วัฒนธรรมคติความเชื่อสีที่เกี่ยวกับศิลปะ

วัฒนธรรมคติความเชื่อสีที่เกี่ยวกับศิลปะ

ศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรีภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีหรือความเชื่อทางศาสนา ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความงาม และความพึงพอใจ” ความรู้สึกที่มีต่อสีในงานศิลปะ สีมีอิทธิพลต่อจิตใจมนุษย์ สามารถทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ มากมาย เช่น

  • สีแดง ความรู้สึก ตื่นเต้น รุนแรง กล้าหาญ มีอำนาจ
  • สีเขียว ความรู้สึก สดชื่น มีพลัง สบาย มีชีวิตชีวา
  • สีเหลือง ความรู้สึก ร่าเริง สดใส กระชุ่มกระชวย
  • สีส้ม ความรู้สึก สนุกสนาน ร่าเริง อบอุ่น
  • สีม่วง ความรู้สึก เศร้า ผิดหวัง
  • สีฟ้า ความรู้สึก สดใส สะอาด เรียบร้อย
  • สีชมพู ความรู้สึก อ่อนหวาน นุ่มนวล น่ารัก
  • สีน้ำเงิน ความรู้สึก สุขุม เยือกเย็น สงบ
  • สีน้ำตาล ความรู้สึก เก่า แห้งแล้ง ทรุดโทรม
  • สีเทา ความรู้สึก เศร้า สงบ สุขุม เรียบร้อย สุภาพ
  • สีดำ ความรู้สึก หดหู่ เศร้า ลึกลับ หนักแน่น
  • สีขาว ความรู้สึก บริสุทธิ์ ใหม่ สะอาด

ในการสร้างงานศิลปะของมนุษย์ได้แยกตามวิธีการแสดงออกทางความรู้สึกไว้ประเภท 5 ประเภท ได้แก่ การระบายสี การปั้น การสร้างที่อยู่อาศัย การดนตรี และวรรณกรรมใน 5 ประเภทนี้ ได้จำแนกตามความหมายจำเพาะไว้ 2 ประเภท คือ ศิลปะบริสุทธิ์ กับศิลปะประยุกต์ ซึ่งนักปราชญ์ฝ่ายศิลปกรรมยังได้จำแนกสีไว้ 2 ประเภท คือ สีร้อน (warm tone) และสีเย็น (cool tone) เป็นสิ่งที่จะนำมาสร้างงานศิลปะ ในผลงานการระบายสีหรือจิตกรรมสียังแยกออกเป็น สุขหรือทุกข์ สีทางร้อนเช่น ส้ม แดง เป็นตัวแทนของความสุข สมหวัง สีโทนเย็น เช่น สีน้ำเงิน ม่วง เป็นสีตัวแทนของความทุกข์ ความเศร้า

ความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับศิลปกรรมไทย

ถ้ากล่าวถึงความเชื่อสีในศิลปกรรมไทยคงต้องกล่าวงานจิตรกรรมไทยเป็นเบื้องต้น ซึ่งมีสีเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ งานจิตกรรมไทยเป็นการถ่ายทอดอีกรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะที่มีลักษณะรูปแบบและโครงเรื่องเป็นลักษณะเฉพาะตัว จิตรกรรมไทยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ผลงานทางศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าของไทยที่มีมาแต่อดีต ล้วนแต่มีความผูกพันอยู่กับความเชื่อถือในศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา จึงกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทย และจิตรกรรมไทยที่สำคัญ ๆ ที่มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และที่ยังมีหลักฐานร่องรอยปรากฏให้เห็นและได้ศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับศิลปกรรมจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เรื่องของพุทธศาสนากับศิลปกรรมเป็นสิ่งที่มีมาโดยควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่า พุทธศาสนานั้น มีกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย และมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศอินเดียทางภาคเหนือ เมื่อประมาณ 2500 ปีผ่านมาแล้ว โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา ประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาได้ดำเนินสืบต่อมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว จึงเป็นการเริ่มต้นพุทธศักราช ในสมัยพุทธกาลนั้น พุทธศาสนิกชนนับถือแต่องค์พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ และพระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหลาย ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักของพุทธศาสนา เรียกรวมกันทั้งสามว่า “พระไตรสรณาคมน์” ส่วนการสร้างและนับถือสถูปเจดีย์และวัตถุอื่น ๆ อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า ตลอดจนพระพุทธรูปนั้น เป็นของเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วทั้งสิ้น

พุทธเจดีย์ในพุทธศาสนา หมายถึง ถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งเครื่องเคารพบูชา เกี่ยวกับเจดีย์ในพุทธศาสนามีตำรากำหนดไว้เป็น 4 อย่างแตกต่างกัน คือ

  1. ธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า
  2. บริโภคเจดีย์ คือ เจดีย์ที่สร้างขึ้นในบริเวณที่เคยประทับของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ ที่สำคัญ คือ สังเวชนียสถาน 4 (ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา และที่ปรินิพพาน) ตลอดจนเจดีย์ที่สร้างเพื่อบรรจุวัตถุต่าง ๆ อันเนื่องด้วยพระพุทธองค์ เช่น พระอังคาร และทะนานโลหะที่ตรงพระธาตุ เป็นต้น
  3. ธรรมเจดีย์ คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่บันทึกลงเป็นตัวอักษรบนถาวรวัตถุต่าง ๆ หรือบนกระดาษ เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกก็จัดเป็นธรรมเจดีย์
  4. อุเทสิกเจดีย์ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่า จะต้องเป็นรูปร่างอะไร ถ้าไม่จัดอยู่ในเจดีย์ 3 ประเภทข้างต้น (ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์) แล้วจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ทั้งหมด รวมทั้งพระพุทธรูปด้วย

อนึ่ง ความนิยมในการสร้างธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์นั้น ได้ถูกสร้างออกมาในรูปสถูปเจดีย์ ซึ่งจัดเป็นศิลปกรรมแบบหนึ่งในแขนงสถาปัตยกรรม จากคตินิยมการสร้างเจดียสถาน 4 อย่างดังกล่าว เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มาแต่อดีต และได้มีการยึดถือกระทำต่อกันมาในหมู่พุทธศาสนิกชน ทำให้ปรากฏหลักฐานเปิดศิลปกรรมที่เนื่องในพุทธศาสนามากมายหลายรูปแบบทั้งที่เป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม ในจำนวนนี้ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นรูปแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์แบบหนึ่ง ดูจะเป็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ดังที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นถึงการเผยแพร่พุทธศาสนาไปถึงประเทศใด ก็จะมีการสร้างสถูปเจดีย์และพระพุทธรูปเป็นอุเทสิกเจดีย์ในประเทศนั้น เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่พระพุทธเจ้าไว้เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ และสำหรับไว้สักการะบูชาอย่างแพร่หลาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *