“ความดันโลหิตสูง” ความดันพุ่ง ถ้ามุ่งกินเค็มจัด

“ความดันโลหิต” เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย จะมี 2 ค่า ความดันตัวบน (แรงดันเลือด ขณะหัวใจห้องซ้ายล่าง บีบตัว) และความดันล่าง (แรงดันเลือดขณะหัวใจ ห้องซ้ายล่าง คลายตัว) ปัจจุบันความดันตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปถือเป็น “ความดันโลหิตสูง”

ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ คือ

  1. กรรมพันธุ์ พบว่า ผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูงครอบครัวจะมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติโรคในครอบครัว ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง เมื่ออายุมากขึ้น ๆ
  2. สิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน การรับประทานอาหารเค็ม การดื่มสุรา และสูบบุหรี่ ภาวะเครียด ฯลฯ

ความดันโลหิตสูงระดับอ่อน หรือปานกลาง มักจะไม่มีอาการอะไร แต่มีการทำลายอวัยว่าง ๆ ไปทีละน้อยอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อมสมรรถภาพ หรืออัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น

ข้อแนะนำในการควบคุมความดันโลหิต คือ

  1. ควบคุมอาหาร และลดน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
  2. รับประทานอาหารที่ไม่เค็มจัด การรับประทานเค็มมาก จะทำให้ความดันโลหิตสูง และไตทำงานหนัก หลีกเลี่ยงอาหารประเภท ของดอง เค็ม เนื้อเค็ม ซุปกระป๋อง ซอสมะเขือเทศ อาหารที่โรยเกลือมาก ๆ
  3. พยายามลดความเครียด ควรงดสูบบุหรี่ งด หรือลดการดื่มแอลกอฮอล์
  4. ออกกำลังกายแต่พอประมาณ
  5. ในกรณีจำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิต ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
  6. ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ

ตามแนวทางที่ได้กล่าวมานี้ อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเมื่อมีความดันโลหิตสูงเพียงเล็กน้อย ความดันอาจลดลงเป็นปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาลดความดัน เมื่อปฏิบัติดังกล่าวแล้วข้างต้น อาจจะช่วยให้การลดความดันได้ผลดียิ่งขึ้น จนสามารถลดขนาดของยาที่ใช้ลงได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *