใคร่ ไม่ลำเอียงเพราะความเกลียด ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว ไม่ลำเอียงเพราะความหลง และไม่เข้าข้างคนผิด เป็นต้น
  10. ความอุตสาหะ หมายถึง ความพยายามอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการงาน พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความอุตสาหะ เช่น ขยัน ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้ พยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคจนประสบความสำเร็จกระตือรือร้นและหนักแน่น ไม่หวั่นไหวง่าย เป็นต้น
  11. ความเมตตา – กรุณา คือ ความใคร่ ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณา คือ ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเมตตา กรุณา เช่น ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่ข่มขู่ ดูหมิ่น เสียดสี พูดจาด้วยความกริ้วโกธรเดือดแค้น ไม่ฆ่าทุบตี ตัด จำจอง หรือทำร้ายด้วยลักษณะต่าง ๆ ช่วยพูดปลอบใจ เมื่อผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนลำบาก และให้ความอนุเคราะห์ เกื้อกูล เป็นต้น

ที่มาบทความ พระครูจิรธรมธัช. (2557). ความสัมพันธ์ความเชื่อเรื่องพิธีกรรมเจ้าแม่สองนางกับการส่งเสริมจริยธรรมทางสังคมของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *