หลักการถือวัตรปฏิบัติตามพุทธปรัชญาเถรวาท

ผู้นับถือความเชื่อมนต์คาถา หากเป็นกลุ่มลัทธิไสยศาสตร์ ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล การนับถือมนต์คาถานั้นมีคติที่หลากหลายต่างพื้นที่ ต่างเชื้อชาติ ต่างความนับถือ ต่างลัทธิ ต่างศาสนา และก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วทุกมุมโลกนั้นมีวิธีการศึกษาศาสตร์มนต์คาถาที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไปด้วยการสร้างอิทธิปาฏิหาริย์ก็ดี การสร้างพลังทิพยอำนาจจิตที่มาจากคาถาก็ดี ก็ล้วนแล้วแต่มีหลักการหรือทฤษฎีและปฏิบัติเนไปคนละทรรศนะ สำหรับพวกโยคีในอินเดียและพวกมายาศาสตร์ (Magic) ตลอดจนนักมายาการ (Magician) ในทิเบต หรือกลุ่มพวกตะวันตก ทรรศนะการสร้างอำนาจจิตจากเวทย์มนต์คาถาของพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ล้วนต้องมีกฎเกณฑ์ ข้อกฎระเบียบธรรมเนียมการปฏิบัติที่เป็นแบบแผนให้กลุ่มตนยึดถือ

ดังนั้น กลุ่มผู้นับถือลัทธิต่าง ๆ มนต์คาถาในสังคมไทยก็มีแบบแผนวิธีการปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสังคมไทยเอง และประกอบด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่นับถือ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักนุสสติในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้นับถือลัทธิไสยศาสตร์จึงพยายามยึดเอาหลักศีลธรรม รวมทั้งหลักการสำคัญของพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นหลักสอนสำคัญในการสร้างกรอบการปฏิบัติให้ผู้นับถือหลักคำสอนทางพุทธปรัชญาเถรวาทที่ในเบื้องต้นให้ปฏิบัตินั้น คือ การรับเอาศีล 5 มาเป็นสารัตถะสำคัญในการปฏิบัติตน บุคคลที่ต้องการจะได้มาซึ่งทิพย์อำนาจนั้น ต้องเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เว้นจากทุจริต คือ ประพฤติชั่ว ด้วย กาย วาจา ใจ ทางกายมีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม ทางวาจา คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ ส่วนทางใจ คือ โลภอยากได้ของผู้อื่น พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และเห็นผิดจากธรรมนองคลองธรรม ความไม่ดีทั้งหลาย ตามที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ควรเว้นเสีย อำนาจที่เป็นทิพย์ตั้งแต่ชั้นต่ำสุดถึงชั้นสูงสุดนั้น ตามทางอริยมรรค 8 ประการ เรียกว่า เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับเอาคำสั่งของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หรือการแก้ไขปัญหาชีวิต ดังนั้น พุทธปรัชญาเถรวาทจึงกลายเป็นรากฐานสำคัญในสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า สังคมไทยแม้ว่าจะมีความเชื่อถือเรื่องใด ๆ ก็ตามแต่ หรือแม้ว่า ความเชื่อนั้นจะแตกต่างวิธีการปฏิบัติ ต่างวิธีการดำเนินความเชื่อที่เป็นกรอบจารีตให้คนในสังคมไทยปฏิบัติตาม ดังมีคติอยู่บทหนึ่งว่า “เมืองไทยเมืองทอง เป็นเจ้าของพุทธศาสนา มีพระราชาทรงเป็นพระประมุข” และนักวิชาการทางพุทธปรัชญามากมาย และสำคัญมีคติเตือนใจอยู่เสมอว่า ชาติเหมือนกาย ศาสนาเหมือนใจ ชาติไทยได้มอบกายถวายใจไว้กับศาสนา จะเห็นได้จากพฤติกรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ระบอบจรรยาบรรณทั้งหลายของไทย ล้วนมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น พุทธปรัชญาเถรวาท ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจของคนไทย โดยได้หล่อหลอมชีวิตจิตใจและลักษณะนิสัยของคนไทยออกมาก ในรูปของความมีคุณธรรมอันดีงาม เช่น ความเมตตาปราณี ความโอบอ้อมอารี เป็นต้น

การสอนโดยนำเอาหลักการทางพุทธปรัชญาเถรวาทมาสอนสอดแทรกในความเชื่อเรื่องคาถาที่ปรากฏในสังคมไทย เช่น คาถาหัวใจนักปราชญ์ ที่เชื่อว่า ผู้ที่ท่องบ่นสาธยายมนต์นี้แล้วจะทำให้เป็นผู้สติปัญญาดี ร่ำเรียนสรรพวิชาการใด ๆ ก็จะสำเร็จสมดังประสงค์ ซึ่งถ้าดูจากความหมายที่มาของคาถาแล้วจะทราบว่า เป็นกุศโลบายอันแยบคายที่สอนให้ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องคาถาได้ซึบซาบหลักการคำสอนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว คาถาที่ว่านี้มีเนื้อความคือ สุ จิ ปุ ลิ เป็นคาถาสั้น ๆ เพียงสี่คำ ซึ่งเรียกว่า “หัวใจคาถา” ไว้สำหรับท่องเพื่อจดจำได้ง่าย และให้เกิดสมาธิได้รวดเร็ว ความหมายพระคาถานี้เป็นหัวใจที่ย่อความมาจาก สุ. ฟังรู้จักฟังด้วยความตั้งใจ จิ. คิด รู้จักคิด ใคร่ครวญอย่างรอบคอบ ปุ. ถาม สนใจไต่ถามให้เกิดความรู้จริง ลิ. จด รู้จักจดบันทึกไว้เพื่อช่วยความทรงจำและยังมีคาถาที่เป็นบาลีประพันธ์ขึ้น คือ สุจิปุลิวินิมุตโต กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเวสุจิปุลิ สุสัมปันโน ปัณฑิโตติ ปุวุจจะติ แปลว่า ถ้าปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ แล้ว จะพึงเป็นบัณฑิตได้อย่างไร ผู้สมบูรณ์ด้วย สุ จิ ปุ ลิ ครบถ้วนแล้ว จึงเรียกว่า “บัณฑิต”

หลักธรรมเบื้องต้นเหล่านี้ คือ กรอบที่บังคับให้คนในสังคมที่มีความเชื่อที่แตกต่างต้องอยู่ภายใต้กรอบของศีลธรรมทางพระพุทธศาสนานี้เป็นที่ตั้ง ดังนั้น ผู้ที่เชื่อถือเรื่องคาถาอาคมจึงต้องยึดตามหลักจารีตศีลธรรมนี้เป็นเบื้องต้นในการปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยการสร้างให้เกิดจิตสำนึกในความเป็น “พวกเดียวกัน” หรือในระบบไสยศาสตร์รู้จักกันในชื่อ “สำนัก” ซึ่งหมายถึง การรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่ม โดยนับถืออาจารย์ผู้สอนเดียวกัน เช่น สำนักคาถามนต์อาจารย์ชุม ไชยคีรี สำนักโสฬส สายวังหน้า เป็นต้น ในสังคมไทยมีสำนักหรือการรวมกลุ่มเพื่อสอนวิชาคาถาอาคมกันอย่างแพร่หลาย การรวมกลุ่มเพื่อศึกษามนต์คาถานี้มีผลดี คือ ทำให้มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กันและกัน ก่อให้เกิดความสนิทสนรักใคร่ และทำให้เกิดการสอนให้อยู่ในกรอบพุทธปรัชญาเถรวาท

การร่ำเรียนมนต์คาถานั้นต้องเรียนพระคาถาหัวใจบทต่าง ๆ ซึ่งมีที่มาจากบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระสูตรต่าง ๆ รวมทั้งคำสอนต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก นอกจากนี้ การเรียนเวทย์มนต์คาถาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์นั้นต้อง มีการฝึกจิตสมาธิ และการฝึกจิตสมาธินั้นจะเป็นเป็นหลักการอื่นเสียมิได้ก็ต้องเป็นหลักการฝึกสมาธิกรรมฐานตามแนววิถีพุทธนั้นเอง โบราณจารย์ท่านจึงนำเอาหลักการทั้งวิปัสสนากรรมฐาน และสมถกรรมฐานมาเป็นหลักวิธีการปฏิบัติให้กับผู้สนใจศึกษาเวทย์มนต์คาถา โดยเริ่มต้นตั้งเป็นจารีตปฏิบัติเบื้องต้นว่า ท่านทั้งหลายควรเจริญภาวนา กำหนดรู้ทำบุญกุศลให้เกิดขึ้น และรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ให้อยู่นาน ทำให้มั่นคง ไม่สั่นคลอน ทำให้ตั้งมั่นอยู่ประจำจิตใจ ทุกลมหายใจเข้าออกหายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกกำหนดรู้ว่า “โธ” เป็นพุทธานุสติ ในระยะแรกนี้ ขอให้ผู้ฝึกใหม่เจริญภาวนากำหนดถือเอา “พุทโธ” เป็นพุทธมนต์ มหามนต์ เป็นมนต์อันยิ่งใหญ่กำหนดเจริญภาวนาไปตามอารมณ์ของปุถุชน เจริญให้คุณพุทธานุภาพ กำจัดทุกข์ภัยในปัจจุบัน ด้วยอำนาจดังกล่าวแล้วสามารถจะนำหมู่มนุษย์ข้ามพ้นจากกองทุกข์ และประสพความสุขตามปรารถนาได้จริง ๆ และสามารถพิสูจน์ได้จริงในปัจจุบัน ผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นไม่สั่นคลอน มีกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ไม่ย่อท้อ พร้อมกับมีสติ กำหนดรู้ถึงคุณของพระพุทธโธ ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จิตก็มีความตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตไม่วอกแวก ไม่กลับกลอก ไม่กระสับกระส่ายเป็นทิพย์อำนาจ คือ อำนาจที่เป็นทิพย์

การสร้างกรอบศีลธรรมเรื่องนี้ ผู้เชื่อถือเรื่องมนต์คาถาจะให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ ดังคำที่พูดว่า “คุณสมบัติของครูที่ดี กับจรรยาบรรณของศิษย์” ครูอาจารย์อยู่ในฐานะผู้ถ่ายทอดให้ความรู้ ส่วนศิษย์อยู่ในฐานะผู้รับการประสิทธิความรู้ซึ่งถือว่า เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะครูอาจารย์นั้นมีอิทธิพลในการหล่อหลอมปรุงแต่งบุคคลในสังคม หรือเป็นผู้ชี้นำทางสังคม คุณสมบัติที่ครูอาจารย์ต้องดำรงและยึดถือตามหลักพระพุทธศาสนาคือ ปฏิสัมภิทา 4 คือ ปัญญาความแตกฉาน ความเชี่ยวชาญ ประกอบด้วย 4 ประการ คือ (1) อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ) มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (2) ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม) มีความเข้าใจแตกฉานในหัวข้อวิชาสามารถอธิบายความได้ (3) นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ) มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาเป็นสื่อในการสอนที่ทำให้ศิษย์เข้าใจง่าย (4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ) มีปฏิภาณไหวพริบฉับไว สามารถเข้าใจและคิดหาเหตุผลได้

หลักธรรมประการนี้ 2 สำหรับผู้เป็นอาจารย์ คือ สัมปทา 8 คือ ความถึงพร้อม 8 ประการ หรือเรียกว่า คุณธรรม 8 ประการของครูอาจารย์

  1. อุฏฐานสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น) มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาสั่งสอนศิษย์อยู่เสมอ
  2. อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา) รักษาทรัพย์ที่หามาได้ คือ การรักษาทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์ และทรัพย์สมบัติ เพื่อเป็นคลังในการนำมาอุปถัมภ์ศิษย์
  3. กัลป์ยาณมิตตา (ความเนผู้มีมิตรดี) การวางตัวเหมาะสม การมอบสิ่งที่ดีมีศีลธรรม แนะนำศิษย์ในทางที่ดี
  4. สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม) มีความเป็นอยู่ที่สมถะ เหมาะสมแก่ฐานะ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์
  5. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) มีความศรัทธาเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเชื่อมั่นในพระธรรมคำสอนว่า คือ สิ่งที่ดี เพื่อนำมาสั่งสอนศิษย์
  6. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ว่ามาจากการทำเรื่องเสื่อมเสีย อยู่ในศีลธรรมจารีต เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อศิษย์
  7. จากสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยจาคะ) ปราศจากความตระหนี่ ให้ศิษย์ด้วยความรักและเมตตาด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ มีความยินดีในการแจกทานให้แก่ผู้ยากไร้ และผู้ตกยาก
  8. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) ปฏิบัติตนเองเพื่อเข้าถึงความสิ้นทุกข์ทั้งปวง ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

แนะนำศิษย์เพื่อการเข้าถึงการสิ้นทุกข์ด้วยเช่นกันนี้ คือ ศีลธรรมเบื้องต้นที่ผู้เป็นอาจารย์ต้องมีและสามารถปฏิบัติได้ เพื่อที่จะเป็นต้นแบบและเป็นผู้แนะแนวทางการปฏิบัติดีตามวิถีแห่งพระพุทธศาสนาหลักจรรยาบรรณของผู้เป็นศิษย์ คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที มีสำนึกและเห็นคุณค่าความดีต่อผู้มีพระคุณเป็นที่ตั้งสูงสุด หลักธรรมของผู้เป็นศิษย์ คือ หลักทิศ 5 คือ

  • ลุกขึ้นยืนรับ เป็นการให้ความเคารพ หรือเป็นการแสดงความนอบน้อม
  • เข้าไปคอยรับใช้ เป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของครูอาจารย์
  • เชื่อฟัง ปฏิบัติตามคำสอนด้วยความเต็มใจ และความเคารพในความรู้นั้น
  • ดูแลปรนนิบัติ เป็นการแสดงการตอบแทนคุณอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่า เป็นหน้าที่ของศิษย์
  • เรียนศิลปะวิทยาด้วยความเคารพ ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพ

หลักธรรมที่เป็นคุณธรรมประจำตัวของศิษย์ทุกคน ต้องยึดถือและปฏิบัติให้กลายเป็นหน้าที่ที่สำคัญต้องกระทำต่อผู้มีคุณที่เรียกว่า ครูอาจารย์นั่นเอง

ผู้ศึกษาลัทธิความเชื่อคาถานั้น หากว่า ปฏิบัติตามจารีตธรรมเนียมปฏิบัติที่โบราณจารย์ได้วางหลักการไว้แล้วนั้น ก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีลธรรม เป็นคนดีของสังคม เป็นคนที่มีศิริ เพราะผู้ที่มีศิริดีแล้วก็ย่อมจะให้บังเกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ดังที่เรียกว่า ศิริดี ศิริชั่ว แม้จะมีความเชื่อ ความนับถือบางสิ่งบ้างจะไม่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นับถือเหล่านั้น หลงผิดปฏิบัติตนออกนอกธรรมนองคลองธรรมที่ดีงามของศาสนาและสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *