การเจริญสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน การฝึกสมาธิ

กลุ่มผู้ศึกษาลัทธิคาถา มีวัตรจารีตประการหนึ่งที่สำคัญที่จะเป็นการสร้างอำนาจจิตให้ตนเองมีทิพยอำนาจ หรือมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ นั้นคือ ต้องเป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักการเจริญสมาธิของศาสนาพุทธ นั้นคือ หลักการนำสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐานมาเป็นคุณธรรม ในการปฏิบัติสมาธิมีส่วนสำคัญมากทั้งทางโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม หรือถ้าจะกล่าวว่าสมาธิเป็นบ่อเกิดของพลังงานต่าง ๆ ถ้าเกี่ยวด้วยพลังงานทางนามธรรมก็ไม่ผิด ถ้าเกี่ยวด้วยพลังงานทางนามธรรมแล้ว เกือบกล่าวได้ว่า ถ้าปราศจากพลังงานแห่งสมาธิเสียแล้วโลกนี้ก็ปราศจากความอัศจรรย์ หรือไม่มาสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นในโลกนี้เลยก็ว่าได้ เพราะสมาธิ มโนภาพ (อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต) และมโนอิทธิ อิทธิพลและอำนาจทั้ง 3 ประการนี้แหละเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดพลังงานต่าง ๆ ขึ้นในโลกคำว่า “สมาธิ” ถ้ากล่าวกันอย่างกว้าง ๆ แล้วมีอยู่ 2 ประการ คือ

  1. โลกียะสมาธิ คือ สมาธิเพื่อนำไปใช้ในกิจการงานเกี่ยวแก่การดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน
  2. โลกุตตรสมาธิ คือ สมาธิที่มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นจากอาสวะ

สมาธิของนักมายาการหรือนักไสยศาสตร์จึงถือว่า เป็นสิ่งสำคัญการฝึกสมาธิของนักไสยศาสตร์ จึงมีด้วยกันสองวิธีตามแนวการฝึกสมาธิของพระพุทธศาสนา คือ การฝึกสมถกรรมฐาน คือ การบำเพ็ญเพียงทางจิตให้เป็นสมาธิด้วยการบริกรรม หรือหยุดความคิดของจิตไว้โดยสติด้วยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และเพื่อเป็นการละนิวรณ์ โดยอาจใช้วิธีการตามสมถกรรมฐานโดยวิธีต่าง ๆ ตามที่ท่านวางไว้ถึง 40 วิธีด้วยกัน เมื่อปฏิบัติกรรมฐานจนกระทั่งจิตนั้นแนบแน่น เป็นการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ระงับความฟุ้งซ่าน มีสมาธิเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในเบื้องต้น การฝึกตามแนวอานาปานสติ เป็นการฝึกสมาธิตามลมเข้าและลมออกก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ศึกษาลัทธิไสยศาสตร์เวทย์มนตร์คาถาต้องฝึกฝนปฏิบัติ นั้นคือ การฝึกกองลมเพื่อใช้ในการเจริญคาบลม และคาบคาถานั้นเอง

คำว่า “คาบลม” หมายถึง การสงบลมหายใจ (ไม่เข้าไม่ออก) ที่ไม่ใช่การกลั้นลงหายใจแบบแรง ๆ ส่วนคำว่า “คาบคาถา” หมายถึง การภาวนาคาถา จนจบบทหนึ่ง เรียกเป็นหนึ่งคาบคาถานี้เป็นวิธีการเจริญสมาธิตามแนวอานาปานสติ เพื่อนำมาใช้ในความเชื่อของลัทธิคาถา ซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมาธิอานาปานสติจนคล่องแคล่วแล้วจะทำให้เกิดอำนาจอาคมสะสมทำให้ใช้คาถาอาคมได้ขลังมากขึ้น เมื่อเจริญสมถกรรมฐานแล้วต่อไปจึงน้อมนำให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

“วิปัสสนากรรมฐาน” คือ การฝึกอบรมปัญญาให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง อันเป็นการเจริญสติควบคู่กับการเจริญสมถกรรมฐานต่อไป เพื่อความหลุดพ้นจากราคะ และละอวิชชาธาตุได้ ซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่เจริญสมถและวิปัสสนาจะช่วยให้คุณวิเศษแห่งมนต์คาถานั้นศักดิ์สิทธิ์มีอานุภาพมากยิ่งขึ้นขออธิบายรูปแบบของสมาธิแบบพอเข้าใจในเบื้องต้นถึงรูปแบบ และความเป็นไปของสมาธิ

“สมาธิ” คือ การระลึกรู้ มีสติ ถึงสิ่งต่าง ๆ อาจใช้จิตไปจับตามอาการที่เกิดขึ้น ที่กำลังผัสสะทวารของเรา การทำสมาธิอาจบริกรรม ภาวนา หรือไม่ภาวนาก็ได้ การทำสมาธิต้องไม่มีอัตตา คือ เพ่งบังคับ ไม่บีบบังคับจิตมากเกินไป ด้วยอำนาจของความเพียร สติ สมาธิ ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดความรู้สึกพอใจอันเป็นทุกข์ก็ดับตามอาการไป การพรากจากกาม คือ ความพอใจก็ปรากฏชัดแจ้งกล่าวคือ ในขณะที่กำหนดสติต้องจับอาการ ให้ตรงกับอาการ ให้พอดีกับอาการ อาการเปลี่ยนต้องเปลี่ยนให้ทันอาการ ทันอารมณ์ อาการนี้ พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้ว่า ญาตปริญญา กำหนดรอบรู้ตั้งแต่เริ่มรู้สึก (อาการ) ติรณปริญญา กำหนดรอบรู้ตาม (อาการ) ไปปหานะปริญญา กำหนดรอบรู้จน (อาการ) หายไปใจความก็คือ กำหนดตั้งแต่เริ่มรู้สึกว่า อาการเกิดขึ้น และรู้ตามไปตลอดจนถึงอาการหายไป สรุปแล้วก็คือ ให้สติจับอยู่กับอารมณ์ให้ถูกต้องพอดี ไม่มากไม่น้อยนั้นเอง ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า มิจฺฉา อาชีวํ ปาหาย ให้ละการดำรงอยู่อย่างผิด ๆ สมฺมาอาชีวเน ชีวิกํ กปฺเปติ ยังความเป็นอยู่ให้สำเร็จ ด้วยความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง ดังนั้น กล่าวโดยสรุปว่า การเจริญสมาธิ จึงทำให้จิตเป็นอุเบกขาอย่างบริสุทธิ์ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทำให้จิตเป็นกลาง สะอาดไม่มีความขุ่นจาก โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ

ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องคาถาอาคมนั้น ต้องมีจารีตและข้อวัตรปฏิบัติที่ต้องกระทำอย่างเคร่งครัด การสร้างข้อวัตรปฏิบัตินั้น สร้างกำหนดขึ้นโดยผู้เป็นอาจารย์เพื่อให้เกิดกฎเกณฑ์ในการสั่งสอนศิษย์ผู้ที่จะเข้ามาเรียนในสำนักของตนเอง ดังนั้น จารีตหรือข้อวัตรปฏิบัติจึงถูกนำมาจากศีล และหลักธรรมที่ควรปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา และมีการปรับโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักศีลหรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยการสร้างกฎเกณฑ์ให้รักษาคำมั่นสัจจะวาจาหรือที่เรียกว่า “การให้สัจจะครู” ซึ่งถือว่า เป็นข้อธรรมประการหนึ่งในศีล 5 การให้คำมั่นนี้ศิษย์ผู้ศึกษาคาถาอาคมนั้นต้องปฏิบัติให้ได้อย่างเคร่งครัด โดยส่วนใหญ่ข้อห้ามกระทำนั้นก็จะอยู่ในหลักการของศีล 5 อันเป็นข้อควรปฏิบัติของคฤหัสถ์ หลักศีล 5 นี้ผู้ได้ชื่อว่า เป็นพุทธศาสนิกชนก็ควรต้องปฏิบัติเป็นปกติของชีวิตอยู่สม่ำเสมอ ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ผู้ที่เชื่อเรื่องคาถาอาคมเท่านั้น ธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักศีล 5 เช่น ห้ามพูดคำหยาบคาย ห้ามด่าทำร้ายบุพการี ห้ามผิดประเวณี ห้ามลักทรัพย์ ห้ามรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่าหรือผู้ไม่มีทางสู้ ฯลฯ หากมีการละเมิดจากคำมั่นเดิมที่ได้ให้สัญญาไว้ก็เชื่อว่า ทำให้วิทยาคมในคาถาอาคมนั้นเสื่อมถอยลง หรือที่เรียกว่า “ผิดครู” และยังมีการนำหลักธรรมบางประการนำมาเป็นข้อวัตรปฏิบัติสำหรับผู้เป็นอาจารย์และข้อวัตรปฏิบัติบางประการสำหรับผู้เป็นศิษย์ที่ต่างฝ่ายต้องปฏิบัติตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งนี้คือ คุณประโยชน์อันล้ำค่าที่เป็นการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสันติสุข และอยู่ในกรอบอันดีงามของพระพุทธศาสนา แม้ว่า บางครั้งจะมีความเชื่อบางประการที่แตกต่างไปจากหลักการสำคัญในพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง แต่ท้ายสุดแล้วก็เป็นการกล่อมเกลาสังคมให้อยู่ในวิถีปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักธรรมนั้นเอง

ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความคิด จนนำไปสู่การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การศึกษาคาถาอาคมจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ทั้งความเชื่อเรื่องคาถามที่ตนเองสนใจ และหลักการทางพระพุทธศาสนาเพื่อไม่ให้ตนเองนั้นหลงทางจากวิถีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา เพราะทุกสิ่งนั้นมักมีสองด้านเสมอ คือ มีทั้งคุณประโยชน์และโทษมหันต์หากเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน กรณีความเชื่อเรื่องคาถาอาคมก็เช่นเดียวกัน มีทั้งความสร้างสรรค์ ให้เกิดสิ่งดีงามในสังคม ทั้งทางด้านจารีตประเพณีอันดีงาม แต่ในทางกลับกัน ก็อาจส่งผลเสียให้คนเกิดความหลงผิดจนนำไปสู่การปฏิบัติตนที่ผิดจากความมุ่งหมายเดิมได้  

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *