การใช้สีในจิตรกรรมไทย

สีที่ช่างนำมาใช้ในงานจิตรกรรมแต่เดิมมานั้นมีอยู่น้อยมาก มักใช้สีขาว สีดำ และสีแดงเท่านั้น แต่ต่อมาสีที่ใช้ในภาพจิตรกรรมก็มีมากขึ้น ที่เรียกว่า “สีเบญจรงค์” คือ มี 5 สี แต่ถ้าเทียบกับปัจจุบันแม้ว่าช่างสมัยนั้นจะมีสีใช้ถึง 5 สีก็ตาม ยังน้อยกว่าสีในสมัยนี้มาก และแต่เดิมมานี้ในภาษาช่างยังไม่มีคำว่า “สี” เพราะคำว่ารงค์นั้นก็หมายถึงสีอยู่แล้ว เช่น เอกรงค์ หมายความว่า เป็นสีเดียว

เบญจรงค์ หมายถึง 5 สี สีเหลือง คราม แดงชาด ขาว และดำ สีทั้งห้านี้กล่าวได้ว่า เป็นสีหลักของช่างมาแต่ดั้งเดิม ศัพท์ช่างเรียกว่า “กระยารงค์” หมายถึง เครื่องสี เป็นสีต่าง ๆ ในทางจิตรกรรมไม่ว่าจะระบายภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือระบายบานประตูหน้าต่าง โบสถ์ วิหาร ช่างจะไม่เรียกสีว่า “สี” มักเรียกว่า “รงค์” หรือ “กระยารงค์” ส่วนวัสดุที่ใช้ผสมสีเพื่อให้ยึดกับผนังหรือวัตถุอื่น ๆ อันได้แก่ น้ำกาวหรือยางไม้ต่าง ๆ นั้นช่างเรียกว่า “น้ำยา”

การปรุงยากับกระยารงค์นี้เป็นของคู่กัน และช่างจะต้องทำด้วยความพิถีพิถันต้องทำอย่างประณีต และทำจนเชี่ยวชาญ การปรุงกระยารงค์อย่างประณีตของช่างโบราณ จะเห็นได้จากภาพเขียนรุ่นเก่า ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งทรงผนวช ซึ่งมีอายุเก่าแก่ประมาณ 80 กว่าปีมาแล้ว สียังสดใสอยู่และมีความคงทนมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางภาพลางเลือนไปบ้าง นั้นก็เนื่องจากสาเหตุอื่น คือ น้ำฝนรั่วไหลลงมาถูกภาพเป็นเพราะขาดการสงวนรักษาที่ดีนั่นเอง

สีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนแต่ได้มาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสีแต่ละสีมีกำเนิดของสีต่างกัน บางสีได้จากธาตุดินมีความเป็นสีอยู่ในตัวของมันเอง หรือบางสีได้จากสัตว์ เช่น ได้จาก เลือด ดี กระดูก หรืองาของสัตว์ ลักษณะของสีที่นำมาใช้มักจะทำเป็นผลละเอียด เดิมช่างเรียกว่า “ฝุ่น” ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “สีฝุ่น”

คุณสมบัติและวัสดุต้นกำเนิดสี

สีเบญจรงค์ ยังสามารถแบ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน หมายถึง อยู่ในกลุ่ม (Tone) สีเดียวกัน แบ่งได้เป็น 5 หมู่สีดังนี้

1. หมู่สีแดง

  • สีดินแดง เป็นสีมีคุณลักษณะแดงคล้ำเกิดจากดินแดง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากสนิมของแร่เหล็ก ต่อมมามีสีดินแดงจากอินเดียเข้ามาขายเรียกว่า “ดินแดงเทศ” เนื้อสีค่อนข้างแข็งกว่าดินแดงไทย และสดกว่า นอกจากนี้ ยังมีสีดินแดงที่มาจากจีน เนื้อเป็นผงละเอียดมาก ซึ่งสีดินแดงของจีนยังใช้กันอยู่กระทั่งปัจจุบัน
  • สีแดงชาดเป็นสีเชื่อกันว่าทำจากเมล็ดหรือก้านขาดหรคุณ แต่ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นสีที่สำเร็จมาจากเมืองจีน มีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ชาดขอแส ชาดอ้ายมุ้ย เป็นต้น สีชาดเป็นสีแดงชาด
  • สีแดงลิ้นจี่ เป็นสีสำเร็จมาจากเมืองจีน เช่นเดียวกับสีชาดเรียกว่า “อีนจีน” เป็นสีที่ชุบเคลือบไว้เมื่อจะใช้ต้องนำมาละลายน้ำก่อน สีแดงลิ้นจี่นี้นิยมเขียนแต่ในพื้นที่ซึ่งเป็นลวดลายเล็ก ๆ
  • สีแดงเสนเป็นสีที่ได้จากออกไซด์ของตะกั่ว โดยให้ระเหยขึ้นไปจับภาชนะที่รองรับเบื้องบนแล้วเกิดเป็นสี เรียกว่า สีแดงเสน (Red Lead) เป็นสีที่มีน้ำหนักมาก และมักจะเป็นสีที่มีลักษณะไปทางสีแดงส้ม หรือแดงอมเหลืองแก่

2. หมู่สีเหลือง

  • สีเหลืองรงค์ เป็นสีที่ได้มาจากยางไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ต้นรงค์” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Gracinia Hinduri Hook เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในแถบลังกาเขมรและไทย ในไทยมีมากที่จังหวัดจันทบุรี วิธีนำมาใช้คือ ใช้มีดสับให้ยางออกจากต้น นำมากรองให้สะอาดเคี่ยวจนได้ที่ดีแล้ว นำใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ทิ้งให้เย็นยางรงค์ก็จะจับตัวแข็ง จะออกเป็นสีเหลืองเรียกว่า “รงค์” เป็นสีที่มีคุณสมบัติในการเกาะยึดกับพื้นผนังได้เป็นพิเศษ โดยไม่ต้องผสมกาวหรือน้ำยาชนิดอื่น ๆ
  • สีเหลืองดิน ได้จากดินในธรรมชาติ เป็นดินที่มีสีเหลืองหม่น โดยการนำเอาดินเหลืองมาละลายในน้ำ เพื่อชะล้างดินแล้วกรองเอาสิ่งสกปรกและกรวดทรายออกทิ้ง เอาแต่ส่วนที่เป็นดินเหลืองไปเกรอะจนแห้งเมื่อแห้งแล้วนำไปบดให้เป็นฝุ่นเก็บไว้ใช้
  • สีเหลือ’หรดาลหิน เป็นสีที่เกิดจากออกไซด์ของปรอท ที่ทำปฏิกิริยาร่วมกับกำมะถันละลายในความร้อน มีลักษณะเป็นก้อน ๆ นำมาบดเป็นฝุ่น

3. หมู่สีคราม

สีครามเป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติโดยแท้ เป็นสีที่ทำขึ้นจากต้นคราม นำมาตำคั้นเอาน้ำมากรองเอาส่วนที่เป็นเนื้อสีแล้วเกระอให้แห้งแล้วจึงป่นเป็นฝุ่นผง สีครามมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายอย่าง เช่น สีขาบ สีน้ำเงิน สีกรมท่า ที่เรียกแตกต่างกันออกไปนี้สันนิษฐานได้ว่า “สีขาบ” อาจเป็นเพราะเป็นสีที่ลักษณะคล้ายสีขนนกตะขาบ “น้ำเงิน” อาจสังเกตเห็นจากความร้อนจัดของเนื้อเงินขณะกำลังหลอมละลาย “กรมท่า” หมายถึง สีผ้านุ่งของข้าราชการกรมท่าในสมัยก่อนก็เป็นได้

4. หมู่สีขาว

  • สีขาวฝุ่น เป็นสีที่ได้จากออกไซด์ของตะกั่วโดยใช้ความร้อนจากก๊าซคาร์บอนรมแผนตะกั่วทำให้เกิดสนิมขาว เป็นสีขาวจัด มีเนื้อละเอียดมาก
  • สีขาวกระบัง เป็นสีที่ทำจากดินขาว ที่เรียกว่า Braytar เป็นสีที่มีน้ำหนักมากนำมาแช่น้ำแล้วกรองให้สะอาดน้ำไปเกรอะจนแห้ง ป่นละเอียดมาก
  • สีปูนขาว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่ง Arbonate of Line ทำจากเปลือกหอยหรือหินปูน เผาไฟสุกแล้วแช่น้ำปูน หินจะละลายเป็นแป้ง นำมาเกระอจนแห้งแล้วจึงนำไปบดให้ละเอียดก่อนใช้

5. หมู่สีดำ

  • เขม่าควัน เป็นสีที่ได้มาจากเขม่าควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงลอยขึ้นไปจับสิ่งที่อยู่เบื้องบน เช่น ฝาผนังของปล่องไฟที่มีเตาไฟขนาดใหญ่ เมื่อเขม่าควันขึ้นไปจับกันมาก ๆ จะมีลักษณะเป็นก้อนขูดเอามาบดกับน้ำกาวเหนือน้ำยางใช้เขียนภาพได้ เขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่เป็นฟืนจะมีเนื้อหยาบ ส่วนเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันยางจะมีเนื้อละเอียดมาก
  • สีถ่านได้มาจากการนำเอากระดูกสัตว์มาเผา จนไม้เป็นถ่านสีดำ แล้วนำไปบดให้ละเอียด สำหรับสีดำชั้นดีเยี่ยมที่ได้จากสีดังกล่าวนี้ ต้องใช้ถ่านที่ได้จากการเผางาช้าง แล้วนำมาบดเป็นผลสีชนิดนี้เรียกว่า Ivory Black

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *