แนวความคิดหลักการของจริยธรรมตามแนวทางของพุทธทาส

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวว่า “จริยธรรม” คือ หลักวิชาการที่เป็นรูปของปรัชญา อันเกี่ยวกับศีลธรรม : ส่วนศีลธรรมนั้น คือ ระบบการประพฤติปฏิบัติลงไปตรง ๆ “จริยธรรม” คือ Philosophy of morality “ศีลธรรม” นั้น คือ ตัว Morality นั่นเอง และได้ให้ความหมาย “จริยธรรมสากล” ว่า ได้ยุติหลักเกณฑ์ในเรื่องจริยธรรมนี้ เขาให้ความหมายของศีลธรรมหรือจริยธรรม คือ โดยมุ่งหมายจะให้คนได้ “สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้” ซึ่งประกอบด้วย 1. การเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา 2. การเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ 3. การเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน 4. การเป็นพลเมืองของประเทศชาติ และ 5. การเป็นศาสนิกชนที่ดของศาสนา สรุปได้ดังนี้

1. การเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา

การเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ต้องซื่อตรง เป็นผู้ซื่อตรงต่อระเบียบวินัย เชื่อฟังคำสั่งสอน ต้องให้ความเคารพท่านสูงสุด ต้องสุภาพอ่อนโยนต่อท่านตลอดเวลา ต้องเป็นบุตรที่ดีเรียกว่า “อภิชาตบุตร” คือ ดีกว่าบิดามารดา มีความกตัญญู ต้องคิดสนองคุณบิดามารดา บวชตามประเพณีเพื่อทดแทนคุณท่าน ฯลฯ “บุตร” คือ ผู้ยกพ่อแม่ออกจากขุมนรก ชื่อ “ปุตตะ” “นรก” คือ ความร้อนใจที่ไม่มีลูก ผู้สืบทอดสายโลหิตจากพ่อแม่ เป็นผู้รับมรดกจากพ่อแม่ ผู้ที่ปิดตาให้พ่อเวลาตายและทำบุญอุทิศให้ ผู้เป็นที่พึ่งพาของพ่อแม่

ในบรรดาบุตรทั้งหลาย บุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด จะเป็นบุตรได้โดยการทำหน้าที่ของบุตรที่ดี ดังนี้ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงเรามาแล้วก็เลี้ยงท่านตอบ บำรุงพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่ช่วยทำกิจการงานของพ่อแม่ ดำรงวงศ์ตระกูลของพ่อแม่ประพฤติตนให้เป็นสมควรรับทรัพย์มรดกของพ่อแม่ เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ยกย่องสรรเสริญคุณงามความดีของพ่อแม่ ส่งเสริมให้พ่อแม่มีคุณธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่น เมื่อท่านไม่มีศรัทธาชักนำให้มีศรัทธาเมื่อท่านไม่มีจิตในการให้ท่านชักนำให้ท่านให้ทาน เมื่อท่านไม่มีศีลชักนำให้ท่านรักษาศีล เมื่อท่านไม่มีปัญญา ชักนำให้ท่านเกิดปัญญาด้วยการเจริญภาวนา เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วหมั่นทำบุญอุทิศให้

2. การเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์

การเป็นศิษย์ที่ดี และหน้าที่ของศิษย์ที่ดีได้ถูกต้อง ดังนี้ ศิษย์ที่ดี ได้แก่ ฟังดี – ฟังถูกต้อง คิดดี – คิดถูกต้อง เชื่อดี – เชื่อถูกต้อง ทำตามอย่างดี – ทำตามอย่างถูกต้อง ทำการสืบต่อไปอย่างดี – อย่างถูกต้อง หน้าที่ของศิษย์ที่ดี คือ ลุกขึ้นยืนต้อนรับ เป็นการแสดงความเคารพ เข้าไปยืนคอยรับใ เมื่อท่านมีกิจธุระ เชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตาม อุปัฏฐานรับใช้ใกล้ชิด ตั้งใจเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ หน้าที่ของศิษย์ที่ดีอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ต้องมีความเคารพ คบการศึกษา กล้ารับความผิด คิดช่วยเหลือครู กตัญญูต่อสถาบัน อุดมการณ์ของนักเรียน (ศิษย์) ที่ดี คือ แสวงหาความรู้ เคารพครูอาจารย์ รักการศึกษา มีจรรยาเรียบร้อย มักน้อยตามฐานะ เสียสละเพื่อสถาบัน มุ่งมั่นประพฤติดี หลีกหนีสิ่งชั่ว ไม่มั่วสิ่งเสพติด รู้จักคิดใช้ปัญญา อุดมการณ์ของนักเรียน (ศิษย์) ที่ดีอีกนัยหนึ่ง คือ เคารพ เชื่อฟัง ตั้งใจเรียน เพียรขยัน ไม่ดื้อรั้น มารยาทดี มีระเบียบวินัย น้ำใจเอื้อเฟื้อ เชื่อมั่นตนเอง เกรงกลัวความชั่ว ทำตัวกล้าหาญการงานซื่อตรง ตรงต่อเวลา วาจาน่ารัก รู้จักพอดี มีความอดทน เป็นคนกตัญญู รู้จักคิดใช้ปัญญา

3. การเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน

“เพื่อน” คือ ผู้ที่รักใคร่ชอบพอกัน แล้วกระทำความดีต่อกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ทั้งลับและเปิดเผยโดยไม่เลือกเพศวัย ความรู้ ชาติ ศาสนา และไม่มีใครคิดร้ายต่อกัน ผู้ร่วมธุระ ผู้อยู่ในสภาพหรือลักษณะเดียวกัน เช่น เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เพื่อนที่ดี โดยการทำหน้าที่ของเพื่อนที่ดี ดังนี้ เผื่อแผ่แบ่งปันลาภที่ตนหามาได้แก่ “เพื่อน” พูดจามีน้ำใจกับเพื่อนด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน รักเพื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เมื่อเพื่อนมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก ช่วยปกปิดความลับของเพื่อไม่ให้แพร่งพราย นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของเพื่อน ให้อภัยแก่เพื่อนได้ เพื่อนที่ดีอีกนัยหนึ่ง คือ รักกัน ช่วยเหลือกัน ให้อภัย ไม่เอาเปรียบกัน พูดกันเพราะ ๆ ไม่ทะเลาะรังแกกัน

4. การเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ท่านอาจารย์ได้สอนให้รู้เห็นถึงความสำคัญทั้งสามสถาบันซึ่งเป็นสิ่งอันสัมพันธ์กัน จะขาดสิ่งหนึ่งมิได้ “ชาติ” เป็นเหมือนร่างกาย “ศาสนา” เป็นเหมือนจิตใจ “พระมหากษัตริย์” เป็นเหมือนสติปัญญาที่จะบัญชาควบคุมดูแลร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ดำเนินไปอย่างร่วมกันไปในกิจการงานทั้งหลายทั้งปวงและแม้ในประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ เขาก็ยังต้องมีระบบที่ทำหน้าที่อย่างกษัตริย์

ความหมายของพลเมือง

“พลเมือง” คือ ประชาชนซึ่งเป็นกำลังอันสำคัญของประเทศชาติพลเมืองดี คือ ผู้ที่สามารถดำรง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ได้ เป็นพลเมืองโดยการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ดังนี้ มีความรักชาติ เคารพศาสนา เทิดทูน พระมหากษัตริย์ ศรัทธาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เคารพ กฎหมายบ้านเมือง เสียภาษีบำรุงรัฐ ช่วยสร้าง ป้องกันรักษาสาธารณะสมบัติของชาติ พัฒนาตนเองให้สมบูรณ์และก้าวหน้าอยู่เสมอ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพสุจริต ประพฤติดีมีวินัย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญาใคร่ครวญเสียก่อนจึงทำอะไร เสียสละไม่เห็นแก่ตัว เมื่อชาติมีภัยก็สามารถเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติได้ ไม่ตกเป็นทาส ยาเสพติด และอบายมุขทุกชนิด

สรุปหน้าที่พลเมืองโดยย่อ คือ รักชาติ เคารพศาสนา เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ขจัดอบายมุขทั้งปวง เป็นชาติเพื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีงาม มีผู้คอยดูแลความสงบเรียบร้อย มีผู้คอยปกป้องคุ้มภัยอันตราย มีผู้คอยช่วยเหลือให้อยู่ได้อย่างสงบสุขสันติ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ท่านอาจารย์ได้สอนให้รู้เห็นถึงความสำคัญทั้งสามสถาบันซึ่งเป็นสิ่งอันสัมพันธ์กัน จะขาดสิ่งหนึ่งมิได้ “ชาติ” เป็นเหมือนร่างกาย “ศาสนา” เป็นเหมือนจิตใจ “พระมหากษัตริย์” เป็นเหมือนสติปัญญาที่จะบัญชาควบคุมดูแลร่างกายและจิตใจ

5. การเป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา

การเป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา คือ ผู้เชื่อฟัง ยอมตนที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนา สาวกที่ดี คือ ผู้ที่สามารถดำเนินตามพระศาสดาไปได้

“พุทธศาสนิกชน” คือ ชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมีชื่อเรียกอย่างอื่นได้อีก เช่น “พุทธสาวก” คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า เชื่อฟังและปฏิบัติตาม

“พุทธบริษัท” คือ บริษัทของผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้า มีองค์ประกอบ 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา “พุทธมามกะ” คือ ผู้แสดงตนนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

เป็นพุทธศาสนิกชนโดยวิธีการปฏิบัติตามหน้าที่ของพุทธสาวกที่ดี หน้าที่สาวกที่ดี ได้แก่ เกื้อกูลพระ กระทำบุญ คุ้นพระศาสนา เป็นอุบาสก อุบาสิกาชั้นนำ หมั่นสำรวจความก้าวหน้า ได้แก่ เกื้อกูลพระ กระทำบุญ คุ้นพระศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ

คนดีต้องมี 5 ดี “ดี 5 ประการ” สำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว ท่านพุทธทาส สรุปเป็นหลักให้ปฏิบัติได้อย่างสากล คือ “ดี 5 ประการ” ได้แก่ เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา โอวาทท่านอาจารย์พุทธทาสแด่ ยุวชน เรื่องเตือนใจวัยรุ่น และ 5 ดี สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หากวัยรุ่นละเลยไม่ปฏิบัติตามหลัก 5 ดีแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาได้

กล่าวได้ว่า จริยธรรมตามแนวความคิดของท่านพุทธทาส หมายถึง จริยธรรมที่เป็นปรัชญาของศีลธรรมนั้นที่เยาวชนควรนำไปปฏิบัติ คือ คนดีต้องมีดี 5 ดี อันประกอบด้วย เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา คือ เป็นผู้ที่สามารถทำให้บิดามารดา ได้รับความสบายใจตลอดเวลา เป็นศิษย์ที่ดีของอาจารย์ คือ เป็นผู้ที่ครูอาจารย์ สามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ซึ่งศิษย์ควรให้ความเคารพ การเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน คือ เป็นผู้ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ด้วยความสุขสวัสดีการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ คือ เป็นผู้ที่สามารถดำรงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ได้ และการเป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา คือ เป็นผู้สามารถดำเนินตามพระศาสดาไปได้ เมื่อทุกคนมีครบทั้ง 5 ดี ก็จะได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่เต็ม คือ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้ที่อยู่เหนือปัญญาทั้งปวงทั้งทางโลกและทางธรรม หากนักเรียนหรือเยาชนไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของท่านพุทธทาสดังกล่าวก็จะเกิดปัญหาด้านจริยธรรมได้ทั้งห้าด้านตามที่กล่าวมาแล้ว    

พระครูจิรธรมธัช. (2557). ความสัมพันธ์ความเชื่อเรื่องพิธีกรรมเจ้าแม่สองนางกับการส่งเสริมจริยธรรมทางสังคมของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *