ความเชื่อเรื่องมนต์คาถา

ความเชื่อของมนต์คาถา จะได้กล่าวถึง เรื่องมนต์คาถา และอานุภาพของพระคาถาอาคมหรือบทสวดมนต์ ดังนี้ คือ อานุภาพที่ปรากฏในคำอธิบายข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือมีส่วนทำให้สิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังจะเกิดให้คลี่คลายไปในทางที่ดีเพราะอานุภาพของมนต์คาถาตามความเชื่อตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาทแล้วมีอานุภาพตามที่ปรากฏในบทอาราธนาให้พระสงฆ์แสดงอยู่ 3 ประการ คือ

  • สามารถป้องกันหรือต้านทานภัยวิบัติทั้งปวงให้หายไป เช่น ภัยจากธรรมชาติภัยจากโจร ภัยจากพระราชา ภัยจากอมนุษย์
  • สามารถยังความสำเร็จของสมับติทั้งหลายให้เกิดขึ้นได้ เช่น ความมียศ มีลาภหรือความสวัสดีต่าง ๆ
  • สามารถกำจัดทุกข์ภัยและโปรดภัยทั้งปวงได้

ซึ่งอานุภาพทั้ง 3 ประการนี้ ถือได้ว่า สิ่งที่พึงหวังหรือจะพึงเกิดขึ้นเมื่อมีการกล่าว หรือสวดพระปริตรอันเป็นมงคลของพระพุทธศาสนา ซึ่งหากผู้สวดสามารถที่จะบริกรรม หรือพร่ำบ่นให้ขึ้นใจเป็นปัจจุบัน หรือกระทำบ่อย ๆ ผลที่พึงหวังดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และนอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในเรื่องของการสวดมนต์คาถาด้วย ดังนี้ การที่จะทำให้เวทมนต์มีความศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องมีวิธีการดังนี้

  • ผู้สวดจะต้องตั้งจิตให้เป็นสมาธิ โดยเชื่อว่า จิตที่เป็นสมาธจะมีพลัง ในการแผ่ไปให้ถึงหรือจะเป็นเดชอำนาจที่จะแผ่ไปยังผู้อื่น ๆ หรือกำกับให้การสวดมนต์นั้นศักดิ์สิทธิ์
  • ต้องมีความเชื่อต่อครูอาจารย์ เทพเจ้าผู้สั่งสอนอย่างเคร่งครัด
  • การสวดจะต้องมีการบริกรรมเพื่อให้เกิดลมหายใจในหรือปรานวายุให้เป็นเสียงสั่นสะเทือนให้สะท้อนออกมาจาก ภายในแล้วแผ่ไปกระทบกับอากาศข้างนอกเป็นการใช้กฎของความกระเทือนทางคลื่นเสียง โดยเฉพาะถ้าเป็นเสียงที่มีอานุภาพก็ย่อมจะแผ่ไปได้ไกล
  • ผู้สวดจะต้องมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย จิต ยกเว้น เวทมนต์ดำที่ผู้สวดนั้นจะต้องฝักใฝ่แต่เรื่องที่เลวร้าย

การสวดมนต์หรือการร่ายพระเวทย์จึงจะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งหลักการดังกล่าวถือว่า เป็นหลักการโดยทั่วไปของเวทมนต์ และโดยมากเวทมนต์นี้จะใช้วิธีร่าย คือ การสวดทำนองเพื่อเป็นการเอาใจเทพเจ้า หรือครูของตนให้มาชุมนุม และจะได้ให้พลังกับตนเองในการกระทำการต่าง ๆ ที่มุ่งหวังไว้ให้สำเร็จ และแนวทางของการร่ายเวทมนต์เช่นนี้เองที่ถือได้ว่า เป็นหลักการพื้นฐานที่พัฒนามาเป็นการบริกรรมคาถาของคนอินเดียโบราณ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกต่าง ๆ ดังได้กล่าวมา โดยพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสวดสาธยายได้ แต่กลับไม่อนุญาตให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเวทมนต์ เพราะถือว่า เวทมนต์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ และไม่อาจจะนำไปสู่ทางหลุดพ้นได้

ความเชื่อเรื่องมนต์คาถาทั่วไป

ความเชื่อเรื่องมนต์คาถา คือ ข้อความที่ผูกขึ้น ซึ่งถือว่า มีอำนาจลึกลับอยู่ในนั้น เมื่อนำเอาไปใช้ตามลัทธิที่มีกำหนดไว้ เช่น บริกรมเสกเป่า หรือสวดขับ ตลอดจนปลุกเสกสิ่งไรมียันต์ เป็นต้น ก็จะเกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ นอกจาก คาถาอาคมแล้ว ยังมีเวทมนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ มีความเชื่อว่า เป็น “คำศักดิ์สิทธิ์และลึกลับ” อาจอำนวยความสำเร็จผลตามประสงค์ของผู้กระทำ คาถาอาคมเป็นข้อความที่ลึกลับ มีแบบแผน และเชื่อว่า ยังมีคนที่สามารถใช้คาถาอาคมแปลงกายจากรูปหนึ่งไปสู่อีกรูปหนึ่งได้ เชื่อว่า มายากรสามารถใช้คาถาอาคมทำลายข้าศึก โดยวิธีปั้นขี้ผึ้งเป็นรูปข้าศึกแล้วบริกรรมคาถาทำลายเสีย เชื่อว่า สามารถได้คาถาอาคมทำเสน่ห์ คือ ทำให้ผู้อื่นหลงรักได้ และเชื่อว่า มายากลสามารถใช้คาถาอาคมป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ด้วย ความเชื่อดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นเหตุให้ผู้เชื่อคาถาอาคม เครื่องรางของขลังทำพิธีต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า กฤตยาต่อไป

ความเชื่อของคาถาเกี่ยวกับวิทยาคมเป็นความเชื่อเรื่องสิ่งลึกลับที่เหนือธรรมชาติไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แยกออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ เรื่อง เวทมนต์คาถา ลักษณะเป็นจำพวกตัวอักษรหรืออักขระที่ผูกเป็นข้อความ ถือว่า มีอำนาจลึกลับเร้นอยู่ เมื่อนำไปใช้ตามที่กำหนด เช่น นำไปบริกรรม เสกเป่าหรือสวด เชื่อว่า จะเกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังปัดเป่าป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือดลบันดาลให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น คาถามหานิยมของหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ฯลฯ ที่คนในสังคมยอมรับ ปัจจุบันความเชื่อประเภทนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยเหตุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สำหรับความเชื่อเรื่อง คาถาอาคม และสิ่งที่มีอำนาจลึกลับของมนุษย์นั้น เป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เรื่องรู้สึกตัวว่า ไม่มั่นคงและปลอดภัย จากสิ่งที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่มนุษย์มีความรู้และความเข้าใจในสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นน้อยลง จึงต้องแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยว เช่น เวทมนต์คาถา เพื่อเป็นกำลังใจที่จะแก้ปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เชื่อว่า สามารถป้องกันอันตราย ยิง แทง ฟันไม่เข้า ตัวอย่างเช่น เหล็กไหล เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ ฯลฯ

ความเชื่อประเภทนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยสังคมไทยมาแต่อดีตในทุกชุมชน กระทั่งไม่สามารถแยกจากกันได้ บ้างถือเป็นสิ่งประจำบ้าน ประจำหมู่บ้าน ประจำเมืองเกือบทุกหมู่บ้าน ถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองก็คงจะไม่ผิดส่วนมากจะพบเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง รูปเหมือนพระสงฆ์ที่เคารพนับถือเป็นเกจิอาจารย์ของชาวบ้าน หรืออาจจะกล่าวรวมไปถึงศาลปู่ตา ศาลปู่ตาหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อ ศาลเจ้าแม่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมีความเชื่อร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อสักการบูชา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเชื่อว่า สามารถดลบันดาลให้สิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้ และในการที่จะได้ในสิ่งที่ต้องการก็ต้องมีรูปแบบของพิธีกรรมในการอ้อนวอน ร้องของ และการจัดสิ่งตอบแทนด้วยสิ่งของต่าง ๆ

ดังนั้น ความเชื่อในประเภทนี้ ยังคงมีปรากฏให้เห็นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน เป็นบ่อเกิดของการหลอกลวงประชาชนโดยทุจริตชน หากประชาชนขาดภูมิคุ้มกันทางความเชื่อได้เพียงพอเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ผีสางเทวดาคนในสังคมไทย หมายถึง สิ่งลึกลับที่ไม่เห็นตัวตน ถือว่า มีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือมนุษย์ ได้แก่ จำพวกเทวดา ผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ฯลฯ และผีไม่ดีหรือผีร้าย คือ ผีที่ให้โทษกับมนุษย์ที่ชาวบ้านเรียกว่า ผีปอบ ผีโขมด ผีกองกอย ฯลฯ แต่นั้นก็ถือว่า เป็นความเชื่อ ความคิดของแต่ละบุคคล กระทั่ง กลุ่มคน เพราะสังคมไทยได้สะท้อนสิ่งเหล่านี้มาให้เห็นอยู่ โดยทั่วไป ลักษณะส่วนหนึ่งอาจมาจากการเล่นของหรือการใช้คาถาแล้วเกิดไม่รักษาทำให้คาถาที่กำกับนั้นเสื่อมลง อำนาจมืดหรือที่เรียกว่า ไสยศาสตร์ก็กลับมีอิทธิฤทธิ์ขึ้นมาและเกิดโทษแก่ผู้เจ้าของที่ทำเสน่ห์หรือสิ่งที่คิวว่า เป็น “มงคล” โดยอาศัยวิชาความรู้ การบำเพ็ญญาณขั้นสูง หลักพุทธปรัชญาเองก็มิได้ให้หลงงมงายกับสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะผู้ประสบเท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจว่า แท้จริงของคาถาจะให้คุณก็ต่อเมื่อมีการรักษาหรือที่เรียกว่า “ไม่ผิดครู” หากล่วงละเมิดก็อาจจะถูกทำร้ายเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่นได้นั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *